เตือนภัยคนหางาน มิจฉาชีพหลอกโอนเงินทำวีซ่าทำงานไต้หวัน
รมว.แรงงาน ห่วงใยคนหางานต่างประเทศถูกหลอกลวง สูญเงิน กำชับกรมการจัดหางานเร่งดำเนินการ พร้อมแจ้งวิธีทำงานต่างประเทศถูกกฎหมาย และช่องทางตรวจสอบร้องทุกข์
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้หลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยใช้แพลตฟอร์ม Facebook ชักชวนคนหางาน อ้างว่าสามารถจัดทำวีซ่าให้ไปทำงานที่ไต้หวันได้ พร้อมจะอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่กักตัว และเก็บค่าดำเนินการคนละ 30,000 บาท
โดยหลังรับเงินจากผู้เสียหายแล้ว กลับเงียบหายเพราะไม่สามารถพาไปทำงานไต้หวันได้จริง ทำให้มีผู้เสียหาย จำนวน 50 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงอย่างถึงที่สุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะนอกจากจะทำให้คนหางานเสียทรัพย์สิน เสียโอกาสในการทำงาน ยังเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ด้วย ซึ่งกระทรวงแรงงานจะดำเนินการกับเรื่องนี้อย่างเข้มงวด
กระทรวงแรงงานมีนโยบายสำคัญในการคุ้มครองคนหางานจากการถูกหลอกลวง และเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งรวมถึงการโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิดตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการโฆษณาการจัดหางานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ย้ำการเดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกกฎหมายมี 5 วิธี
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้หลอกลวงต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองนครราชสีมาแล้วในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528
ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 91 ตรี ข้อหา “หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง” และศาลจังหวัดนครราชสีมาได้ออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดีตามกฎหมายของพนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ กรมการจัดหางานมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการไปทำงานต่างประเทศรวมไปถึงการคุ้มครองคนหางาน ขอย้ำว่าการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายมี 5 วิธี ได้แก่
1.กรมการจัดหางานจัดส่ง
2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง
3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ
4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงานต่างประเทศ
5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง
- เช็กช่องทางสมัครงาน เดินทางไปทำงานต่างประเทศ
ในกรณีของประเทศไต้หวัน มักเป็นการไปทำงานโดยบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง ขอให้คนหางานตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาต ทางwww.doe.go.th/ipd
คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้
1.ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas
2. ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th
3. ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10
4. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694