ระวัง! นายหน้าเถื่อน หลอกคนไปทำงานต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดีย
รมว.แรงงาน สั่งเข้ม กรมการจัดหางาน เร่งตรวจสอบผู้มีพฤติกรรมโฆษณาจัดหางาน ชวนคนไทยทำงานต่างประเทศผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมแจงช่องทางร้องทุกข์
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีการตรวจสอบเพื่อคุ้มครองและป้องกันมิให้คนหางานถูกหลอกลวงจากการหางานทำ ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงคนหางาน
โดยมีการตรวจสอบ พบการโพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ การเดินทางไปทำงานเกษตรในเครือรัฐออสเตรเลีย งานนวดสปาในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ล่าสุด หลอกลวงไปทำงานซาอุดีอาระเบียด้วยวิธีผิดกฎหมาย ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงอย่างถึงที่สุด
- ระวังนายหน้าเถื่อนระบาด หลอกไปทำงานต่างประเทศ
ขณะนี้กองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ได้ตรวจสอบและติดตามเฟซบุ๊กของบุคคล/กลุ่มมิจฉาชีพ ที่ทำการโฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานในต่างประเทศผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด
ซึ่งจะทำการโพสต์ข้อความตอบโต้เพื่อสกัดกั้นการโฆษณาชักชวนดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งข้อกฎหมายและบทลงโทษผู้กระทำความผิด รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งข่าวสาร และเตือนภัยเพื่อมิให้คนหางานตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ
หากสืบสวนแล้วพบการกระทำความผิดเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนท้องที่เพื่อดำเนินคดีต่อไป
“พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและป้องกันการหลอกลวงคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะนอกจากทำให้คนไทยที่ต้องการหางานต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและมีโอกาสเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
- โทษทั้งจำทั้งปรับ ตรวจสอบก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะดำเนินคดีอย่างจริงจัง ขอให้ทราบว่า การโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน มีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานมีศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศมาโดยตลอด
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 21 มีนาคม 2565 มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 55 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 70 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 6,735,164 บาท
ประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส ตามลำดับ
คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ หรือประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดต่อได้ตามช่องทาง ดังนี้
1.ติดตาม ศึกษาข้อมูลการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas
2. ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th
3. ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd
4. ประสบปัญหาจากการสมัครงานหรือการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10
5. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694