ยอดติดโควิด19ใหม่แนวโน้มลดลง ทำไมสวนทางผู้เสียชีวิตพุ่ง

ยอดติดโควิด19ใหม่แนวโน้มลดลง ทำไมสวนทางผู้เสียชีวิตพุ่ง

กรมควบคุมโรคเผยป่วยหนัก-เสียชีวิตโควิด19ยังเพิ่มสูงต่อเนื่อง ผลพวงก่อนสงกรานต์ หลายจังหวัดเพิ่มเตียงรองรับ ขณะที่แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง จับตาหลังสงกรานต์2-4สัปดาห์ เฝ้าระวัง 2 กลุ่มหลัก  หากสถานการณ์เป็นตามคาดการณ์ไม่กระทบเป้าเป็นโรคประจำถิ่นเดือนก.ค.

       เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด19 ประเด็น “สถานการณ์และการปฎิบัติตัวหลังสงกรานต์” นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกรายงานเริ่มลดลง เช่น เกาหลีใต้ แต่หลายประเทศผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตยังมีจำนวนมาก เช่น อเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้
    สำหรับประเทศไทย ผู้ติดเชื้อรายใหม่แนวโน้มเริ่มลดลง หลังจากที่เคยพีคก่อนสงกรานต์ ส่วนผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น  เช่นเดียวกับผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยวันนี้มีรายงาน 2,123 ราย และ 939 ราย ตามลำดับ  แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดลตาปีที่ผ่านมา เคยพบใส่ท่อช่วยหายใจประมาณ 1,400 ราย ปอดอักเสบ 5,000กว่าราย อัตราครองเตียงป่วยเหลืองแดง ประมาณ 30% ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักพอสมควร หลายจังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเพิ่มขึ้นก็จะเพิ่มจำนวนเตียงรองรับสถานการณ์ในช่วงสงกรานต์และหลังสงกรานต์

    “ผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการติดเชื้อจำนวนมากก่อนช่วงสงกรานต์ เฉลี่ย 14 วัน 22,176 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อแนวโน้มลดลงทั้งการตรวจ RT-PCR และATK  แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์หลังสงกรานต์ 2 -4สัปดาห์ต่อจากนี้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังมีการรวมกลุ่มกิจกรรม เดินทางทั่วประเทศ รดน้ำดำหัว เที่ยวสงกรานต์ในหลายจังหวัด และขณะนี้ยังเตือนภัยโควิด19ทั่วประเทศอยู่ในระดับ 4 จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์”นพ.จักรรัฐกล่าว  

      นพ.จักรรัฐ กล่าวด้วยว่า  ผู้เสียชีวิตรายงานเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงวัย ส่วนใหญ่อายุ 70 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรังประจำตัว และไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ฉีดเข็มเดียว หรือ 2 เข็ม และไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ต้องรณรงค์หลังสงกรานต์ต่อเนื่องให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้นซึ่งจำเป็นมาก โดยขณะนี้ผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอยาที่ 39.4 % ขณะที่ต้องการให้ถึว 70-80 % จะช่วยลดความเสี่ยงเหมือนสัปดาห์แรกๆของ ปี 2565 ที่สูงวัยเสียชีวิตไม่มาก ส่วนกลุ่มเด็ก 5-11 ปี  รับวัคซีนเข็ม 1 แล้ว 49.5% เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ก่อนเปิดเทอมคงรณรงค์ให้ฉีดกันให้ครบ

     “สถานการณ์ผู้ติดเชื้อดูแนวโน้มลดลง แต่ที่ผู้ป่วยปอดอักเสบ และเสียชีวิตสูงขึ้น เป็นผลจากการติดเชื้อจำนวนมาก 2-3 สัปดาห์ก่อนสงกรานต์ แพร่เข้าสู่กลุ่มเสี่ยงและอาการหนักมาก ทำให้มีป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจสูงขึ้นตามมาหลังจากนั้น  1-2 สัปดาห์ ยังเป็นไปตามการคาดการณ์ ที่ว่าอาจจะสูงขึ้นตอนต้นพ.ค.”นพ.จักรรัฐกล่าว 

    นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า  หลังสงกรานต์ จากที่ไปต่างจังหวัดรวมกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ทานข้าวคนเสี่ยงสูง ทานข้าวด้วยกันเวลานาน เมื่อกลับมาสังเกตอาการตนเอง  5-7 วัน ถ้ามีป่วย ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล รับรสกลิ่นไม่ค่อยดี สงสัยตรวจ ATK ด้วยตนเองหรือไป รพ. เลี่ยงพบปะผู้คนจำนวนมาก หากต้องเจอคนอื่น ขึ้นรถเมล์ไปทำงานสวมหน้ากากตลอดเวลาลดความเสี่ยง ถ้าเป็นไปได้หลังกลับสงกรานต์ ทานข้าวโต๊ะใครโต๊ะมัน หลีกเลี่ยงทานข้าวร่วมกันสักระยะ ลดเสี่ยงแพร่ระบาดต่อคนอื่น หน่วยงานต่างๆ มีมาตรการ WFH 5-7 วันตามเหมาะสม พนักงานกลุ่มไหน WFH ได้ดำเนินการ หลังสงกรานต์จะได้ปลอดภัยไม่ติดเชื้อเพิ่ม ไม่มีป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น

 

    ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังสงกรานต์ต้องมีการเฝ้าระวัง คือ 1.ติดตามสูงวัย ผู้มีโรคเรื้อรัง ว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าไร อัตราเสียชีวิตตายต่อแสนคน 70 ปีกำลังเพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทั้งสูงวัยที่บ้าน ศูนย์ดูแลจะเสี่ยงสูงขึ้นนหลังสงกรานต์ ต้องเร่งฉีดวัควีน และ2.การรวมกลุ่มคนทำให้เกิดคลัสเตอร์ เช่น ค่ายทหาร โรงเรียนที่เปิดเทอม  ติวพิเศษ  เข้าแคมป์ต่างๆ แคมป์คนงาน โรงงานต่างๆ
       ถามต่อว่ามีแผนรองรับผู้ป่วยหนักที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างไร นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า  จากการติดตามมีหลายจังหวัดเล็ก ที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักอาจไม่มาก การทำงานของสธ. จะมีรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รับส่งต่อผู้ป่วยหนักเข้ารักษา  รวมถึง มีการเพิ่มจำนวนเตียง และคนอาการดีขึ้นแล้วกลับไปอยู่รพ.เล็กลง ช่วยหมุนเวียนการครองเตียงมากขึ้น ช่วยรองรับสถานการณ์ได้ แม้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สูงเท่าช่วงเดลตา แต่ยังนอนใจไม่ได้ แม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อแนวโน้มลดลง  แต่ป่วยหนักยังเพิ่ม เพราะฉะนั้น ต้องเร่งฉีดวัคซีน  

    ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์หลังสงกรานต์จะกระทบการเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ ต้องติดตามอัตรการครองเตียงว่าระบบสาธารณสุขสุขรองรับได้มากน้อยขนาดไหน รวมถึง ผู้ป่วยอาการน้อย ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนวัยทำงาน วัยเรียนอาการไม่มาก  เว้นแต่จะมีสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น  ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จะมีผลน้อยต่อการปรับสู่โรคปรจะจำถิ่น  ถ้าเป็นไปตามที่คาดการณ์จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ตามเป้าหมายเดิมคือช่วงก.ค.