เช็ก ระบบรักษาฟรี โควิด19หลังเป็นโรคประจำถิ่น

เช็ก ระบบรักษาฟรี โควิด19หลังเป็นโรคประจำถิ่น

นายกสมาคมรพ.เอกชนแนะรัฐวางระบบรักษาฟรีให้ชัด ก่อนประกาศโควิด19เป็นโรคประจำถิ่น  ขณะที่ 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ เร่งวางแนวทาง-งบประมาณรองรับเข้าสู่ระบบปกติ คาดเน้นดูแลกลุ่มป่วยหนัก เชื่อ UCEP Plus จะยังมีต่ออีกระยะ

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้สัมภาษณ์ประเด็นประเทศไทยเตรียมเข้าสู่โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นว่า  แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โควิด19ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่จะต้องมีการติดตามอีกสักระยะและพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่าในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ลดลงนั้นเป็นเพราะไม่ได้ตรวจหรือลดลงจริง รวมถึง ผู้เสียชีวิตที่ลดลงก็เป็นเพราะมีการแยกผู้เสียชีวิตจากโควิด19ออกจากผู้เสียชีวิตที่มีการติดโควิด19ร่วมด้วย ซึ่งหากตามเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 0.1 %  ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 8,000 รายต่อวัน ก็น่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 8 รายต่อวัน  แต่ขณะนี้ยังมีราว 50 รายต่อวัน 

        “การเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด19 ในแง่ของระบบบริการที่รัฐจะต้องเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อม คือ ในส่วนของการให้บริการรักษาฟรีในระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม จะดำเนินการอย่างไร  จะมีการดูแลให้สิทธิแบบไหน เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณา”นพ.เฉลิมกล่าว 


       

      นพ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการผ่อนคลายมาตรการและเปิดประเทศมากขึ้นนั้น  จะส่งผลต่อรพ.เอกชน 2 ส่วนใหญ่ คือ 1.กลุ่มโรงพยาบาล ที่มีลูกค้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ก็จะมีการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลมากขึ้นอย่างแน่นอน และ2.กลุ่มโรงพยาบาลที่ให้การดูแลคนไทยเป็นหลัก ก็จะมีการกลับเข้ามารับการรักษาของผู้ป่วยโรคอื่นๆมากขึ้น หลังจากที่มีการลังเลและชะลอไปเกือบ 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด19  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

    นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้หากเป็นโควิด19 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลแต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน จะมีส่วนของ Extra pay สำหรับดูแลผู้ติดโควิด ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของงบประมาณของแต่ละกองทุน แต่เมื่อโควิด19เริ่มมีแนวโน้มขาลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลกันเอง  ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละกองทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 จะเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของรพ.เอกชนที่มีความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม ,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลางจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องดูแลและส่งต่ออย่างไร

  “เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องรีบดำเนินการให้เกิดความชัดเจน  ซึ่งคณะกรรมการแต่ละกองทุนจะต้องรีบพิจารณา และประกาศออกมาให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อไหร่เป็นโรคประจำถิ่น ผู้ป่วยจะไม่เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว เพราะฉะนั้น  UCEP Plus จะยังมีอยู่อาจจะยาก ส่วนงบประมาณที่เดิมจ่ายให้กรณีรพ.รักษาโควิด19แบบPlus plus เพิ่มเติมจากที่ไม่ได้อยู่ในงบประมาณปกติจะยังอยู่หรือไม่  รพ.จะต้องดำเนินการอย่างไร”นพ.ไพบูลย์กล่าว

บัตรทองเล็งดูแลผู้ป่วยหนัก

        ด้านนพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า  สปสช.ซึ่งดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง หลักใหญ่ๆมีนิดเดียวคือประชาชนต้องได้รับบริการ โดยเฉพาะคนไทย หรือแม้แต่ต่างชาติเพราะโควิด19เป็นโรคระบาด หากไม่ดูแลต่างชาติจะมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อให้คนไทย  โดยถ้าสถานการณ์ของโรคโควิด19ดีขึ้น  อะไรที่เข้าสู่ภาวะปกติหรือเหมือนเป็นไข้หวัด นอนพัก1-2วันแล้วหาย  เพราะฉะนั้น จะกลายดป็น วิถีปกติของคน คล้ายกับเมื่อเป็นไข้หวัดที่เป็นไข้อยู่1-2วันทานยาหรือพักผ่อนแล้วก็หาย 
      แต่สิ่งที่จะต้องป้องกันคือคนที่ป่วยแล้วมีอาการรุนแรง ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการพิจารณาเรื่องของการวินิจฉัยโรคร่วม(Diagnosis-Related Group: DRG) ที่จะอ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยโควิด19 จึงต้องคิดคำนวณและหารือว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชน ได้รับบริการ  นี่คือหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย แต่ภายใต้สิ่งที่เหมาะสมและสมควรด้วย และเมื่อประชาชนเข้าไปรับบริการมาตรฐานของการดูแลก็จะต้องเหมือนกัน

        “ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1.องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด19เป็นอย่างไร มีโอกาสที่จะกลายพันธุ์รุนแรงขึ้นอีกได้หรือไม่ ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่วางใจ 2.ระดับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร จะให้เป็นบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐหรือไม่อย่างไร  และ3.กฎหมายและการกำกับติดตาม ซึ่งเป็นข้อจำกัดจริงๆ โดยกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุนถือกฎหมายคนละฉบับ แต่ก็พยายามหาจุดร่วมเพื่อให้ระบบบริการเดินหน้าได้ เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ UCEP Plus ยังเป็นทิศทางที่น่าจะประคองไว้เพราะเป็นการรักษาชีวิตคน โดยหลักการ ทุกระบบจะต้องให้ความเท่าเทียมกับปัจจัยพื้นฐาน”นพ.จักรกริชกล่าว
ประกันสังคมเล็งเพิ่มสิทธิยารักษาโควิด19

       นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาประกันสังคมได้รับความร่วมมือจากรพ.เอกชนที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้ผู้ประกันตน อยากที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกประกันสังคมเพราะสามารถเลือกรพ.เอกชนได้ ในส่วนของสถานการณ์โควิด19  สปส.มีการปรับตัวอย่างมากและประเมินตนเองว่าทำได้ค่อนข้างดี โดยมีภารกิจเข้ามาหลายเรื่อง เช่น มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกในทุกสถานประกอบการ  การฉีดวัคซีน และโครงการโรงงาน แซนด์บอกซ์ เป็นต้น  โดยมีคณะกรรมการการแพทย์และคณะกรรมการหลายชุดพิจารณา

        “ในอนาคตหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีแนวโน้มประกาศให้โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นนั้น  เบื้องต้น ในเรื่องหลัก ระบบประกันสังคม จะดูแลตามสิทธิเดิมในรพ.คู่สัญญาหลักที่สามารถเข้าไปรับการรักษาได้ ส่วนเรื่องยาและอื่นๆให้ความมั่นใจและรับประกันว่าสามารถดูแลตรงส่วนนี้ได้แน่นอน ส่วนว่าต่อไปจะดูแลเรื่องยารักษาโควิด9เข้าไปในสิทธิหรือไม่ ให้ความมั่นใจว่าคณะกรรมการการแพทย์ได้หารือเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยจะดูแลผู้ประกันตน 10 กว่าล้านคนอย่างดีที่สุด”นางมารศรีกล่าว    

จัดโรคโควิด19เข้า DRG

      นายรชตะ อุ่นสุข นิติกรชำนาญการพิเศษ  กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากเป็นโรคประจำถิ่น ก็ควรจะback to basic  แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับระบบต้นทุน คือ เมื่อเกิดโรคขึ้นมาใหม่ 1 โรค ซึ่งเดิมไม่เคยถูกพิจารณาอยู่ในงบประมาณของแต่ละกองทุนมาก่อน ก็ควรจะจัดให้มีโควิด19 อยู่ในDRG เวอชั่นถัดไป เพื่อจัดสรรงบประมาณปกติของกองทุนในการดูแลผู้ป่วย และคิดคำนวณว่าจะต้องใช้ประมาณเท่าไหร่เพื่อไปเสนอขอกับสำนักงบประมาณ เพราะฉะนั้น ทั้ง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐจะต้องมีการหารือว่าการดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโรคโควิด19จะเป็นอย่างไร
     “ถ้าประกาศเป็นโรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญจะต้องตอบคือ UCEP Plus จะอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.)ต้องกำหนดเรื่องนี้  โดยจะต้องมีการหารือในคณะกรรมสถานพยาบาลและดูสถานการณ์ของศบค.ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าจะยังคงให้ดำเนินการเรื่อง UCEP Plus ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและแดง ไปอีกระยะหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ปีหน้า ส่วนผู้ป่วยสีเขียว  ตัวเองเชื่อว่าเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นและไม่ได้มีโรครุนแรงที่สูง ก็ควรกลับเข้าสู่ระบบปกติ บนพื้นฐานถ้าจะรักษาแล้วเข้ารพ.เอกชน ก็เก็บเงิน ส่วนถ้ากองทุนประกันสุขภาพภาครัฐกองทุนใดจะจ่ายให้ก็จ่ายไป ตัวเองเชื่อว่าแต่ละกองทุนจะไม่ค่อยคุยกรณีผู้ป่วยสีเขียว เพราะเริ่มกลับสู่รับบปกติ แต่ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงจะต้องมีคำตอบในการหารือร่วมกันในเวทีของกระทรวงสาธารณสุขว่าจะเอาอย่างไร”นายรชตะกล่าว