ปัจจัยชี้วัด “โควิด" ประจำถิ่น-ล็อกดาวน์
ประเทศที่คุมการติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างดี จะฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 50% ขณะที่ไทยฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 36% เชื่อว่าหากเร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้ได้ 50% จะทำให้เข้าใกล้สถานการณ์ “โควิดประจำถิ่น” ดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติเร็วๆ นี้
นิยามการติดเชื้อโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน และจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่ปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การฉีดวัคซีน จำนวนประชากรที่ฉีดวัคซีน รวมถึงประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับวัคซีนมีมากน้อยแค่ไหน ปัจจัยด้านอุปกรณ์ครุภัณฑ์เพียงพอหรือไม่ในการดูแล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้ในเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้
ช่วงสายพันธุ์โอมิครอนระบาด หลายประเทศมีการติดเชื้อพุ่งสูง แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “สหรัฐ” เคยติดเชื้อสูงต่อวันมากว่าล้านราย เริ่มลดลงเป็นหลักแสน เสียชีวิต 2-3 พันคนต่อวัน ตอนนี้ขาลงติดเชื้อหลักหมื่น อัตราการเสียชีวิต 3 หลัก บางวันลงมาเหลือ 2 หลัก และคาดว่าคงจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอัตราการฉีดวัคซีนพบว่าจำนวนประชากร 334,548,250 คน 76.7% ได้รับ 1 โดส 65.4% ได้ 2 โดส และ 29.7% ได้รับฉีดเข็มกระตุ้น (เข็ม 3 -4) เฉลี่ย 170.5 โดสต่อประชากร 100 คน มีประชากรติดโควิดราว 25%
ขณะที่ “ญี่ปุ่น” ก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อหลักแสน แต่ตอนนี้ดีขึ้นติดเชื้อราว 5 หมื่นกว่าคน มีการระดมฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก จำนวนประชากร 125,782,869 คน 81.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 80.5% ได้ 2 โดส และ 50.2% ได้รับฉีดกระตุ้นเฉลี่ย 212.5 โดสต่อประชากร 100 คน อัตราเสียชีวิตลดลง เนื่องจากรัฐบาลเน้นฉีดวัคซีนป้องกันผู้สูงอายุเสียชีวิต “เกาหลีใต้” ช่วงที่มีการติดเชื้อสูงสุดราว 2-3 แสนรายต่อวัน เสียชีวิตราว 400-500 รายต่อวัน ตอนนี้เริ่มลดลงจำนวนประชากร 51,348,905 คน 86.9% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 86.0% ได้ 2 โดส และ 63.8% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 236.8 โดสต่อประชากร 100 คน “เวียดนาม” สถานการณ์ตอนนี้ดีกว่าประเทศไทย ติดเชื้อราว 1 หมื่นราย เสียชีวิตลดลงเหลือเพียงเลข 1-2 หลัก ประชากร 98,949,505 คน 82.3% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 79.8% ได้ 2 โดส และ 46.7% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 213.8 โดสต่อประชากร 100 คน
ส่วน “จีน” ใช้นโยบายรับมือโควิด-19 เป็นศูนย์ล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดเช่น การล็อกดาวน์
"เซี่ยงไฮ้” เข้มงวด ตรวจหาเชื้อจากประชาชนจำนวนมาก และจำกัดการเดินทาง แม้ว่าจะควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตได้ แต่ส่งผลเสียหายต่อธุรกิจและขวัญกำลังใจของประชาชน และล่าสุดมาตรการดังกล่าวจะนำมาใช้ที่ “ปักกิ่ง” จนทำให้ประชาชนแห่ตุนของจนซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าหมดชั้นเมื่อวันอาทิตย์ (24 เม.ย.) สินค้าบางอย่างแม้แต่ซื้อในแอปก็ยังไม่มีขาย โดยเฉพาะของที่จัดส่งให้ย่านเจ้าหยาง
สำหรับ ประเทศไทย มีประชากร 70,117,572 คน 80.7% ของประชากร ได้รับ 1 โดส 73.3% ได้ 2 โดส และ 36.6% ได้รับฉีดกระตุ้น เฉลี่ย 189.0 โดสต่อประชากร 100 คน แม้ว่าจะใช้ “ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ” ติดเชื้อน้อยลง “ปลายน้ำ” ลดอัตราการเสียชีวิต และ “กลางน้ำ” คือ การฉีดวัคซีน ที่จะมีผลทำให้การเสียชีวิตลดลง ลดการแพร่ระบาด ทว่าประเทศที่คุมการติดเชื้อและเสียชีวิตค่อนข้างดี จะฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 50% ขณะที่ไทยฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 36% เชื่อว่าหากเร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงให้ได้ 50% จะทำให้อัตราการเสียชีวิตเหลือเลข 2 หลัก และเข้าใกล้สถานการณ์ “โควิดประจำถิ่น” ดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติเร็วๆ นี้