ไม่มีสูตรสำเร็จ!! “การศึกษาโฉมใหม่” ต้องเรียนรู้ตามเด็ก

ไม่มีสูตรสำเร็จ!! “การศึกษาโฉมใหม่” ต้องเรียนรู้ตามเด็ก

โรงเรียนแบบไหน? ที่เด็กต้องการเรียน คำถามเหล่านี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้นในสังคมไทย เพราะเมื่อเทียบกับในอดีต ไม่ว่าหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน กฎระเบียบในโรงเรียนต้องไปตามข้อบังคับที่เด็กไม่ได้กำหนด

ยุคสมัยนี้ โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ มากมาย “โรงเรียน” ยังคงเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้แก่เด็ก แต่ “ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน” คงไม่ใช่ทำหน้าที่สอน สั่งให้เด็กทำนั้น นู้น นี่ได้เพียงอย่างเดียว เพราะหากยังคงปฎิบัติแบบเดิมๆ คงไม่มีเด็กคนไหนอยากไปโรงเรียน

  • การศึกษาไม่ควรเป็นความทุกข์เด็ก

รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี อดีตคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานบริหาร โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า

การศึกษาไม่ควรเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน  ไม่ควรเป็นความทุกข์ของนักเรียน ของครู ของผู้ปกครอง หรือของใคร ซึ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครู เด็กกับพ่อแม่ และพ่อแม่กับครูก็เปลี่ยนแปลงไป  คำว่าล้างสมอง การศึกษาคงไม่สามารถสมองใครได้ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

“สาธิต มธ. ได้จัดการเรียนการสอนโดยนำโจทย์ของโลกที่มีการเปลี่ยนไปเป็นตัวตั้ง ซึ่งคนในยุคนี้ อาชีพในอนาคตเขาจะเปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างดิสรัปไปหมด และปัจจุบันคนที่ทำมาหากินอยู่มีหลายอาชีพที่เรานึกไม่ถึง คนที่ร่ำรวยขึ้นมาอาจจะไม่ได้ทำอาชีพหลัก อย่าง อาชีพหมอ วิศวะ และหมอเองก็จำเป็นต้องมีความที่หลากหลาย  เด็กในยุคนี้ เจนนี้เขาเติบโตมาไม่เหมือนคนในยุคพ่อแม่ ต้องมีวิธีการเรียนรู้ เติบโตที่แตกต่างกับอดีต” รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว

 

  • หลักสูตรใหม่ เกิดจากLearning styleเด็ก

สิ่งที่สาธิต มธ. ดำเนินการไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนไม่มีเครื่องแบบ ไม่เคร่งครัดเรื่องทรงผม ไม่เคารพธงชาติ สวดมนต์ตอนเช้า ไม่มีฝ่ายปกครองมีแต่ฝ่ายสนับสนุนนักเรียนและกิจกรรม ไม่มีการเรียนลูกเสือ เป็นต้น

รวมถึงมีรายวิชาใหม่ๆ เช่น วิชาวัยรุ่นศาสตร์ วิชาอยู่รอดปลอดภัย วิชารู้ทันการเงิน วิชาเสพศิลป์และกลิ่นเสียง วิชาวิถีศรัทธา (ครอบคลุมทุกศาสตร์) วิชารู้เท่าทันสื่อ วิชาว่ายน้ำเพ่อเอาชีวิตรอด วิชาผู้ประกอบการ ทุกวิชาเป็นการเรียนรู้แบบใฟม่ๆ ที่สอดคล้องกับ Learning style ของเด็กรุ่นใหม่ อีกหนึ่งโจทย์ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมธ.นำมาใช้ในการปรับหลักสูตร

รศ.ดร.อนุชาติ  กล่าวต่อว่า โรงเรียนสาธิตแห่งมธ. น้อมรับปรากฎการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น เราได้มีการออกแบบ พื้นที่การเรียนรู้ที่ดี  ซึ่งโรงเรียน อยู่ภายใต้สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มธ. เรามีคำขวัญ ว่าร่วมสร้างสังคมแห่งความเคารพและการเรียนรู้ร่วมกัน ความหมายคือ มนุษย์เติบโตขึ้นมาได้และอยู่ในโลกที่มีความหลากหลาย โดยเชื่อว่าความหลากหลายเป็นสิ่งที่งดงาม

ความขัดแย้งการเมือง ความขัดแย้งในมุมต่างๆ เกิดขึ้นจากการที่เราขาดความเป็นบัดดี้ ขาดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ว่าเราจำเป็นที่ต้องอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีไลฟ์สไตล์เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันได้และเป็นมิตรต่อกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุดมคติ และเป็นโจทย์อีกตัวที่เราอยากจะให้นักเรียนของเรามีอัตลักษณ์ดังกล่าว เราอยากออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่มีความพร้อมในการออกไปเผชิญโลกได้ มีรากของความเป็นไทยที่แข็งแรง รู้จักโลก รู้จักการเปลี่ยนแปลง ยอมรับความแตกต่าง หลากหลายได้”ประธานบริหารโรงเรียนสาธิต มธ. กล่าว

 

  • 3 ประเด็นที่ต้องรู้...เปลี่ยนการศึกษา

รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวต่อไปว่า การเปลี่ยนโรงเรียนนั้นต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ซึ่ง 3ประเด็นใหญ่ที่เราพบในการศึกษา คือ 1.ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีความทุกข์มาก เด็กก็มีความทุกข์ ไม่อยากไปโรงเรียน การไปโรงเรียนเป็นเหมือนยาขม ถ้าเด็กไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเจอครู ถือเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และเมื่อไปพูดคุยกับครู ครูก็เป็นทุกข์ เพราะครูรับมือกับเด็กไม่ได้ ไม่รู้ว่าเด็กปัจจุบันที่อยู่ข้างหน้าเราเขาเป็นอย่างไร

ขณะที่พ่อแม่กังวลว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร และพ่อแม่หลายคนไม่สามารถพูดคุยกับลูกได้ มีความกังวล ว่าลูกจะเรียนได้หรือไม่ จะใช้ชีวิตอย่างไร ดังนั้น ต่อพ่อแม่มีเงินมหาศาลแต่พ่อแม่ก็เป็นทุกข์อยู่ดี  พ่อแม่หลายคนเลือกส่งลูกไปต่างประเทศ หลายคนประสบความสำเร็จแต่หลายคนก็ไม่ใช่  ส่วนผู้ประกอบการ ที่จะรับบัณฑิตเข้าสู่องค์กรก็ทุกข์ ทำไมเด็กสมัยนี้ไม่ได้ตามที่เขาคาดหวัง  ทำไมทำงานไม่เป็นทั้งที่เกรดเฉลี่ยระดับดีหรือดีมาก  ทุกคนที่เกี่ยวข้องทุกข์ไปหมด

“หลายคนกล่าวไว้ว่า สิ่งที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์เหล่านี้ โดยเฉพาะบริบทของสังคม มันเกิดปรากฎการณ์ดั่งเครื่องยนต์ที่หลุด ระบบทำให้ทุกส่วนผลัดพลาดออกจากกัน ครูไม่เชื่อมโยงกับเด็ก  ครูไม่เชื่อมโยงกับพ่อแม่ โรงเรียนไม่เชื่อมโยงกับครู ซึ่งคำว่าเชื่อมโยงในที่นี้ หมายถึงความสัมพันธ์อันดี ความสัมพันธ์เกื้อกูล ช่วยเหลือ สนับสนุนกัน การเลี้ยงลูกที่บ้านกับที่โรงเรียนควรไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เด็กเติบโตไม่แบบงง ฉะนั้น โจทย์ข้อที่ 1 ของโรงเรียน คือ ต้องการทำความเข้าใจและแก้โจทย์เหล่านี้ เพื่อให้เด็กมาโรงเรียนแล้วมีความสุข มาโรงเรียนแล้วมีความสัมพันธ์กับครู เพื่อนที่ดีต่อกัน และครูกับผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่อยู่กันด้วยความเครียด”รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว

  • โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็ก

ประเด็นที่ 2 โรงเรียนออกแบบบนฐานความเข้าใจของเด็กในGenปัจจุบัน ว่าเขามีพัฒนาการการเติบโต  การเรียนรู้ และวิถีการเรียนรู้เป็นอย่างไร โรงเรียนสาธิตแห่งมธ.อาศัยการศึกษาค้นคว้าจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ออกแบบโดยเชื่อมโยงกับเด็กมากที่สุด  โดยสิ่งที่ค้นพบ  คือ การมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กม.1-ม.6 สำคัญมาก ซึ่งการมีพื้นที่ปลอดภัย ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาการของเด็ก ต่อร่างกาย จิตใจและอารมณ์อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กช่วงวัยมัธยมต้น เขากำลังค้นหาตัวเอง กำหนดอัตลักษณ์ รูปร่าง อนาคต ความชอบของเขาคืออะไร การฟอร์มอัตลักษณ์ของตัวเองเป็นโจทย์ใหญ่ของเด็กในช่วงวัยนี้  

การกักเกณฑ์บังคับให้เป็นไปตามที่เด็กไม่อยากเป็น การสอนโดยบังคับ สั่งการให้เป็นไปตามผู้ใหญ่ เด็กจะปฎิเสธ ซึ่งการปฎิเสธของเด็กไม่ใช่ หมายถึงการไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่มันไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เขาต้องการ หลักการที่เราจะต้องมาคำนึงถึงในการออกแบบเปลี่ยนจากกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ กติกามาจิตวิทยาเชิงบวก ชวนเขาคุย ชวนเขากำหนดกติกาของเขาเอง และปลดเปลื้องบางอย่างที่เป็นกฎเกณฑ์และพาเขาไปสู่แก่นแกนของเรื่องได้ เราจึงไม่บังคับเด็กต้องตัดผม แต่การไว้ผมยาวหรือผมสั้น หรือย้อมผม เขาต้องดูแลรับผิดชอบตัวเอง วินัยเกิดจากตัวของเขาเอง ไม่ได้เกิดจากภายนอกที่บังคับเขา” ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมธ. กล่าว

  • อย่ารีบวางกรอบให้เด็กแต่สร้างระบบนิเวศที่ดี

รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวอีกว่าสำหรับประเด็นที่ 3 หลักสูตรและการออกแบบกระบวนการเรียนการสอน เราสอนเด็กรุ่นใหม่ก็ต้องสร้างพื้นที่ให้แก่พวกเขา  เราอยากเห็นสมรรถนะเด็กที่มีทั้งความรู้ ทักษะ มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน กระบวนการเรียนรู้จำเป็นที่ต้องมีนวัตกรรม ให้พวกเขาค้นคว้าตลอดเวลา และต้องจัดรายวิชาใหม่ ต้องปรุงใหม่ เพราะเด็กไทยสามารถเรียนรู้ได้ไม่ด้อยกว่าเด็กอื่นๆ แนวทางการออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนจึงต้องดึงดูดความสนใจพวกเขา

“ม.ต้น เด็กจะเรียนรู้อย่างหลากหลาย ส่วนม.ปลายจะเรียนรู้แบบลงลึก โดยที่นี่จะไม่มีสายวิทย์ สายศิลป์ แต่เด็กจะค้นหาตัวเอง และลงลึกในการเรียนวิชาใหม่ๆ เด็กจะเริ่มหาเข็มทิศของพวกเขาเจอ ต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่ม.ต้น ให้เขาเผชิญโลกที่หลากหลาย การเรียนที่หลากหลาย กระบวนการเรียนการสอนต้องทำให้สนุก เรียนแล้วอยากเรียนต่อ อยากรู้ต่อ เรียนแล้วต้องเชื่อมโยงกับชีวิตให้ได้  และเมื่อเรียนม.ปลายเขาจะเลือกเรียนลงลึกในรายวิชาที่ตนเองต้องการ เป็นการออกแบบวิชาที่เหมาะสมกับสุขภาวะของเด็กในวัยนี้ เพื่อแก้ปัญหาความเครียด ปัญหาการรู้จักตัวตน และการเปลี่ยนแปลงทั้งกาย ใจ อารมณ์”รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว

  • ประเมินผลตามพัฒนาการ ความแตกต่างเด็ก

ขณะที่การวัดและประเมินผล โจทย์ใหญ่ที่ทำให้เด็กไทยมีความเครียด เพราะระบบการศึกษาไทยอยุ่ภายใต้การแข่งขัน เป็นระบบพีระมิดคนเก่ง คนดี คนได้เกรดสูงๆ  คนที่อยู่หน้าห้องเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ

ประธานบริหารโรงเรียนสาธิตแห่งมธ. กล่าวด้วยว่า ระบบวัดและประเมินผลของโรงเรียนเปลี่ยนใหม่หมด เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีพัฒนาการ  มีความแตกต่างหลากหลาย  ทำให้เราไม่เน้นการประเมินโดยใช้วิธีการสอนครั้งเดียว แต่เป็นการเก็บสะสมคะแนน จากการบ้าน และผลของการประเมินไม่ได้ออกมาเป็นเกรด  แต่ละวิชาที่เขาเรียน  เช่น วิธีศรัทธา ว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด ครูจะมีระดับบอกว่าวิชานี้ เด็กทำได้มาตรฐาน ปานกลาง ทำได้ดีมาก หรือควรพัฒนาต่อ  และด้วยเหตุผลอะไร

“การวัดและประเมินผลโดยออกเป็นเกรด กับออกเป็นสเกลอย่างโรงเรียนสาธิตแห่งมธ. ทำนั้น แตกต่างกัน เพราะการบอกเป็นสเกล ไม่ได้ทำให้เด็กเครียด ไม่ใช่การแข่งขัน และเมื่อครบภาคเรียน เด็ก ครู และพ่อแม่ จะมานั่งหารือร่วมกันว่าผลประเมินเด็กออกมา เด็กมองอย่างไร ครูมองอย่างไร และผู้ปกครองมองอย่างไร โดยครูจะถามความคิดเห็นจากเด็กว่าอยากพัฒนาอะไรให้ดีขึ้น และถ้าพัฒนาต้องการช่วยเหลืออย่างไร ส่วนพ่อแม่จะมีบทบาทในการมาเสริมเด็ก เป็นต้น”รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว

  • เด็กมีทางเลือก ลดการแข่งขัน

เด็กทุกคนจะรู้สึกว่าแต่ละคนมีดีของตัวเอง อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นๆ ทุกคนมุ่งมั่นอยากทำในสิ่งที่ตัวเองมีให้ดี รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวอีกด้วยว่าการอยู่ร่วมกันกับความหลากหลายให้ได้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เด็กค้นหาค้นพบไปเรื่อยๆ และเขาจะเจอข้อจำกัด หรือเจอสิ่งที่จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ ลดการชิงดีชิงเด่นลง แต่ทุกคนจะค้นหาศักยภาพของตนเองที่หลากหลายได้

นอกจากนั้น ระบบการศึกษาแบบใหม่ ต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับครู พ่อแม่กับครู และพ่อแม่กับลูกร่วมด้วย เพราะตอนนี้แต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน พ่อแม่ยังคาดหวังกับลูก และความคาดหวังเหล่านี้ทำให้มีข้อจำกัดในการสื่อสารกับลูก ระบบการศึกษาต้องพยายามเปิดห้องเรียนพ่อแม่ พ่อแม่ควรลดความคาดหวังจากลูกและปรับให้สอดคล้องกับอนาคตของลูก

  • ระบบการศึกษาโฉมใหม่ ไม่มีสูตรสำเร็จ

รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่าการศึกษาโฉมใหม่ ยุคใหม่จะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างครูกับนักเรียน ครูกับพ่อแม่ พ่อแม่กับลูก ทำให้พ่อแม่มีบทบาทในโรงเรียนมากขึ้น ขณะที่ครูต้องเปลี่ยน Mindset เด็กมาจากครอบครัวที่ต่างกัน ครูต้องปรับการเรียนการสอน เป็นผู้ให้คำชี้แนะ และครูไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันเด็ก ทำให้การเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตของเด็ก

การปล่อยให้เด็กมีอิสระในการเลือกเรียน ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายถึงเสรีภาพในการตัดสินใจ เพราะหากเป็นเสรีภาพอาจถูกมองว่าทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน แต่อิสระในที่นี้ คือ เราเคารพในความแตกต่างหลากหลาย และยอมอนุญาตให้เด็กมีพัฒนาการตามช่วงวัย  อยู่รวมกับผู้อื่นได้ เด็กๆ จะรู้ขอบเขตของตนเอง” รศ.ดร.อนุชาติ กล่าว

  • แนะโรงเรียนรัฐขบคิดระบบการศึกษา

เช่นเดียวกัน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ประธานสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค ระบุว่า  อยากให้โรงเรียนของรัฐ (Public School) ซึ่งเป็นการศึกษาสำหรับปวงชน (Mass Education) ดีขึ้น ต้องทบทวนหรือขบคิดเรื่องดังต่อไปนี้  1. คืนความเป็นอิสระจัดการตนเองได้ในทางวิชาการ ให้กับโรงเรียน 2. ลดและงดการควบคุมสั่งการให้ทำตามนโยบายจากสำนักต่าง ๆ ที่ไม่มีการจัดวางลำดับความสำคัญและบูรณาการงานก่อนคำสั่ง/นโยบายจะถึงโรงเรียน จะช่วยลดภาระงานโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเอกสารรายงานโครงการต่าง ๆ ได้มากโข

3. เกลี่ยและจัดหาอัตราบุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ธุรการทั้งหลายให้โรงเรียนมีเพียงพอที่จะไม่ไปดึงเวลาครูจากงานสอน งานดูแลนักเรียน มาจมอยู่กับงานธุรการในหลายหน้างาน

4. จัดงบประมาณ ทรัพยากรการศึกษา และจำนวนครูให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะและขนาดของโรงเรียน บนฐานคิดความเท่าเทียม โรงเรียนเล็ก ต้องได้เงินรายหัวของผู้เรียนในอัตราที่มากกว่า โรงเรียนใหญ่ มีทรัพยากรเพียงพอ ไม่ต้องดิ้นรนทอดผ้าป่าจ้างครูกันเองตามยถากรรมฯลฯ

“ในระยะสั้น ระยะกลางหากดำเนินการตามนี้ก็สามารถส่งเสริมให้โรงเรียนค่อย ๆ มีความเป็น Autonomous School ได้ ไม่ใช่แค่หวังโรงเรียนเป้นนิติบุคคลจะได้ตั้งเรตค่าจ้างครู แย่งครูเก่ง ๆ หรือเปิดหลักสูตรสองภาษา ซื้อหลักสูตรนานาชาติมา เพื่อหวังแย่งเด็กกัน” ผศ.อรรถพล กล่าว

ทุกโรงเรียนควรจะเก่งในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องลอกเลียนแบบ หริอหยิบยกโมเดลจากที่ไหนมาเป็นกรอบการทำงานของโรงเรียน จำนวนเด็ก ๆ ก็มีน้อยลงอยู่แล้ว โรงเรียนจะมีที่นั่งเหลือเฟือ ต้องเดินหน้าลดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน ไม่ควรปล่อยให้โรงเรียนขนาดใหญ่และใหญ่พิเศษ เป็นแม่เหล็กดึงดูดเด็กและทรัพยากรไปกระจุกอยู่เพียงไม่กี่ร้อยโรง แต่ปล่อยของให้อีกหลายพันหมื่นค่อย ๆ มีจำนวนเด็กน้อยลงจนต้องทยอยปิดตัว ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในกรณีนี้คือ ชนบทจะถูกทอดทิ้งรุนแรงมากขึ้น

  • การศึกษาต้องพัฒนา ย่ำอยู่กับที่ไม่ได้

อ.อธิษฐาน คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมผู้บริหารก่อการครู กล่าวในงานเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมอง “การศึกษาแบบใหม่ กับความท้าทายในระบอบสังคมเดิม”  ตอนหนึ่งว่า คำว่าใหม่ทุกวันนี้ เมื่อผ่านไปกี่นาทีก็กลายเป็นเรื่องเก่าแล้ว การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการศึกษารูปแบบใหม่แต่อาจจะไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้และต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ย่ำอยู่กับที่ไม่ได้

“การจัดการศึกษาของโรงเรียนสาธิตแห่งมธ. เราไม่ได้ทิ้งของเก่า แต่มองว่าอะไรที่เป็นความทุกข์ของระบบการศึกษา  อะไรที่ทำให้การศึกษาไทยย่ำอยู่กับที่ เราเอามาคลี่ออกและทำให้คนที่อยู่ในระบบการศึกษาเจ็บปวดลดลง โดยคนในโรงเรียน ต้องเปลี่ยนmindset ทำงานร่วมกับพ่อแม่ สร้างระบบนิเวศการศึกษา สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ การเติบโจให้เหมาะสมแก่เด็กในแต่ละช่วงวัย  ต้องไม่ใช่ระบบที่กดทับความคิดของเด็ก”อ.อธิษฐาน กล่าว

  •  มองเห็นนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น

อ.นาฎฤดี จิตรรังสรรค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุจิปุลิ กล่าวว่าการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ แต่เด็กเรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อรู้จักตนเอง รู้จักเป้าหมายของตนเอง และเรียนรู้อย่างมีความหมายของเด็กเอง  โดยความหมายของเด็กแต่ละคนไม่เหมือน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น เป้าหมายหรือมุมมองของการศึกษาในอนาคตต้องการแบบไหน ต้องมาทบทวนเรื่องนี้

โลกในปัจจุบันไม่เหมือนเดิม เด็กอาจต้องเตรียมตัวเพื่อใช้เทคโนโลยี หรืออาชีพที่ไม่มีในวันนี้ หรือ โลกที่เขาไม่รู้ ชุดความรู้แบบเดิมที่รอให้ครูบอก ครูสอน และไปอ่านหนังสือมาสอบไม่ได้มีประโยชน์ต่อเด็กในอนาคต ซึ่งเด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองถนัด สนใจ และมั่นใจในความกล้าในการแสดงออกอย่างมีความอ่อนน้อมถ่อมตนตามวิถีไทย ไม่ใช่มีเพียงความกล้าเท่านั้น

“การศึกษาแบบใหม่ เรามองว่าไม่ได้ใหม่ทั้งหมด เพราะของเก่าไม่ได้ล้าสมัยทั้งหมด ของเก่าหลายอย่างดีและนำมาใช้ในปัจจุบันได้ เช่นเดียวกันของใหม่ก็ใช่ดีทั้งหมด ฉะนั้น สิ่งที่เป็นแนวการศึกษาแบบใหม่ เป็นนำแนวคิดดีๆ จากอดีตมาต่อยอดให้เป็นแนวคิดใหม่ๆ แนวคิดระดับสากลที่สามารถส่งเสริม และพัฒนาผู้เรียนได้เต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ เรามองเห็นนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น เราไม่ตัดสินเด็กว่าเด็กคนไหนเก่งกว่าใครอ.นาฎฤดี กล่าว

เป้าหมายของเด็กยุคใหม่ คือ เขาต้องค้นหาให้พบว่า เขารักอะไร ถนัดอะไร และต่อยอดในสิ่งที่ถนัด ที่ชอบไปสู่อาชีพเขาได้หรือไม่ เพราะการที่เขาได้ทำในสิ่งที่รัก ที่ถนัด เมื่อเขาเจอปัญหาในการทำงานเขาก็จะมองว่าเป็นความท้าทาย สนุก และมีความสุขในการใช้ชีวิต จะทำให้เขาอยู่รอดในโลกอนาคตอย่างมีความสุข อีกทั้งต้องพัฒนาเด็กแบบองค์รวม ทั้งกาย สติปัญญา อารมณ์