ทำความรู้จัก "ออฟฟิศซินโดรม" ปัญหากวนใจ ของวัยทำงาน
ทำความรู้จักโรค "ออฟฟิศซินโดรม" ปัญหากวนใจ ของคนวัยทำงาน เปิด 5 วิธีรักษาแบบแแพทย์แผนปัจจุบัน-โบราณ ช่วยบรรเทาอาการได้
Office Syndrome โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ หรือวัยทำงาน แต่ก็เกิดได้กับคนทั่วๆ ไปได้เช่นเดียวกัน และ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่มีการ Work From Home และการเรียนออนไลน์ ก็ส่งผลให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม เพิ่มขึ้น
ภาวะออฟฟิศ ซินโดรม เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากลักษณะการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน นั่งโต๊ะทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง อาการที่พบบ่อย การปวดบริเวณ คอ บ่า ไหล่ สะบัก นิ้วล็อค เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ ปวดหลังจากท่าทางไม่เหมาะสม เป็นต้น
อาการของโรคนอกจากสร้างความเจ็บปวดให้กับร่างกายแล้ว ยังลดประสิทธิภาพการทำงาน และบางคนเจ็บป่วยรื้อรังส่งผลต่อการดำเนินชีวิต
การรักษาโรคออฟฟิสซินโดรมไม่ได้จำกัดที่ การรักษาเฉพาะการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือใช้ยาอย่างเดียว แต่การรักษาโรคออฟฟิสซินโดรม Office Syndrome สามารถที่จะเลือกรักษาได้อย่างเหมาะสม และในปัจจุบัน ก็มีศาสตร์หลายศาสตร์ในการรักษา ทั้ง แพทย์แผนจีน แผนไทย และเวชศาสตร์ฟื้นฟู (กายภาพบำบัด)
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงรวมศาสตร์ การรักษาทุกศาสตร์ ทั้งแผนปัจจุบัน แผนไทย แผนจีนและเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาอยู่ภายใต้ การดูแลของทีมสหวิชาชีพ “ คลินิกออฟฟิศซินโดรม “ เพื่อตอบโจทย์การรักษาให้ครอบคลุม โดยเริ่มให้การรักษาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
"จุดแข็งของ คลินิกอออฟฟิศ ซินโดรม คือ คนไข้จะได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ สอบถามประวัติการทำงานที่สัมพันธ์กับอาการเจ็บปวด และให้คำแนะนำการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ ว่าจะเลือกการรักษาแบบแผนไทย แผนจีนหรือเวชศาสตร์ฟื้นฟู" นพ.กัมปนาท วังแสน แพทย์อาชีวศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในรายการพบ “สุขภาพดีกับหมอสวนดอก" ในหัวข้อ “ออฟฟิศซินโดรม ปัญหากวนใจ..ของวัยทำงาน“
"บางครั้งเราก็จะตอบคำถามได้ยากว่าอาการที่ปวด เป็นอาการของออฟฟิศซินโดรม หรือโรคอื่น ๆ ดังนั้น ต้องอาศัยดูลักษณะอาการและการประกอบอาชีพ ประวัติการทำงานไปสัมพันธ์กับอาการปวดหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจร่างการโดยแพทย์ ถึงจะยืนยันได้ว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม เพราะโรคบางโรคอาจมีอาการคล้ายกัน แต่อาจจะไม่ใช่อาการ ออฟฟิศ ซินโดรม โดยตรง แต่อาจจะต้องวินิจฉัย เช่น คนที่อายุมากหน่อยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเสื่อม หรือการกดทับของเส้นประสาท ก็อาจไม่ใช่อาการของออฟฟิศซินโดรมโดยตรงได้ ต้องเจอแพทย์เฉพาะทางเพื่อส่งต่อการรักษาต่อไป" นพ.กัมปนาท กล่าว
นพ.กัมปาท กล่าวว่า ที่คลินิกออฟฟิศซินโดรม จะมีแพทย์อาชีวเวชศาสตร์สับเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาประจำที่คลินิกและหากพบว่าคนไข้มีอาการของโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมก็จะส่งต่อไปยังแผนกอื่นเพื่อทำการรักษาต่อไป
“การรักษาทุกแผน ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะหายขาดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานร่างกายของคนไข้ แต่หลังจากรักษาเสร็จหมอจะแนะนำวิธีการทำงานที่เหมาะสมให้คนไข้นำไปปฏิบัติเพื่อที่จะไม่กลับมาเป็นซ้ำ รวมไปถึงทางเลือกที่ คลินิก ฯ เรามีให้คนไข้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นแผนไทย แผนจีน กายภาพบำบัด และการทำหัตการโดยการไม่ใช้ยาในการรักษานอกจากนี้ ถ้าการรักษาตามแผนที่หนึ่ง ยังไม่ดี ก็ปรับเปลี่ยนไปแผนสองตามตัวโรคหรือตามอาการได้ หรือบางคนอาจชอบกับแผนจีนหรือแผนไทยได้ คุยกับหมอได้ เป็นตัวเลือก แต่จะมีหมอช่วยคัดกรองโรคที่อาจจะเป็นข้อห้าม ของรักษาบางอย่างก่อน เลือกแนวทางที่ถูกต้องไม่ไปทำสุ่มสี่สุ่มห้า" นพ.กัมปนาท กล่าว
- แผนไทย นวดกดจุดเพื่อการรักษา
พท.ป.ณพรรษกรณ์ คงภาษี แพทย์แผนไทย ประจำศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า จุดเด่นของแพทย์แผนไทย คือ สามารถคลายกล้ามเนื้อจุดที่ปวด ได้เป็นอย่างดีและผู้ช่วยนวดจะได้รับการเทรนจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ลงน้ำหนักในการนวดอย่างเหมาะสม ว่าระดับน้ำหนักเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่เพราะคนไข้ มีระดับรับแรงปวดไม่เท่ากัน การกดลึกกดหนักก็เพิ่มความเสี่ยงการเกิดการระบม
สำหรับการรักษาแพทย์แผนไทย การนวดกดจุดก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้สำหรับทุกคน ต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนถึงจะส่งต่อมาที่แพทย์แผนไทยได้ และแพทย์แผนไทย จะประเมินซ้ำ ว่าการรักษาแบบไหนที่เหมาะสม ถ้าอาการปวดไม่สูงมากก็ส่งมานวดเพื่อการรักษาได้ เพราะการนวดมันจะมีการกดจุด และใช้เวลาที่เหมาะสม ระหว่างนั้น คนไข้อาจมีอาการที่ปวดมาก ถ้ามาด้วยอาการปวดมาก การนวดอาจไม่เหมาะเท่าไหร่ แต่ถ้าประเมินแล้วทำได้ และจะมีการประเมินเพิ่มเติมและจะแจ้งผู้ช่วยที่จะทำการนวดว่าจะนวดตรงไหน และข้อหามและข้อควรระวังที่หมอบอกมาว่าตรงไหนสามารถทำได้ หลังจากนวดเสร็จก็จะประเมินซ้ำกล้ามเนื้อคลายตัวหรือมีรอยฟกช้ำ หรือมีอาการบวมแดงจากการประคบร้อนหรือไม่
“ผู้นวดจะนวดในจุดที่แพทย์ ระบุ โดยการนวดจะใช้แรงจากนิ้วมือกดลงไป ให้ถึงจุดปวด โดยกดจุดนั้นๆนาน ประมาณ 15-30 วินาทีต่อจุด เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และหลังทำหัตการประมาณ 45นาที ถึง 1 ชั่วโมงก็จะทำการประคบร้อน ปกติจะใช้เวลาการนวดประมาณ 2-4ครั้ง” พท.ป.ณพรรษกรณ์ กล่าว
- รักษาแผนจีนฝังเข็มปรับสมดุลย์ของร่างกาย
“เพราะพื้นฐานของคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน การประเมินสภาพพื้นฐานร่างกายของคนไข้ว่าเป็นอย่างไร จึงสำคัญ เพื่อปรับสมดุลของร่างกายของคนไข้ก่อนที่จะทำการรักษา “พจ.กลวัชร แสงสูง แพทย์แผนจีน ประจำศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
คนไข้บางคนมาด้วยอาการ ท้องอืด แน่นท้อง แน่นห้าอก เรอบ่อย และจุกเสียดสีข้าง นอกเหนือจากอาการ ปวดคอ บ่า ไหล่ ในทางการแพทย์แผนจีน การเกิดอาการแบบนี้ เนื่องจาก การไหลเวียนของโลหิต ลมปราณไม่สมดุล จึงต้องมีการปรับสมดุลของคนไข้ ก่อน ที่จะเริ่มทำการรักษาอาการปวดที่เกิดจากการทำงาน
การรักษา โรคออฟฟิศซินโดรมของแพทย์แผนจีน จะมี 3 แนวทาง คือการฝังเข็ม การรักษาด้วยการกระต้นไฟฟ้าและการครอบแก้ว โดยเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน จะม่ทำต่อเนื่องกัน
สำหรับการฝังเข็มจะฝังใน บริเวณจุดที่ปวด โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลา 30 นาที ใช้เวลา 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ วันเว้นวันหรือเว้นสองวัน ทำประมาณ 10 ครั้งขึ้นอยู่กับการตอบสนองของคนไข้
- เวชศาสตร์ฟื้นฟูเน้น 5 แผนรักษา
กภ. ฐิตินันท์ ชัยกุลเสรีวัฒน์ นักกายภาพบำบัด ประจำศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่าการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด เริ่มจาก ตรวจประเมิน ซักประวัติ ดูตั้งแต่การทำงานของกล้ามเนื้อ ระดับความเจ็บปวด กำลังของกล้ามเนื้อ ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นก็จะมาวางแผนการรักษาให้สอดคล้องกับที่หมอประเมิน มา โดยการรักษาจะมีตั้งแต่
1.ประคบร้อน เพื่อให้อาการปวดลดลง กล้ามเนื้อคลายตัว ช่วยการไหลเวียนของเลือด เป็นความร้อนแบบตื้นจะไม่รู้สึกร้อนบริเวณที่รักษา
2.ใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น เครื่องอัตราซาวน์ จะเป็นตัวคลื่นเหนือเสียงที่ไปบริเวณที่เราต้องการรักษา ตัวคลื่นเหนือเสียงก็จะ ไปทำปฏิกริยากับร่างกายของเรา ส่งผลให้อาการปวด ทุเลาลง การซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ โดยตัวนี้ จะเป็นความร้อนลึก จะไม่รู้สึกร้อนเวลาผิวที่เราทำ แต่จะส่งความร้อนไปภายใน เราจะแค่ปวดตื้อๆ บริเวณที่ทำ
3.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของการกล้ามเนื้อ เพราะถ้ากล้ามเนื้อแข็งแรงจะทำให้ไม่เจ็บปวดในระยะยยาว เป็นการักษาที่ยั่งยืน
4.การยืดกล้ามเนื้อ หลักๆ คือการยืดให้ถูกหลัก ถูกท่า เช่น การยืด กล้ามเนื้อคอ ให้ถูกหลัก อย่างน้อย 15--30 วินาที ทำ 35 ครั้ง จะทำให้รู้สึกตึงแต่ไม่ทำให้ปวด
5.ให้ความรู้และปฏิบัติตนและการจัดท่าทางเพื่อไม่ให้ร่างกายกลับไปอยู่ในอาการปวดเหมือนเดิม ส่งผลกระทบให้มีการเจ็บรื้อรัง
และสำหรับคนไข้ที่เป็นข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ สามารถการใช้สิทธิเบิกจ่ายตามกรมบัญชีกลาง ได้ ส่วนพนักงานบริษัทเอกชน ที่มีสวัสดิการการดูพนักงานที่มีอาการเจ็บป่วยกันเกิดจากการทำงานก็สามารถเข้ารับบริการได้เช่นเดียวกัน โดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะเป็นคนประเมินการรักษา และออกใบรับรองแพทย์ให้
นพ.กัมปนาท กล่าวว่า การรักษาทุกแผน ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะหายขาดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้งานร่างกายของคนไข้ แต่หลังจากรักษาเสร็จ แพทย์จะแนะนำวิธีการทำงานที่เหมาะสม การออกกำลังกายเพิ่มเติม ให้คนไข้นำไปปฏิบัติเพื่อที่จะไม่กลับมาเป็นซ้ำ
คลินิกออฟฟิศซินโดรม เปิดให้บริการตรวจ วันอังคาร – พฤหัสบดี เวลา 16.00 – 19.00 น.วันศุกร์ เวลา 13.00 – 19.00 น. ที่ ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (TTCM)55 ถนนสามล้าน ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่