โควิด19ระดับคุมได้ สิ้นพ.ค.ยกเลิก "พรก.ฉุกเฉิน"หรือไม่
“อนุทิน”ระบุโควิด19 เป็นตามคาดลดลง เตรียมลุยผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น เปิดประเทศ ยกเลิก Thailand Pass กลุ่มคนไทย หลังโควิด19ควบคุมได้ โยนศบค.พิจารณาต่อพรก.ฉุกเฉินหรือไม่เมื่อสิ้นพ.ค. เร่งฉีดวัคซีนโควิด19เข็ม3ให้ได้ 60 % ก่อนเป็นโรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึง สถานการณ์โควิด19 และการผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อไปว่า สถานการณ์โควิด19 ขณะนี้ อัตราเสียชีวิตและผู้ป่วยหนัก แนวโน้มลดลง เป็นไปตามที่กรมควบคุมโรค(คร.)คาดการณ์หากผ่านสงกรานต์มาระยะหนึ่งแล้วความร่วมมือประชาชนยังอยู่ระดับนี้ และอัตราการครองเตียงอยู่ที่ประมาณ 20 % ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย 3 พอ คือ แพทย์พอ ยาพอ และเตียงพอ ก็จะค่อยๆเดินสู่แนวทางสู่โรคประจำถิ่นให้ได้มากที่สุด
“อัตราผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาต่างประเทศน้อยกว่าในประเทศ อย่างวันนี้ (5 พ.ค.) พบติดเชื้อ 9 ราย แต่ในประเทศพบ 9,000 ราย ต่างกัน 9 ต่อ 9,000 เทียบกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะติดตามต่อระยะสั้นๆ หากสถานการณ์ยังควบคุมได้ ก็จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆมากขึ้น เน้น เศรษฐกิจ การตรวจ และการเปิดโรงเรียน โดยระบบสาธารณสุขมีความพร้อมรองรับ 3 พอ ให้ประชาชนใช้ชีวิตและทำมาหากินมากที่สุด”นายอนุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการผ่อนคลายในเรื่องการเปิดประเทศมากขึ้น นายอนุทิน กล่าวอีกว่า มีการผ่อนคลายมากแล้ว การเข้าประเทศเหลือการให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง ส่วนในระยะต่อจะเริ่มมีการยกเลิกการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ในกลุ่มคนไทยที่เดินทางเข้ามาในประเทศก่อน เพราะเป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าประเทศไทยได้เสรี ไม่มีประกันสุขภาพก็ต้องให้เข้า เพราะมีสิทธิรักษาพยาบาลในประเทศอยู่แล้ว ส่วนชาวต่าง ก็จจะมีการพิจารณาในระยะต่อไป
เมื่อถามว่า พรก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.นี้ จำเป็นต้องต่อออกไปอีกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีกิจกรรมมากมาย จึงอยู่ที่ ศบค.พิจารณา แต่การที่ยังคงพรก.ฉุกเฉินไว้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อน แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน แต่เมื่อมีการประกาศให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นโดยสมบูรณ์ คือ ติดเชื้อไม่เสียชีวิต หายาได้ตามร้านขายยาทั่วไป ดำรงชีวิตได้ตามปกติ ในส่วนของพรก.ฉุกเฉินก็คงไม่จำเป็น เนื่องจากตอนแรกที่มีพรก.ฉุกเฉิน เพราะมีความจำเป็นในการควบคุมสถานการณ์เนื่องจากสธ.ไม่มีอำนาจไปดำเนินการบางอย่าง เช่น การสั่งกักตัว หรือ ปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ
ถามต่อว่า ถ้ายกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ประเทศไทยมีกลไกรองรับกรณีโรคระบาดไว้อย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ว่า ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก การประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี ท่านพยายามให้ศบค.มีส่วนร่วม จะขยายต่อ ก็ต้องผ่าน ศบค. ในส่วนทางด้านสาธารณสุขนั้น มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ที่ต้องมีไว้ เพราะการเดินทาง การตรวจเชื้อ การแยกกัก การติดตาม การบังคับใช้กฎหมายในการปิดสถานประกอบการต่างๆ จะให้แพทย์ไปทำหน้าที่เป็นตำรวจไม่ได้ ต้องใช้เจ้าพนักงานที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้
ถามถึงมาตรการที่จะเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นให้ได้ตามเป้า 60 %ตามเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่น นายอนุทิน กล่าวว่า จะให้แจกของเพื่อให้คนมาฉีดไม่ทำแน่นอน ได้แต่แจ้งประชาชนให้ทราบข้อมูลว่าการฉีดวัคซีนมีความสำคัญและจำเป็น มีผลดีต่อประชาชน โดยคนที่ฉีดเข็ม 2 แล้วควรเข้ารับเข็ม 3 และรับเข็ม 3 แล้วควรรับเข็ม 4
"กว่า 3 เดือนแล้วที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 90 %เป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่าความอันตรายของโรคอยู่ที่ไม่ได้รับวัคซีน หากได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ก็จะลดอันตราย และสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น ขอความร่วมมือประชาชนให้มาฉีดวัคซีนทุกเข็ม เพราะ 3 เดือนที่ผ่านมาเห็นชัดผู้ป่วยที่เสียชีวิต มากกว่า 90 %ไม่ได้ฉีดวัคซีน"นายอนุทินกล่าว