อยากเรียนต้องได้เรียน "โอกาสทางการศึกษา" สูตรไม่ลับดับเหลื่อมล้ำ+ยากจน
เด็กไทยเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาเกือบ 2 ล้าน จากปัญหาความยากจนข้ามรุ่น 512,600 ครัวเรือน การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไม่ให้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จึงช่วยทั้งเพิ่ม “โอกาสทางการศึกษา” และลด “ความเหลื่อมล้ำ”ได้ด้วย
ประเทศไทยมีโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จำนวนมาก แม้บางคนจะคิดว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูงแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงประเทศไทยยังมีกลุ่มประชากรประมาณ 1.8 ล้านคนที่เป็นเด็กนักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาสในระบบการศึกษา มีกลุ่มประชากรมากกว่า 4 แสนคนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา บางคนเข้าไปแล้วหลุดออกมา บางคนเข้าเรียนช้า มีเด็กและเยาวชนที่พิการทางด้านร่างกายหรือสติปัญญาจำนวนมากที่จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ยังมีประชากรที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนที่สุดร้อยละ 10 ของประเทศมีโอกาสที่จะศึกษาสูงถึงระดับอุดมศึกษามีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และค่าใช้จ่ายของการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของรายได้สูงกว่าสัดส่วนของประชากรที่รวยที่สุดในประเทศถึง 4 เท่า
ยิ่งเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ชีวิตของเด็กไทยเกือบ 2 ล้านคน (ก่อนโควิด-19 มีเพียงประมาณ 9 แสนคน เพิ่มเป็น 1.3 ล้านคนในปี 2565) และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเพื่อน เพราะเขาจัดหาอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ตมาเรียนอย่างต่อเนื่องไม่ได้
ประกอบกับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง ภาระพึ่งพิงในครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น โจทย์เรื่อง "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" นี้กลับซ้ำซ้อนมากขึ้นเมื่อวิกฤติโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม พบว่า นักเรียนยากจนหรือด้อยโอกาส 1.8 ล้านคน มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยพบว่า ความยากจนด้อยโอกาสทำให้เด็กไทยยังอยู่นอกระบบการศึกษามากกว่า 430,000 คน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) อธิบายว่า ถ้ามองในภาพใหญ่ของประเทศ มีประชากรถึง 15 เปอร์เซ็นต์ที่มีรายได้น้อยกว่าค่าเส้น ความยากจน ของประเทศซึ่งมีจำนวนเกือบ 2 ล้านคน นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ
“หากเราดูแลกลุ่มประชากรเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง โอกาสทางการศึกษาของประชากรกลุ่มนี้ก็จะมากขึ้นและเสมอภาคมากขึ้น แต่ปัญหานั้นมีความซับซ้อน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยากลำบาก จำเป็นต้องย่อส่วนปัญหาขนาดประเทศ สู่ขนาดจังหวัดและการจัดการที่ยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562”
การดำเนินงานของ กสศ. ที่ผ่านมาสอดคล้องกับทิศทางของประเทศและนานาชาติ ซึ่งในระดับนานาชาติพบว่า มีจุดเปลี่ยนสำคัญในการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในยุคโควิด-19 ที่นำไปสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา
ได้แก่ การสนับสนุนข้อมูลด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ และทรัพยากรให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพละพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน การพัฒนาระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ความร่วมมือที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชน การช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณที่เป็นนวัตกรรมทางการเงินและการคลัง ระบบการคุ้มคลองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน (ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทาง ความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น)
แต่สิ่งที่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้รับการตอบรับจากเวทีการปฏิรูปการศึกษาในระดับนานาชาติ องค์การยูเนสโก องค์การยูนิเซฟ รวมถึงภาคีร่วมดำเนินการในระดับนานาชาติล้วนให้การสนับสนุนกรอบแนวคิดใน การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือ Area-based Education เพื่อย่อส่วนของการปฏิรูปลงไปสู่การทำงานระดับจังหวัด และปลดล็อกให้ผู้ดำเนินการในระดับจังหวัดทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืน หากการปลดล็อกเกิดขึ้นทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ ประเทศของเราก็จะปลดล็อกความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเดินหน้าไปได้เช่นกัน
“ผมขอเน้นย้ำเรื่อง ‘All means all’ หมายความว่า การจัดการศึกษา โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นกิจของทุกคน จริงๆ กสศ. พยายามที่จะทำให้การสื่อสาร รณรงค์เพื่อทำให้ทุกคนเข้ามาร่วมมีส่วนในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพราะการศึกษาคือ กิจของทุกคน ไม่ใช่แค่กิจเฉพาะของหน่วยงานด้านการศึกษาหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ฉะนั้นทุกท่านที่เข้ามาร่วมประชุมในวันนี้คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มีความก้าวหน้าและยั่งยืนในระดับพื้นที่ได้” ดร.ไกรยส กล่าว
การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ นโยบายสำคัญที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภาฯ ได้ผ่านการพิจารณาในมาตรา 18 ในเรื่องของมาตราที่เกี่ยวข้องกับ “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” ไปแล้วในรอบแรก ทำให้ในอนาคตสมัชชาการศึกษาจังหวัด สภาการศึกษาจังหวัด สามารถรวมกลุ่มกันแล้วไปจดทะเบียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถดำเนินการมีส่วนร่วม.ยกร่างแผนการศึกษาจังหวัดและติดตามการดำเนินงานของแผนการศึกษาจังหวัดได้ สิ่งนี้เป็นความคืบหน้าที่สำคัญ
ด้วยเหตุนี้ “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” จึงเป็นโจทย์ทางนโยบายที่สำคัญ โดย กสศ. อยากที่จะขอทำงานร่วมกับทุกพื้นที่เพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาให้เกิดกลไกจัดการศึกษาให้เราสามารถ มีบทเรียนมีตัวอย่างในแต่ละพื้นที่ว่ากลไกในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มีกี่ตัวแบบได้บ้าง มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ใครเป็นเจ้าภาพ ขับเคลื่อนโดยใคร และมีโมเดลที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพื้นที่ต่างๆ อย่างไรไ ประเด็นที่สองคือ การมีระบบสารสนเทศเพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายอย่างครอบคลุมและเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการร่วมรณรงค์การขับเคลื่อนเพราะการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นกิจของพวกเราทุกคน กสศ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมีส่วนเข้าไปรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดแนวร่วมและเพื่อให้การทำงานในระดับพื้นที่เกิดยั่งยืน
ประเด็นสุดท้ายคือการพัฒนานวัตกรรมคือ หัวใจสำคัญ เพราะเรามีการรวมตัวกันแล้ว มีกลไกแล้ว มีระบบสารสนเทศ มีการรณรงค์แล้ว ดังนั้นเราจำเป็นต้องมีผลงาน เพราะผลงานจะทำให้เรามีแนวร่วมมากขึ้นในอนาคต ผลงานที่เป็นนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จะเป็นเครื่องยืนยันว่ากลไกที่เกิดขึ้นนี้มีคุณค่าต่อสังคมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยทำให้มีแนวร่วมมากขึ้น มีทรัพยากรมากขึ้นได้ในอนาคต
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. บอกว่า “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาประเทศ โดยล่าสุด (ร่าง)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้ระบุให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำอยู่ในแผนฯ ซึ่งเป็นความท้าท้ายและเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
“หนึ่งในสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุคือ “ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น” โดยในปี 2562 พบว่า ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นมีจำนวนมากถึง 512,600 ครัวเรือน หรือร้อยละ 13.5 ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้คนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากจนอย่างเฉียบพลัน และในปี 2563 สัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 12.7ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 14.9 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้โอกาสในการหลุดพ้นจากกับดักความยากจนมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้จำนวนครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น ได้แก่การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม (ร้อยละ 60.3) และที่สำคัญคือ“ความขัดสนทางการศึกษา”
ดังนั้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงออกแบบให้มีกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ การเน้นสร้างโอกาสที่เสมอภาคแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น โดยส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพที่มีคุณภาพ จัดสรรเงินอุดหนุนและทรัพยากรที่จำเป็นแก่เด็กจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในโรงเรียนและการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งแหล่งเรียนรู้บนพื้นที่กายภาพและพื้นที่เสมือนจริงหรือออนไลน์ พร้อมทั้งพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและติดตามช่วยเหลือเด็กยากจนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือการพัฒนาทักษะอาชีพตามความเหมาะสม เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้และด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ และการส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
กลยุทธ์ข้างต้นสอดคล้องกับการดำเนินงานของ กสศ. ที่พยายามใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างกลไกให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่ง “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” (Area based Education ) เป็นโครงการที่มีโครงการนำร่องประมาณ 10 ปี โดย สกว. สสค. เรื่องการศึกษาเชิงพื้นที่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า หากการจัดการศึกษามีขนาดเล็กลง และกระจายอำนาจให้กับพื้นที่ มากกว่ารวมอยู่ในส่วนกลางจะทำให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนงาน Area based Education ได้ดี เราต้องมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ในการจัดการศึกษาซึ่งรวมถึง Area based Education ด้วย ขณะนี้เรามองเรื่องงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักซึ่งเป็นกลไกทางการเงินเพื่อการศึกษามาตลอด ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน บางปีสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ปีที่แล้วผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ 16ล้านล้านบาท เป็น 6 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากตอนนี้เราเอาแต่งบประมาณแผ่นดินมาใช้ แต่จะทำอย่างไรจึงจะ Renovate ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าระบบงบประมาณแผ่นดินได้ โดยต้องมองงบประมาณการศึกษาในเชิงพื้นที่กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด
“อีกอย่างคือ เรามีตลาดทุนในประเทศที่มีขนาดใหญ่มาก ปีที่แล้วรายได้ตลาดทุนเป็น 13 ล้านล้านบาท เป็น 5 เท่าของงบประมาณแผ่นดิน บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีที่แล้วกำไร 9.86 แสนล้านล้านบาท หรือ 35เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน ประเทศไทยมีเงินตรงนี้มหาศาล เราต้องคิดหาเงินเพื่อนำมาใช้ทางการศึกษาให้ได้ ต้องช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรเราจะเข้าถึงแหล่งทุนใหญ่แบบนี้ ซึ่งต้องมีนโยบายผลักดัน เกิด Political Agenda ซึ่งขณะนี้มีการระดมทรัพยากรจากตลาดทุน มีการออกพันธบัตร มีการระดมทุนเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมจนเกิดพันธบัตรที่เรียกว่า Green Bond แล้วทำไมเราจะเกิด Education Bond ไม่ได้ เพื่อให้เกิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่เป็นไปได้ อาจจะต้องคิดใหม่เรื่องภาษีที่มีการระบุเป้าหมายชัดเจน Earmark Tax ซึ่งอาจจะทำในระดับประเทศหรือจังหวัดก็ได้”