แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก ลดต่ำเป็นประวัติการณ์! จุดประเด็น “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
ประเด็น “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ถูกจุดขึ้นอีกครั้ง! เมื่อนักวิจัยจีนพบ แผ่นน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือไม่ถึง 2 ล้านตารางกิโลเมตรเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจขั้วโลกทางดาวเทียมในปี 1978
เนื่องใน "วันคุ้มครองโลก" 22 เมษายน 2565 ประเด็นสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถูกจุดขึ้นมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะการออกรายงานของสำนักวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมของโลกที่ไม่ต่างกันกับการตรวจสุขภาพประจำปีของคนเรา ว่า โลกเราวันนี้ยังแข็งแรงดีอยู่แค่ไหน?
ล่าสุดสำนักข่าวซินหัว ได้รายงานถึงงานวิจัยของจีนในวารสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์บรรยากาศ (Advances in Atmospheric Sciences) เมื่อวันอังคาร (19 เม.ย.) พบขอบเขตของแผ่นน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นเขตขั้วโลกใต้ แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นการทำสถิติดังกล่าวครั้งที่ 2 ในรอบ 5 ปี
โดยการวิจัยดังกล่าว พบว่าเมื่อวันที่ 25 ก.พ. หรือไม่กี่วันหลังจากสิ้นสุดช่วงฤดูร้อนของซีกโลกใต้ ขอบเขตของแผ่นน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกลดลงต่ำกว่า 2 ล้านตารางกิโลเมตรเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจขั้วโลกทางดาวเทียมในปี 1978
เดิมทีนั้นแผ่นน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราวร้อยละ 1 ต่อทศวรรษ ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 สวนทางกับแผ่นน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากภาวะโลกร้อน
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทางทะเลตอนใต้กว่างตง (จูไห่) ใช้การวิเคราะห์ปริมาณน้ำแข็งในทะเล เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำแข็งในทะเลขั้นต่ำในช่วงฤดูร้อนปี 2022
การวิเคราะห์พบว่าปริมาณน้ำแข็งในทะเลที่ลดลง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากอามุนด์เซน ซี โลว์ (Amundsen Sea Low) ศูนย์กลางความกดอากาศต่ำที่อยู่ทางตอนใต้สุดของมหาสมุทรแปซิฟิกและนอกชายฝั่งของแอนตาร์กติกาตะวันตก ซึ่งลดต่ำและหันเหทิศไปทางตะวันตกอย่างผิดปกติ
หยางชิงหัว ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้น่าจะเกิดจากความแปรปรวนตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ และยังไม่สามารถตัดประเด็นภาวะโลกร้อนทิ้ง หากไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม
- กรีนพีซห่วง น้ำแข็งลด กระทบห่วงโซ่อาหาร
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลธารน้ำแข็งสากล (the National Sea Ice Data Center) ซึ่งกรีนพีซ ได้นำมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ เมื่อ 3 มี.ค.65 โดยระบุว่าในปีนี้ จากข้อมูลดาวเทียมที่บันทึกได้พบว่าธารน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกจะอยู่ในระดับต่ำที่สุด โดยการบันทึกข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าธารน้ำแข็งรอบ ๆ ทวีปกำลังอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากเดือนมีนาคมปี 2560 ซึ่งเคยมีธารน้ำแข็งกว่า 2.1 ล้านตารางกิโลเมตร แต่ปัจจุบัน ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พื้นที่ธารน้ำแข็งลดลงเหลือ 1.98 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้น
“การที่ธารน้ำแข็งในมหาสมุทรละลายลงเรื่อย ๆ นั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะกระทบไปทั่วโลก ส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลทั้งหมด นอกจากนี้การสำรวจที่ผ่านมาของเราที่เกิดขึ้นในแอนตาร์กติกได้ยืนยันแล้วว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์สำคัญในภูมิภาคดังกล่าว
ในปี 2563 ที่ผ่านมา เราเจอกับระดับธารน้ำแข็งในอาร์กติกที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ในปีนี้เราจึงจำเป็นต้องสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ เพราะชีวิตของเราทุกคนขึ้นอยู่กับมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเราจะต้องปกป้องมหาสมุทรเพื่อปกป้องชีวิตเราด้วย” ลอว์รา เมลเลอร์ จากโครงการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทร ของกรีนพีซ กล่าว
ในเวลาเพียงแค่ 20 ปี แต่ภูมิภาคแอนตาร์กติกได้เผชิญกับความผันผวนของระดับธารน้ำแข็งในทะเลอย่างหนัก และในปีนี้การลดลงของระดับธารน้ำแข็งเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาถึงความผันผวนที่ซับซ้อนระหว่างอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่สูงขึ้นกับแนวโน้มของระดับธารน้ำแข็งในทะเล แต่สภาพภูมิอากาศในภูมิภาคก็แปรปรวนอย่างชัดเจน เพราะบางส่วนของพื้นที่แอนตาร์กติกอุ่นขึ้นเร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ในโลก
ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกสูญเสียมวลไปเร็วกว่าในช่วงปี 2534 – 2542 ถึง 3 เท่า มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก การที่โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ฝูงเคยอพยพไปทางทางใต้มากขึ้น ลดการกระจายตัวของตัวเคยที่เป็นสายพันธุ์สำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในแอนตาร์กติก และการสำรวจพื้นที่แอนตาร์กติกของกรีนพีซล่าสุดยืนยันว่า เพนกวินสายพันธุ์เจนทูกำลังขยายฝูงไปทางใต้ของภูมิภาคเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
มหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศเพราะมหาสมุทรนั้นช่วยกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์ต่างยืนยันว่า ต้องปกป้องพื้นที่มหาสมุทรอย่างน้อย 30% ในการปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและปล่อยให้ระบบฟื้นฟูตัวเองเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างกะทันหัน
ในปี 2565 นี้กรีนพีซยังคงรณรงค์ผลักดันให้ผู้นำแต่ละประเทศลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดพื้นที่คุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก อุตสาหกรรมทำลายล้างทุกชนิดจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปแสวงหาทรัพยากรในพื้นที่น่านน้ำดังกล่าว