กางแผนทส.อนุรักษ์ "โลมาอิรวดี" 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา
"ท็อป วราวุธ" ถาม-ตอบ ไขข้อข้องใจ แผนอนุรักษ์“โลมาอิรวดี” 14 ตัวสุดท้ายแห่งทะเลสาบสงขลา และ “นกกรงหัวจุก”จะปลดจากสัตว์ป่าคุ้มครองได้หรือไม่
เมื่อเร็วๆนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดวงพูดคุยกับสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารกับนักข่าว จากการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ปรับเป็นวงสนทนาถาม-ตอบพูดคุย อย่างเป็นกันเอง ร่วมด้วย นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมวงสนทนา
นายวราวุธ กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเด็นข่าวดราม่าเกี่ยวกับสัตว์ทะเล ที่เกิดขึ้นในรอบเดือน เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งดราม่าปูเสฉวน จนถึง โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ที่ทะเลสาบสงขลา ที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งอยู่ในความสนใจของสังคม จึงถือโอกาสนี้เชิญพี่น้องสื่อมวลชน มาร่วมวงพูดคุยเพื่ออัพเดทสถานการณ์และผลการทำงานอนุรักษ์ที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางต่อไปในอนาคต
เริ่มด้วยแนวปะการัง ที่ฟื้นตัวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา และแหล่งหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูน ส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ 52% ป่าชายเลนคงสภาพ กว่า 1.7 ล้านไร่ มีการพบเห็นสัตว์ทะเลหายากเพิ่มขึ้นทั้ง โลมา ฉลาม วาฬ และฉลามวาฬ รวมถึงเต่าทะเลที่มีการวางไข่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จาก 373 รัง ถึงปีล่าสุด 502 รัง ด้านพะยูน หลังจากเหตุการณ์สูญเสีย "น้องมาเรียม" เมื่อปี 62 ทำให้เกิดแผนแม่บท "มาเรียมโปรเจคท์" ในการอนุรักษ์พะยูน ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 221 ตัว เพิ่มเป็น 255 ตัว
แผนรักษาโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย
สำหรับประเด็นล่าสุดคือ โลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ในทะเลสาบสงขลา นายวราวุธ กล่าวว่า นอกจากการรักษาสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารแล้ว การผสมพันธุ์แบบเลือดชิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลมาตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงจากปัญหาสุขภาพ ขณะนี้ได้เร่งรัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งศึกษาแนวทางการผสมเทียมกับโลมาอิรวดีจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาสายพันธุ์โลมาอิรวดีฝูงนี้ไว้ ควบคู่กับแผนระยะสั้น คือการเข้มงวดกวดขันพื้นที่ ดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่
นายวราวุธ เน้นย้ำว่า ขณะนี้ประเทศไทยกลับมาเปิดประเทศ รับการท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาด Covid-19 ดังนั้น ทรัพยากรธรรมชาติที่ฟื้นตัวกลับมาสวยงามสมบูรณ์ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นแม่เหล็กอย่างดีที่จะดึงดูดรายได้จากการท่องเที่ยว ให้กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง จึงอยากฝากถึงคนไทยทุกคน ช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ขอให้สวมบทบาทนักอนุรักษ์ควบคู่กับการเป็นนักท่องเที่ยวในทุกที่ที่ไป เพื่อรักษาแม่เหล็กท่องเที่ยวไว้ให้อยู่ในสภาพดี เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้คนไทยไปนานๆ
ปะการังฟอกขาว
โดยในช่วงท้ายของการพูดคุย สื่อมวลชนได้ตั้งคำถามถึงปัญหาปะการังฟอกขาว รวมไปถึงแนวคิดในการปรับเพิ่มอัตราค่าเข้าชมอุทยานฯ โดยเฉพาะอ่าวมาหยา ว่ามีแนวทางอย่างไร โดยนายวราวุธ ได้เน้นย้ำถึงแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สถานะ Net Zero Emission เพื่อลดอุณหภูมิโลก ลดปัญหาจากภาวะโลกร้อน เป็นวิธีการเดียวที่จะลดอุณหภูมิน้ำทะเลที่เป็นสาเหตุของปะการังฟอกขาว ส่วนแนวคิดในการปรับเพิ่มค่าเข้าอุทยานฯ อ่าวมาหยา นั้นยังคงมีอยู่ แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ เนื่องจากต้องการให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีโอกาสท่องเที่ยวในราคาที่เข้าถึงได้ก่อน รอให้เศรษฐกิจฟื้นฟูเข้มแข็งกว่านี้ จะนำแนวคิดนี้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ปลดนกกรงหัวจุกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง?
สื่อมวลชนยังถามถึง กรณีนกกรงหัวจุก ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปลดจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง นายวราวุธ ตอบว่า ณ วันนี้ ที่จำนวนนกกรงหัวจุกมีจำนวนมากขึ้น ก็เป็นเพราะได้รับสถานะคุ้มครองจากกฎหมาย หากปลดออก เราแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีการ ล่า ค้า ขาย จนทำให้ลดจำนวนกลับไปอยู่ในสภาวะเสี่ยงอีก อย่างไรก็ตามจะมีการศึกษาจำนวนประชากรนกกรงหัวจุก สถานภาพ และ ภัยคุกคาม เพื่อประเมินและพิจารณาแนวทางอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ นายวราวุธ ยังกล่าวปิดท้ายว่า การตั้งวงพูดคุยกับสื่อมวลชนในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสื่อมวลชน เพื่อลดระยะห่างระหว่างกัน เพิ่มความเข้มแข็งในการสื่อสารภารกิจของกระทรวงฯ ให้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าจะจัดวงพูดคุยในรูปแบบนี้ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อสร้างความเป็นกันเองในการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอ