Low Carbon Tourism วิถีการ "ท่องเที่ยว" แบบรักษ์โลก

Low Carbon Tourism วิถีการ "ท่องเที่ยว" แบบรักษ์โลก

การท่องเที่ยว "คาร์บอนต่ำ" ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญ ควบคู่กับการออกแบบ รูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้กับนักท่องเที่ยว

กิจกรรมที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวอาจก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้  เพื่อเป็นการช่วยลดโลกร้อนนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบ คาร์บอนต่ำ  Low Carbon Tourism ที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกันในรูปแบบ ‘เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด’  

 

“อ.พรทิพย์ บุญเที่ยงธรรม” ผู้สอนรายวิชาการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว สาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการการท่องเที่ยวที่ช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน โดยพยายามออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ เกิดความตระหนักรู้และใส่ใจในสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อมๆ กัน

ยกตัวอย่าง "ชุมชนท่องเที่ยวบ้านถ้ำเสือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี" การท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก และปลอดภัยจากโควิด” ทั้งในด้านแนวคิดของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การบริหารจัดการตัวเองภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยชุมชนมีการปรับตัวเองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแบบเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน

 

ปัจจุบัน “บ้านถ้ำเสือ” เป็นชุมชนที่ได้รับการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้เป็นชุมชนต้นแบบวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแห่งแรกของไทย ซึ่งมีรูปแบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติพร้อมๆ กับการพัฒนาตนเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นให้คนในชุมชนได้มีโอกาสกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนตามสภาพปัญหาของพื้นที่ และความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง

 

นอกจากนี้ คนในชุมชนยังร่วมกันกำหนดแนวคิดของการพัฒนาและการอนุรักษ์พื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมชุมชน และพยายามขับเคลื่อนตนเองสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน (Zero Carbon) ผ่านกระบวนการออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ต้อง “ใช้สมองคิด ใจดู และสองมือทำ” พร้อมที่จะเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมั่นใจ 

 โดยเริ่มต้นด้วยการดับเครื่องยนต์แล้วเดินเท้าเข้าสู่บ้านถ้ำเสือ สัมผัสธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยแมกไม้ อากาศที่เย็นสบาย ฟังเสียงจักจั่นตลอดเส้นทาง ชิมน้ำดอกอัญชันมะนาวปลอดสารพิษที่ชาวบ้านปลูกเองแบบอินทรีย์  ทำกิจกรรมสร้างสรรค์แบบคาร์บอนต่ำ อาทิ  การปั้นลูกกระสุนเมล็ดพันธุ์ กุศโลบายเชิงวิถีตามบริบทของพื้นที่ในการปลูกป่าชุมชน 

 

การทำอาหารท้องถิ่น “ยำถ้ำเสือ” หรือยำผักกูด ซึ่งเป็นผักท้องถิ่นขึ้นชื่อที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เก็บจากริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี หวานและกรอบลงตัวอย่างมีเอกลักษณ์ โดยให้นักท่องเที่ยวได้ลองลงมือทำยำผักกูดด้วยตัวเอง โดยใช้ถ่านไม้ปลอดสารพิษที่ผ่านการเผาไหม้ให้บริสุทธิ์แบบอิวาเตะเป็นเชื้อเพลิงจึงไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง

 

ชุดอาหารแบบปิ่นโตที่ชุมชนจัดแยกมาเป็นชุดๆป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด และยังควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีแต่ละคนและการจัดการอาหารไม่ให้เหลือทิ้งเป็นของเสีย (Food Waste Management) เป็นตัวอย่างของชุมชนที่สามารถบริหารจัดการท่องเที่ยวที่มีวิถีรักษ์โลกท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

 

“ชุมชนท่องเที่ยวบ้านถ้ำเสือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี” แห่งนี้สะท้อนภาพการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกได้เป็นอย่างดี  เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาให้กับชุมชนอื่น หรือผู้ประกอบการการท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ เพราะนี่คือ “วิถีการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก เทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ ที่สำคัญนักศึกษาการท่องเที่ยวและการโรงแรมควรจะต้องนำศาสตร์ที่ได้จากการเรียนรู้ไปถอดบทเรียนและนำไปใช้เมื่อเข้าสู่ตลาดงาน ซึ่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนและลงมือปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดองค์ความรู้และนำไปใช้ได้จริงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่สร้างรายได้และเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ คือการเรียนรู้ที่แท้จริง