อว.เร่งผลิตวิศวกร-นักวิทยาศาสตร์ สาขาละ1 หมื่นคนรองรับตลาดแรงงาน
ครบ 3 ปีกระทรวงอว. “เอนก” ชูการปฎิรูปและการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เร่งผลิตวิศวกรพันธุ์ใหม่ 1 หมื่นคน นักวิทยาศาสตร์ 1 หมื่นคนตามความต้องการของนักลงทุนเพื่อไปทำงานที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC
วันนี้ (2 พ.ค.2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดงานจัดงาน “อว.ครบ 3 ปี แห่งความสำเร็จในการปฎิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” มี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เป็นประธานและมีบุคคลที่มีความสำคัญเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อว. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ศ.นพ.อุดม คชิยทร อดีต รมช.ศึกษาธิการ เข้าร่วม รวมทั้ง ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.พร้อมผู้บริหาร อว. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกระทรวงฯ จนถึงปัจจุบัน
ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าวว่า อว.ถือเป็นกระทรวงที่ใหญ่มาก มีงบประมาณอันดับ 5-6 ของบรรดากระทรวงทั้งหลาย มีศาสตราจารย์หลายพันคน มีดอกเตอร์หลายหมื่นคนและมีคนคุณภาพมากมาย 3 ปีที่ผ่านมา อว.มีผลงานที่มากมายจนเราเองก็คาดไม่ถึง เปรียบเป็นรถ ก็วิ่งได้เร็วมาก
ที่สำคัญ อว.คือผลงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนให้เกิดกระทรวงนี้ขึ้น ขณะที่ผลงานการปฎิรูปอุดมศึกษา เราได้แบ่งมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มเก่งในด้านของตนเอง เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นเลิศด้านการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น
โดยมีอาจารย์และนักศึกษาบวกกับความรู้มาร่วมกันพัฒนาเชิงพื้นที่ ส่วนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นเลิศด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทันที
- เร่งผลิตวิศวกรพันธุ์ใหม่-นักวิทยาศาสตร์
นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มแนวทางการขอตำแหน่งวิชาการเพิ่มเติม จากที่ใช้เฉพาะงานวิจัยและตำราวิชาการ วันนี้มีการเพิ่มช่องทางให้สามารถใช้ผลงานศิลปะ ใช้ผลงานนวัตกรรม ไปขอตำแหน่งวิชาการได้ ดังนั้น ชาวมหาวิทยาลัยต้องตื่นตัว ต้องรู้ประเภทที่ตนเองเก่ง และรู้ว่าจะเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการในแบบที่ตนเก่งอย่างไร
“เราทำหลักสูตรแซนบอกซ์ (Sandbox) เพื่อให้เท่าทันโลก ตามความเปลี่ยนแปลงของโลก หลักสูตรใหม่ๆ อาจขัดกับเกณฑ์เดิมๆ ก็สามารถใช้กลไกการจัดการศึกษาที่ต่างจากมาตรฐานเดิม ยกเว้นเกณฑ์เดิมๆ ได้ เช่น ให้เรียนจบได้เร็วขึ้น หรือให้เรียนกับคนที่ไม่ใช่ดอกเตอร์ได้ ให้เรียนที่โรงงานได้ ตามความต้องการของเอกชน ขณะนี้เรากำลังผลิตวิศวกรพันธุ์ใหม่ 1 หมื่นคน และนักวิทยาศาสตร์ 1 หมื่นคนตามความต้องการของนักลงทุนเพื่อให้ไปทำงานที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC” ศ.(พิเศษ)ดร.เอนก กล่าว
ขณะที่ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ มีผลงานมากมาย เช่น เครื่องโทคาแมค หรือดวงอาทิตย์จำลอง ซึ่งจะผลิตนิวเคลียร์ฟิวชั่น หรือพลังงานสะอาดให้ประเทศในอนาคต และมีที่ไทยเพียงที่เดียวในอาเซียน
เรากำลังจะมีเครื่องซินโครตรอน เครื่องที่ 2 ระดับพลังงาน 3GeV แห่งแรกของภูมิภาคเอเชียแผซิฟิคฝีมือนักวิจัยไทย เราพยายามให้คนไทยทำเองให้มาก ไม่ใช่การซื้อของทันสมัยมาใช้จากต่างประเทศ เรามีปรากฎการณ์เหมือนญี่ปุ่นเกาหลีในนวันที่กำลังพัฒนา เพื่อที่จะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองได้
- ปฎิรูปอุดมศึกษา พัฒนาคนรุ่นใหม่
นอกจากนั้น เราจะมีโครงการส่งดาวเทียมไปโคจรแบดวงจันทร์ได้ใน 6-7 ปี มีเด็กรุ่นใหม่อายุ 30-40 ปี จากทุกภาคของไทยไปร่วมวิจัย ทำให้คนไทยเห็นว่า คนไทยเก่ง ไม่จมอยู่กับการเป็นประเทศด้อยพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่เราจะเป็นประเทศที่พัฒนาได้ เราไม่ได้เก่งแต่ด้านศิลปะ แต่เราเก่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวว่า การปฎิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของ อว.ทำให้เห็นอนาคตของประเทศอย่างแท้จริง เป็นครั้งแรกที่เห็นการเปลี่ยนแปลง
โดยเฉพาะด้านอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมการปฏิรูปเริ่มผลิดอกออกผล โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทุกมิติ
โดยได้จัดทำ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้สิทธิเป็นเจ้าของผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของผู้รับทุนเองได้
นอกจากนี้ ยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแก่ภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เองอีกด้วย