มบส.ถอดบทเรียนโครงการ U2T พอใจยกระดับเศรษฐกิจรายตำบลชุมชนได้
“อธิการบดีมบส.” นำทีมผู้บริหาร มบส.และคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ร่วมถอดบทเรียนโครงการ U2T พอใจผลงานยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลชุมชนได้ พร้อมรับการตรวจติดตามงานจาก อว.
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ที่แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ตนได้นำทีมผู้บริหาร และคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ถอดบทเรียนโครงการ U2T
ต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และคณะกรรมการอำนวยการถอดบทเรียนโครงการ U2T ซึ่งมีตัวแทนจากสำนักงานเขตธนบุรีและผู้นำชุมชนแขวงบางยี่เรือ เข้าร่วมการประชุมด้วย
ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย เอกธรรมทัศน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มบส. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า การดำเนินการโครงการ U2T และแนวทางการบริหารจัดการโครงการฯ ที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมบส. จำนวน 40 ตำบล ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมาก
เช่น ผลการดำเนินการจ้างงานในโครงการกว่า 1,000 อัตรา การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลโดยบูรณาการองค์ความรู้ให้เกิดประสิทธิภาพตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ การนำองค์ความรู้ไปบริการชุมชน และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาทักษะผู้จ้างงานครอบคลุม 4 ทักษะประกอบด้วย ทักษะเทคโนโลยีดิจิตอล ทักษะด้านการเงิน ทักษะภาษาอังกฤษและด้านทักษะสังคม นอกจากนี้ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ (big data) เป็นข้อมูลและวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาชุมชนแบบมีเป้าหมายที่ชัดเจน
“มหาวิทยาลัยดีใจมาก ที่ได้เห็นประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ U2T ทำให้ประชาชนได้รับการจ้างงาน ทำให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ ได้พัฒนาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนตนเอง”ผศ.ดร.หนึ่งฤทัย กล่าว
นอกจากนี้ในพื้นที่ยังได้รับการยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน ได้รับการส่งเสริมดูแลสุขภาพในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.อมรรัตน์ คำบุญ อาจารย์ผู้รับผิดชอบแขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ภายใต้โมเดล 1 Area 1 Lecturer (1A1L) กล่าวว่า การดำเนินงานพื้นที่แขวงบางยี่เรือ จะมุ่งพัฒนาเสริมสร้างอาชีพใหม่โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี ยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าในชุมชน ส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพโดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย และส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในชุมชนแขวงบางยี่เรือ
ทั้งนี้ คณะกรรมการถอดบทเรียนโครงการ U2T ยังได้เยี่ยมชมบูธผลงานที่เกิดจากการดำเนินงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์ขนมบดิน ยาสุมสมุนไพร ยาดมสมุนไพรผสมกัญชา โรงเพาะเห็ดอัจฉริยะ สวนสมุนไพรชุมชน และผลิตภัณฑ์อื่นๆจากชุมชนใกล้เคียง
พร้อมทั้งคณะกรรมการถอดบทเรียนฯ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้นำชุมชนยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสรุปผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่แขวงบางยี่เรือต่อไป