เมื่อโอกาสไม่ได้ลอยในอากาศ ความฝันจึงต้องสานด้วย “การศึกษา”

เมื่อโอกาสไม่ได้ลอยในอากาศ ความฝันจึงต้องสานด้วย “การศึกษา”

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาเพียบพร้อม แต่ “การศึกษา” คือปัจจัยสำคัญที่จะสานฝันให้เด็กที่เคยหลุดจาก "ระบบการศึกษา" ได้กลับเข้าสู่เส้นทางซึ่งอาจทำให้มีชีวิตดีขึ้น

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว... ‘แอน’ ชนาพร ถึงปัดชา เด็กสาววัย 15 ปี คือเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะเธอต้องดูแลยายไปพร้อมกับการหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและยาย จนไม่มีเวลาไปเรียนหนังสือ เธอถูกค้นพบโดยบังเอิญโดยผู้จัดการรายกรณี (CM: Case manager) จากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดขอนแก่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงพื้นที่จ่ายเบี้ยเลี้ยงยังชีพคนชราในพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็นเวลา 1 ปีแล้วที่แอนได้รับการช่วยเหลือ โดยมีครูประจำชั้นที่เป็นอาสามาเป็น CM คอยดูแลช่วยประสานทีมสหวิชาชีพร่วมออกแบบการช่วยเหลือ ประสานกับทางผู้อำนวยการโรงเรียนโคกโพธิ์ไชย กระทั่งแอนได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจากโครงการฯ และทุนการศึกษาจากภาคประชาสังคม ซึ่งคาดเดาว่าน่าจะพอทำให้แอนประคับประคองตนเองให้เรียนจนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้สำเร็จ

หากวันนี้จะถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของ ‘แอน’ ล่าสุดว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลังได้รับการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าวันนี้เธอเป็นนักเรียนโรงเรียนโคกโพธิ์ไชยศึกษา อำเภอโคกโพธิ์ไชย จังหวัดขอนแก่น แอนกำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยเกรดเฉลี่ย3.60 (เทอม1) แม้การเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้แอนเรียนได้ไม่เต็มที่นัก แต่เธอก็เชื่อว่าเกรดเฉลี่ยจะไม่ต่ำไปกว่า 3.50 แน่นอน เพราะอาชีพที่เธอตั้งใจไฝ่ฝันอยากยึดเป็นอาชีพหลักของเธอในวันนี้คือการเป็น‘ครู’

“ตอนแรกหนูอยากเป็นตำรวจ แต่ตอนนี้ต้องคิดใหม่เพราะความถนัดของหนูมันค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ การเป็นครูนาฎศิลป์ เพราะรายได้เสริมของหนูคือ การเป็นนางรำตามแต่ลูกค้าจะจ้าง งานละ 300-400 บาท แม้จะไม่มีงานทุกเดือน แต่งานลักษณะนี้เป็นเหมือนการสร้างประสบการณ์และความมั่นใจให้หนูอยากที่จะเป็นครูนาฎศิลป์ ส่วนความคิดที่จะเป็นตำรวจคงต้องเอาไว้เป็นอันดับสอง เพราะเวลาในการเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบเข้าตำรวจคงยาก”

ทุกวันหลังเลิกเรียนแอนจะต้องกลับมาดูแลยายที่ชราภาพและแม่ที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช

“ยายพอเดินได้ ส่วนแม่เพิ่งกลับมาอยู่ด้วยกัน เพราะป่วย แกมักจะทำร้ายตัวเอง ทำงานไม่ได้ต้องอยู่บ้านอย่างเดียว แต่แม่ไม่ชอบอยู่บ้าน แม่ชอบออกไปขอเงินหรือข้าวชาวบ้าน ซึ่งหนูไม่อยากให้แม่ทำอย่างนั้น ถ้าหนูกลับมาไม่เจอท่านก็ต้องออกตามหาตลอดเพราะเป็นห่วง”

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายแต่ละวัน เธอบอกว่า พออยู่ได้ไม่ถึงกับลำบากมากนักหากรู้จักประหยัดอดออมเธอบอกว่าแต่ละเดือนในครอบครัวซึ่งมีเพียงยายและแม่ จะมีรายได้จากเบี้ยชราภาพของคุณยาย 700 บาทและเบี้ยคนพิการของคุณแม่ 800 และมีเงินเดือนที่คุณพ่อส่งมาให้เดือนละ 1,000 บาท รวมเป็น 2,500 บาท

“ถามว่าพอไหมก็พอค่ะเงินจำนวนนี้หนูก็จะเอาไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าวสารอาหารในแต่ละวันเพราะหนูไม่ได้ใช้ซื้ออะไรนอกจากค่ากินอยู่ ถ้าบางเดือนไม่พอหนูก็จะไปเบิกเงินช่วยเหลือที่ กสศ.สนับสนุนไว้รวมถึงทุนทรัพย์ที่ผู้ใหญ่ใจดีมอบให้มาใช้บ้าง โดยทุกครั้งที่แอนจะเบิกจ่ายจะต้องทำรายรับรายจ่ายทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานกับครูผู้ดูแลทุนนี้ให้ ซึ่งหนูคิดว่าเงินจำนวนนี้น่าจะเพียงพอส่งตัวเองเรียนจนจบ ม.6 และอาจจะถึงปริญญาตรีได้”

“ถ้าถามว่าหนูอยากได้ความช่วยเหลืออะไรในตอนนี้ หนูคิดว่ายังไม่อยากได้อะไรค่ะ แต่ถ้าจบ ม.6แล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเรื่องค่าสมัครสอบ ค่าเอกสารต่าง ๆ และค่าเดินทาง”

แอนวางแผนเรื่องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาว่าเธออยากจะเรียนต่อให้จบปริญญาตรี แต่ก็เป็นห่วงว่ายายและแม่ จะไม่มีคนมาช่วยดูแล

ด้าน ‘ครูภาพ’ อาภาชนัญ ขอนศักดิ์ ครูโรงเรียนโคกโพธิ์ไชยศึกษา และผู้จัดการรายกรณี บอกว่า ถ้าน้องแอนไม่ได้เงินช่วยเหลือเมื่อปีที่แล้ว น้องแอนก็อาจจะหลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ทางโรงเรียนก็พยายามจะหาทุนช่วยเหลือน้องตลอด อีกทั้งพยายามปรึกษากับทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่นเพื่อช่วยเหลือน้องแอน เพราะในครอบครัวของน้องไม่มีใครเลยที่จะช่วยหารายได้เข้ามาจุนเจือ นอกจากพ่อแต่ก็ไม่ได้เป็นจำนวนมากนัก

ครูภาพ เล่าต่อว่า ตอนนี้แอนคาดหวังว่า เธอจะได้รับโอกาสจากหน่วยงานหรือผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนให้เธอเรียนต่อจนจบปริญญาตรี เธอจึงมุ่งมั่นเรียนรู้ให้มากที่สุด ส่วนปัญหาการดูแลแม่และยายที่แอนกังวลใจอยู่อาจจะต้องหาทางช่วยเหลือต่อไป เพื่อคลายภาระและข้อกังวลใจให้แอนได้เดินตามฝันที่ตั้งไว้ เพื่อเป็นที่พึ่งของครอบครัวต่อไปในอนาคต