"หมอประสิทธิ์" ชี้ โควิด-19 ยังไม่เข้าข่าย "โรคประจำถิ่น"
"หมอประสิทธิ์" ชี้ โควิด-19 ยังไม่เข้าข่าย "โรคประจำถิ่น" ขณะที่ WHO มองว่า การเป็นโรคประจำท้องถิ่นในแต่ละประเทศจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน จากหลายปัจจัย เช่น การฉีดวัคซีน และความพร้อมด้านต่างๆ ย้ำปัจจัยสำคัญเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น ฉีดวัคซีนและเข้มมาตรการ
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานแถลงข่าว อัปเดตสถานการณ์ COVID-19 ในต่างประเทศและในประเทศไทย จัดโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอธิบายว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกในวันที่ 12 เม.ย. ระบุว่า การแบ่งสายพันธุ์โควิด-19 คือ สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงทั่วโลกเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คือ เดลตา และ โอมิครอน ซึ่งเดลตากำลังถูกทดแทนด้วยโอมิครอน ขณะที่ สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อย BA.1-5 และ สายพันธุ์ที่มีจุดกลายพันธุ์ผสม ที่เราจับตา คือ XE เนื่องจากมีแนวโน้มกระจายเร็วกว่า BA.2 10% แต่แง่ความรุนแรงไม่ได้รุนแรงขึ้น
การเกิดขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน มีลักษณะสำคัญ 2 อย่าง คือ แพร่ได้เร็ว และ ไม่รุนแรง ทำให้คนในโลกเวลานี้ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่าน่าจะถึงช่วงที่โควิด-19 กำลังจะเดินไปสู่เส้นทางของโรคประจำท้องถิ่น ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ความเหนื่อยล้าจากการที่หลายประเทศมีการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรม รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ทำงานและเรียนทางไกล ดังนั้น ทั่วโลกอยากเห็นปลายทางโควิด-19 มุ่งไปสู่ปลายทางการระบาด คือ โรคประจำท้องถิ่น
โรคประจำท้องถิ่น คืออะไร
โรคประจำท้องถิ่น (Endemic) ไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่เป็นโรคที่พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่คาดการณ์ได้ เช่น ไข้เลือดออก อาจมีการระบาดมากบ้างเป็นครั้งคราว แต่มักไม่เกินระดับที่คาดหมาย โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีมาตรการหรือวิธีการควบคุม เช่น ไข้หวัดใหญ่ รู้ช่วงการระบาด รู้ว่าป้องกันอย่างไร และมีวัคซีน มีนโยบายที่ชวนคนในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงมาฉีดวัคซีน เป็นต้น
“อีกทั้ง โรคประจำท้องถิ่น ไม่ใช่โรคที่ไม่มีความเสี่ยงเสียชีวิต เพราะบางโรคมีการเสียชีวิตสูง เช่น มาลาเรีย หรือไข้ป่า โดยตอนนี้ยังคร่าชีวิตคนไปกว่าปีละ 4 แสนราย ขณะที่บางโรคไม่รุนแรงแต่ติดเชื้อง่าย เช่น เริม เป็นต้น”
ทั้งนี้ เมื่อดูการแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก ระบุว่า สายพันธุ์ที่ก่อเรื่องให้กับโลกของเราขณะนี้คือ โอมิครอน อาจจะมีเดลตาบางส่วน แต่สถิติการเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบการระบาดตั้งแต่ปี 2563 จาก 2 ปัจจัย คือ สายพันธุ์ และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีน การแพร่ระบาดของโอมิครอนทั่วโลกมีแนวโน้มเริ่มเข้าสู่ขาลง หลายพื้นที่ลงไปค่อนข้างดี หลายพื้นที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง
ข้อมูล เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 65 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อถึง 500 ล้านคน ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้แบ่งการระบาดของทั่วโลกออกเป็น 6 ทวีป พบว่า "ทวีปยุโรป" เลยจุดพีคของการระบาด อัตราการลดลงยังช้า แต่เริ่มมีการลดลงเรื่อยๆ ถัดมา คือ "อเมริกา" การแพร่ระบาดของโอมิครอนลดลงอย่างรวดเร็ว "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โอมิครอน ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ต่ำกว่าการระบาดก่อนหน้านี้ ขณะที่ "Western Pacific" ครอบคลุมทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างๆ เหล่านี้ กำลังเริ่มลดลง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เริ่มดีขึ้น ขณะที่ "Eastern Mediterranean" และ "Africa" ก็สู่ขาลงเรียบร้อยแล้ว
ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้ว 11,544 ล้านโดส
สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ในวันที่ 23 เม.ย. 65 จากเดิมเคยมีผู้ติดเชื้อวันละกว่าล้านราย ตอนนี้เริ่มลดลงเป็นหลักแสน และคงจะถอยลงไปเรื่อยๆ นับจากวันที่มีการประกาศสายพันธุ์โอมิครอนราว 24 พ.ย. 64 ขณะนี้ ทั่วโลกฉีดวัคซีนแล้วกว่า 11,544,346,261 โดส ฉีดวันละ 13,169,053 โดส (ประชากร 7,942,370,530 ราย) เฉลี่ยประชากร 100 คน ได้รับวัคซีน 147 โดส แปลว่าทั่วโลกเวลานี้ ยังมีคนหลายประเทศ ที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีนครบ 2 โดส ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่องค์การอนามัยโลกพยายามให้คนเหล่านั้นได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น
“อย่างไรก็ตาม มาตรการวัคซีนมีความสำคัญ แต่อาจไม่เพียงพอ หากใช้แค่มาตรการวัคซีนอย่างเดียว ต้องใช้มาตรการอื่นๆ มาร่วมด้วย หากจะเอาวัคซีนเป็นตัวตั้งในการสู้กับโอมิครอน เข็มกระตุ้นเป็นสำคัญ และจะต้องตั้งเป้าหมายตัวเลขการฉีดเข็มกระตุ้นไม่น่าจะน้อยกว่า 50% หากจะเข้าสู่โหมดผ่อนผันมากขึ้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
ณ วันนี้ประเทศต่างๆ มีการรณรงค์การฉีดวัคซีนเข็ม 1-2 กว่า 80% ขณะที่ประเทศที่คุมการติดเชื้อ และเสียชีวิตค่อนข้างดี มักจะเป็นประเทศที่มีการฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 50% เช่น ญี่ปุ่น อัตราเสียชีวิตลดลงค่อนข้างดี ฉีดเข็มกระตุ้น 50.2% ขณะที่ไทย ข้อมูลล่าสุด 25 เม.ย. 65 ฉีดวัคซีนแล้ว 132,633,387 โดส เข็มที่ 1 สะสม 56,155,863 ราย 80.7% เข็มที่ 2 สะสม 51,009,258 ราย 73.3% และ เข็มที่ 3 สะสม 25,468,266 ราย 36.6%
ไทยฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 36.6%
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ไทยได้รับเข็มกระตุ้นเพียง 1 ใน 3 คือ ราว 36% ยังห่างไกลจากตัวเลข 50% ช่วงเวลานี้มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หากต้องการให้อัตราการเสียชีวิตเหลือเลข 2 หลัก เพราะตอนนี้เป็น 3 หลักอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในข้อมูลที่บ่งบอกว่าการเสียชีวิตลดลงหรือไม่คือ จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ข้อดีคือ 3-4 วันเริ่มเห็นตัวเลขที่ไม่ค่อยขึ้น ค่อนข้างนิ่ง หวังว่าหากนิ่งแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ น่าจะเริ่มเห็นอัตราการเสียชีวิตลดลง เป็นเป้าหมายใหญ่ที่เราอยากจะให้เกิดขึ้น
โควิดยังไม่เข้าข่าย "โรคประจำถิ่น"
ดังนั้น เมื่อดูแนวโน้มของโควิด-19 สู่โรคประจำท้องถิ่นนั้น “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” อธิบายว่า ในเวลานี้การติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายการเป็นโรคประจำท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังมีโอกาส ถึงจะไม่มาก ที่จะกลับมาแพร่ระบาดใหม่ได้อีก เพราะเรารู้ว่าโควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา หากมีการติดเชื้อแพร่ระบาดเยอะ มักจะมีการกลายพันธุ์ เรายังไม่อยู่ในช่วงโรคประจำท้องถิ่น แต่มีแนวโน้มที่ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางนี้
ขณะเดียวกัน นิยามโรคประจำท้องถิ่นไม่ได้เหมือนกันไปหมด ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การมองสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจมีความสำคัญ ต้องบริหารความเสี่ยง โดยเน้น 2 เรื่อง คือ ป้องกัน และ รักษา ไวรัสที่แพร่กระจายมาก จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลยเป็นไปได้ยาก แต่สามารถลดอัตราการติดเชื้อลงได้ หากติดเชื้ออาการไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิตน่าจะเป็นเป้าหมายที่ดี
แต่ละประเทศ จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่พร้อมกัน
ศ.ดร.นพ.ประสิทธ์ กล่าวต่อไปว่า การติดเชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในแต่ละประเทศ ข้อมูล องค์การอนามัยโลก มองว่าเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่ในแต่ละประเทศ มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การฉีดวัคซีน จำนวนประชากรที่ฉีดวัคซีน รวมถึงประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนมีมากน้อยแค่ไหน ปัจจัยด้านอุปกรณ์ครุภัณฑ์เพียงพอหรือไม่ในการดูแล เป็นต้น ดังนั้น แต่ละประเทศจะประกาศไม่พร้อมกัน และนิยามเชื่อว่าไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้ เมื่อช่วง 14 เม.ย. 65 องค์การอนามัยโลก ได้ออกมาเตือนอย่างเป็นทางการว่า โควิด-19 ยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ของโลกประจำท้องถิ่น มีแนวโน้มก็จริงแต่ยังไม่ใช่ อาจจะเกิดการกลายพันธุ์และการระบาดมากมายอีก ในบางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก แต่หากประเทศอื่นมีการควบคุมได้ดี การกระจายก็อาจจะควบคุมได้ดีขึ้น อย่าด่วนตัดสินเร็วเกินไป ทำให้ละเลยสิ่งต่างๆ ที่เราทำมาตลอด 2 ปี
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ โลกกำลังเข้าสู่ปลายทางของการแพร่ระบาดโควิด-19 แปลว่า “ยังไม่เป็น แต่กำลังเดินไปในทิศทางนี้” เกณฑ์ในการกำหนดให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่ความสำเร็จจำต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่กำหนดมาตรการและนโนบาย (รอบคอบ ชัดเจน) ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการและนโยบาย (มุ่งมั่น รับผิดชอบ) และ ฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย คือ สังคม (ร่วมมือ วินัย)
ปัจจัยเปลี่ยนผ่าน สู่โรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดรุนแรง สู่โรคประจำท้องถิ่น คือ การฉีดวัคซีน 2 เข็มหลัก และเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะช่วยกันป้องกัน ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดมือ ตรวจ ATK เป็นครั้งคราวตามความจำเป็น
“เราสู้รบมือกันมาตลอด 2 ปี เชื่อว่าประเทศไทยกำลังไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศ เราเข้าใกล้สถานการณ์ที่ใกล้ปกติในอีกไม่นานนี้ แต่ว่าทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือ อย่าให้ทุกอย่างย้อนกลับไป เชื่อว่าเมื่อเรามาถูกทางแล้ว 3 ฝ่ายช่วยผสานเต็มที่ เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์