"ทุ่งแสลงหลวง" ต้นแบบอุทยานปลอดเหล้า-บุหรี่
สสส. - สคล. ชู ไอเดีย "แอลกอฮอล์พอกันที" จับมือ อุทยานทุ่งแสลงหลวง สร้างต้นแบบ เข้ม "ไม่เอาเหล้าเข้าอุทยาน” ชวนสายแคมป์ไปทำโป่ง สร้างเขตปลอดเหล้า-บุหรี่ เตือนสายเมาเปลี่ยนที่ดื่ม เคารพสถานที่ ช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก จัดกิจกรรมจิตอาสา“ไปแคมป์ ทำโป่ง” ชวนนักท่องเที่ยวร่วมกันช่วยดูแลระบบนิเวศป่าในอุทยานฯ เพื่อสนับสนุนและแบ่งเบาการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรของชาติ ตั้งเป้าสร้างพื้นที่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้นแบบสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
นายนครินทร์ สุทัตโต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กล่าวว่า เนื่องจากคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ป่าทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ รวม 14 ป่า ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่า รวมถึงมีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ ทำให้กรมป่าไม้สำรวจเขตป่าทุ่งแสลงหลวงขึ้นมา เพื่อกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และได้เสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ให้มีมติเห็นชอบกำหนดให้ป่าทุ่งแสลงหลวง เนื้อที่ประมาณ 801,000 ไร่ เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 3 ของประเทศไทยที่มีอาณาเขตใหญ่ ทำให้การดูแลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำกัด ทั้งการทิ้งขยะให้ตรงจุด การลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายนครินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเขตอุทยานฯ มีการคุมเข้มกว่า 10 ปี เนื่องจากเคยมีเหตุที่นักท่องเที่ยววัยรุ่นดื่มจนเกิดการทะเลาะวิวาท จนมีคนบาดเจ็บและเสียชีวิต ทางกรมฯ จึงออกมาตรการ ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวเด็ดขาด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวซ้ำรอยให้มากที่สุด เพราะการดื่มอาจทำให้เกิดเสียงดัง ควบคุมสติไม่ได้ จนเกิดการกระทบกระทั่งและต่อมากรมฯ ได้ประกาศมาตรการเด็ดขาดในการห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามา และกำหนดให้เขตอุทยานฯ ทุกแห่งในประเทศต้องเป็นเขตปลอดสุรา และขอความร่วมมือกับนักท่องเที่ยวในการทำตามระเบียบ
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า รายการ L-No More (แอลกอฮอล์พอกันที) ได้ขับเคลื่อนร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มีเป้าหมายนำเสนอเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ ส่งต่อแง่มุมการใช้ชีวิตให้คนอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้เป็นวิถีแห่งการใช้ชีวิตปัจจุบัน
ขณะที่จุดเริ่มต้นที่เข้าไปร่วมกับอุทยานทุ่งแสลงหลวง เพราะหลังจากถ่ายทำรายการได้ทราบความลำบากในการทำภารกิจของเจ้าหน้าที่ จึงผลักดันให้เกิดกิจกรรม "แอลกอฮอล์พอกันที" ชวนสายแคมป์ไปทำโป่งขึ้นมา เพื่อสร้างสำนึกรักธรรมชาติ โดยคาดหวังว่าจะใช้กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและแบ่งเบาการดูแลอุทยานฯ โดยเฉพาะเรื่องง่ายๆ ที่ทำเริ่มได้จากตัวเอง คือการไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่ม และไม่สูบบุหรี่ ในเขตห้ามสูบของอุทยานฯ เพื่อสร้างความปลอดภัยและไม่รบกวนนักท่องเที่ยว ผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : L-NO MORE
นายสมโชค เพ็งลี กลุ่มนักท่องเที่ยว จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ครอบครัวชอบเที่ยวสายแคมป์ปิ้ง สำหรับการท่องเที่ยวในอุทยานฯ จะมีมาตรการดูแล โดยที่เราต้องคำนึงถึงธรรมชาติ ขณะนี้ได้มีระเบียบห้ามนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกเข้ามาในอุทยาน เพราะอาจทำลายระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ เพราะสัตว์ป่าอาจกินเข้าไปจนทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต นอกจากนี้เรื่องการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่มในเขตอุทยานฯ ต้องคำนึงว่ามาท่องเที่ยวดื่มด่ำกับธรรมชาติ ไม่ใช่มาเปลี่ยนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจะต้องเคารพในมาตรการหรือกฎระเบียบของอุทยานอย่างเคร่งครัด
นางสาวหทัยรัตน์ ทองมาก ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมไปแคมป์ทำโป่ง ของอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง กับรายการ L-No More ของ สสส. และเครือข่ายงดเหล้า ได้ศึกษาว่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบในอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด เพราะนอกจากจะอยู่ในจิตสำนึกแล้ว จะต้องไม่รบกวนเพื่อนนักท่องเที่ยว การไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาดื่ม และไม่สูบบุหรี่ เป็นการสร้างบรรยากาศธรรมชาติที่สวยงาม หากเราช่วยกันทำตามกฎกติกา จะช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ และฝากถึงนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาว่า “เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า และเราจะไม่เก็บอะไรออกไปนอกจากภาพถ่าย”
นายดิษฐพล นางชนิดา และเด็กชายวีรชาติ วสิกรัตน์ ครอบครัวผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จากจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ดีมาก เป็นกิจกรรมที่ประทับใจ เพราะได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ได้มีโอกาสมาทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำ เพราะกิจกรรมแบบนี้ไม่ใช่เราเข้ามาขอทำได้เลย แต่การทำกิจกรรมกลุ่มแบบนี้ทำให้ประชาชน เยาวชน ได้มีโอกาสรับรู้ มีส่วนร่วมเพื่อทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ทำให้ได้ทราบถึงขั้นตอนวิธีการทำโป่ง และทำเพื่ออะไร สิ่งนี้มีประโยชน์ต่อสัตว์ป่าอย่างไร สำหรับการร่วมกิจกรรมลักษณะนี้ เหมาะกับนักท่องเที่ยว ทั้งแบบครอบครัว แบบกลุ่มเพื่อน รวมถึงคนหากิจกรรมจิตอาสาที่ต้องการอยากทำเพื่อสังคมครับ