เปิด “12 จังหวัด”โควิด19ขาลง นำโด่งในเส้นทางสู่โรคประจำถิ่น
เปิด “12 จังหวัด”โควิด-19ขาลง นำโด่งในเส้นทางสู่โรคประจำถิ่น อีก 21 จังหวัดขาขึ้นยังต้องต่อสู่การระบาด 44 จังหวัดสถานการณ์ทรงตัว
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. กล่าวว่า ทิศทางเดียวกันทั่วโลกทำให้เห็นการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาตามระยะของการดำเนินการโรคโควิด19 สู่โรคประจำถิ่น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การต่อสู้(Combatting) ระยะที่ 2 คงที่ทรงตัว (Plateau) ระยะที่ 3 ลดลง(Declining) และระยะที่ 4 Post pandemic
เมื่อแยกกลุ่มจังหวัด พบว่า บางกลุ่มยังอยู่ในระยะที่ 1 การต่อสู้ เพราะยังขาขื้นต้องต่อสู้การระบาดอยู่ มี 21 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ สกลนคร บึงกาฬ เลย อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม หนองคาย ยโสธร มหาสารคาม ศรีสะเกษ นนทบุรี นครนายก กาญจนบุรี และอุทัยธานี
บางจังหวัดอยู่ระยะที่ 2 ทรงตัว มี 44 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พะเยา พิจิตร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สิงห์บุรี ลพบุรี ตาก สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม อ่างทอง สระบุรี
ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี พัทลุง พังงา ชุมพร ชลบุรี สมุทรปราการ มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
และบางจังหวัดอยู่ระยะที่ 3 ขาลง มี 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ตรัง นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
“แสดงถึงแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน แต่ภาพรวมการประกาศว่าเป็นโรคประจำถิ่น จะเป็นตัวบ่งบอก โดยยังต้องช่วยกันในการลดอัตราการป่วยตาย ซึ่งจะเป็นเรื่องสำคัญนำมาใช้ในการบอกระยะโรคประจำถิ่นแล้วหรือไม่ อัตราป่วยตายต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยตอนนี้ใช้สัดส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา หารด้วยร้อย ต้องพยายามทำให้อัตรการเสียชีวิตต่ำกว่านี้ จะได้นำสู่โรคประจำถิ่น ปัจจุบันอัตราป่วยตายของประเทศไทยอยู่ที่ 0.31 %”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในมิติด้านการแพทย์และสาธารณสุข เกณฑ์พิจารณาสู่การเป็นโรคประจำถิ่น หรือ Endemic approach ยังรวมเรื่องการฉีดวัคซีนด้วย โดยจะต้องครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวมฉีดเข็มกระตุ้นได้มากกว่า 60% ของประชากรตามสิทธิ์การรักษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60 %ขึ้นไปก่อน 1 ก.ค.2565