ศธ.ประกาศ 17 พ.ค.นี้ เปิดเรียน on-site ทุกโรงเรียน 100%

ศธ.ประกาศ 17 พ.ค.นี้ เปิดเรียน on-site ทุกโรงเรียน 100%

ศธ. ประกาศ 17 พ.ค.นี้ เปิดเรียน on-site ทุกโรงเรียน 100% พร้อมยืนยันปลอดภัย หากติดเชื้อในสถานศึกษา ไม่ปิดเรียน แต่มุ่งปิดเฉพาะห้องเรียนที่มีผู้ติดเชื้อ ขณะที่ สธ.เปิด 3 มาตรการ เปิดแผนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่เด็ก

วันนี้ (10 พ.ค.2565) ที่โรงเรียนพญาไท กรุงเทพฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2565 ว่าในปีการศึกษา 2565 นี้  ศธ.มีเป้าหมายเปิดการเรียนแบบ On site ด้วยการสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนถึงความปลอดภัย

รวมถึงคุณภาพการศึกษา ที่ลูกหลานของเราจะได้รับผ่านระบบการศึกษาของไทยทุกรูปแบบ และสร้างความไว้วางใจกลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องรวมพลังกัน เพื่อยกระดับความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ หรือ สร้าง TRUST ให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาอย่างเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า โดยด้านความปลอดภัย ศธ.ได้ เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกสังกัดเตรียมความพร้อม ตามแนวทางการเฝ้าระวังสำหรับการเปิดเรียน On site ด้วยหลักการ “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน” ซึ่งทุกสถานศึกษาต้องทำการประเมินตนเองในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน

นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ประเมินความเสี่ยงตนเองเป็นประจำ มีการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังอย่างเหมาะสม  การฉีดวัคซีนให้กับ ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และเด็ก อายุ 5-18 ปี ได้รับวัคซีนโควิด 19- ตามเกณฑ์ ให้มีการเร่งรัดจัดฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนทุกคนที่มีความประสงค์จะเข้ารับการฉีดอย่างครอบคลุมและทั่วถึง 

โดยศึกษาธิการจังหวัดประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในการเร่งฉีดวัคซีน โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่มีอายุระหว่าง 5 -11 ปี ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และความจำเป็นในการฉีดวัคซีนให้กับผู้ปกครองได้รับทราบ

 

  • 17 พ.ค.นี้ เปิดเรียน on-site ทุกโรงเรียน 100% 

รมว.ศธ.กล่าวต่อว่าทุกโรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการสร้างความปลอดภัย 6-6-7 ป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด ทั้งการบริหารจัดการภายในห้องเรียน ภายในโรงเรียน และบริเวณโดยรอบโรงเรียน มีการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ มีการซักซ้อม

รวมทั้งการเตรียมพร้อม School Isolation สิ่งสำคัญ ต้องทำความเข้าใจในชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของชุมชนร่วมกันอย่างเข้มแข็ง  หากมีความเสี่ยง หรือความไม่ปลอดภัยใดๆ เกิดขึ้น กลไกการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุ ผ่าน MOE Safety Center ต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการลงมือแก้ไขเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือเรื่องความ่ไม่ปลอดภัยนั้น ต้องได้รับการจัดการแก้ไขให้หมดไป

ทั้งนี้ โรงเรียนไม่จําเป็นต้องปิดการเรียนการสอนแม้จะพบการติดเชื้อในโรงเรียน แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามแผนเผชิญเหตุอย่างแม่นยำ และรวดเร็ว เพราะเป้าหมายสำคัญ นักเรียนควรได้รับการเรียนรู้อย่างเต็มที่ที่โรงเรียน และลดปัญหาการเกิดภาวการณ์เรียนรู้ที่ถดถอย (Learning Loss) 

ด้าน ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.กล่าวว่า วันที่ 17 พ.ค.นี้ เป็นการเปิดเรียนทุกสถานศึกษา ทั้งหมดประมาณ 3.5 หมื่นแห่ง โดยเป็นการเปิด on-site 100% แต่หากบาง รร. ที่ผู้ปกครองกังวลก็จะมีระบบการสอนหลายรูปแบบรองรับ

ขณะนี้บุคลาการการศึกษา ครู ที่มีจำนวนประมาณ 6.8 แสนคน ขณะนี้กว่า 97% ฉีดวัคซีนกระตุ้นมากกว่า 3 เข็มแล้ว เด็กอายุ 12-18 ปี ฉีดวัคซีนไปแล้ว 90% กลุ่มอายุ 5-11 ปี ฉีดไปแล้วประมาณ 50% ก็จะมีการเร่งดำเนินการต่อไป

 

  • ติดเชื้อในสถานศึกษาจะใช้วิธีปิดเฉพาะห้องเรียน

สำหรับกรณีที่มีการติดเชื้อในสถานศึกษาจะใช้วิธีปิดเฉพาะห้องเรียน ใช้เวลาทำความสะอาดไม่เกินครึ่งวันจะมีการทำงานที่เป็นระบบและเป็นขั้นตอนชัดเจนมากขึ้น

ส่วน รร.ประจำมีมาตรการ school isolation และมีระบบการเรียนออนไลน์ เพื่อแยกกักนักเรียนที่มีความเสี่ยง หรือพบการติดเชื้อ

ขณะที่ รร.สังกัด สพฐ.ได้เตรียมด้านกายภาพ ทำความสะอาด การจัดพื้นที่เว้นระยะห่าง ภายในสถานศึกษา การจัดกิจกรรม ยังคงเน้นทำเป็นกลุ่มเล็ก small bubble ส่วนบางห้องเรียนที่เรียนห้องแอร์นั้น ทุก 2 ชั่วโมง ให้ปิดแอร์เปิดหน้าต่างระบายอากาศเป็นช่วง ๆ

  • มาตรการช่วยเหลือผู้ปกครองแบ่งเบาภาระก่อนเปิดเทอม

ขณะที่ ด้านการสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพทางการศึกษานั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยเกิดขึ้นกับนักเรียนในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งในปีการศึกษา 2565 นี้

ศธ.มุ่งเน้นให้เป็นปีแห่งการเสริมสร้างการศึกษา เพื่อเดินหน้าแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้อย่างจริงจัง โดยเร่งฟื้นฟูการเรียนรู้ช่วงที่สูญเสียไปให้คืนกลับมาเร็วที่สุดอย่างเป็นระบบ

ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นหัวใจ หรือ Child Center ด้วยการนำแนวทางการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการขับเคลื่อนการเรียนการสอนใน 3 มิติ คือ การเสริมสร้างความรู้ การสร้างทักษะที่เข้มข้น ส่งเสริมทักษะชีวิต หรือทักษะทางสังคม

โดยจะมีการเตรียมความพร้อม หรือการปรับพื้นฐานก่อนเรียน เพื่อค้นหาช่องว่างของน้องๆ ในการออกแบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสม ด้วยการ ประเมินความพร้อมก่อนการเรียนในทุกระดับชั้น เพื่อรับทราบถึงสถานะ หรือช่องว่างทางการเรียนรู้

เพื่อคุณครูจะได้เตรียมเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสม สามารถเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาดำเนินการปรับพื้นฐานให้แก่ผู้เรียนก่อนเปิดภาคเรียน หรือ ภายหลังการเปิดภาคเรียนแล้ว

ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ทางองค์การค้าคุรุสภา ได้นำสินค้าเกี่ยวกับนักเรียนมาลดราคาเป็นกรณีพิเศษ ใน Campaign “ช้อปเพลินๆ รับเปิดเทอมกับ ศธ.”

โดยหาซื้อได้ที่ศึกษาภัณฑ์พานิชย์ทุกสาขา หรือผ่านระบบออนไลน์และร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่ายขององค์การค้าคุรุสภาในทุกภาค ทั่วประเทศและร้านค้าต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะมีตราสัญลักษณ์ติดแสดงที่หน้าร้าน

มีหลายรายการสินค้า จะมีลดราคาสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เครื่องแบบนักเรียน ลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์ อุปกรณ์ เครื่องเขียน มีส่วนลดที่มอบให้ ตั้งแต่ 10-20 เปอร์เซนต์คู่มือคุณครู ลด 30%

  • 3 มาตรการสธ.ป้องกันโควิดในสถานศึกษา 

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวโน้มการติดเชื้อในไทยลดลงตามลำดับในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่จะเปิดเรียน on-site และก่อนที่จะมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น คือต้องเปิดเรียนอย่างปลอดภัยให้ได้ก่อน

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการในการป้องกันโควิดของสธ.จะมี 3 ระดับ  คือ

1.การฉีดวัคซีนบุคลากรการศึกษา เด็ก นร.ได้รับวัคซีน โดยในเด็กมัธยมได้เริ่มเข็ม 3 แล้ว ซึ่งเลือกแบบครึ่งโดสได้ ส่วนวัคซีนฝาสีส้มของเด็กประถมฉีดไปแล้วสองล้านกว่าคน มีประสิทธิภาพสูงและพบอาการแพ้น้อย แต่ก็มีทางเลือกวัคซีนเชื้อตาย สองเข็มก็ได้ มีประสิทธิภาพเช่นกัน อยู่ที่ความสมัครใจของผู้ปกครอง

2.มาตรการการคัดกรอง มีหลายระดับสำคัญดูที่อาการเป็นหลัก จึงจะตรวจหาเชื้อ

3.หากมีอาการป่วย สธ.มีนโยบาย 3 พอ หมอพอ เตียงพอ ยาพอ ยืนยันความพร้อมการเปิดเรียนออนไซด์

อย่างไรก็ตาม การติดโควิดของเด็กที่ผ่านมา พบว่าจะติดจากบ้านมากกว่ามาติดที่โรงเรียน ขอให้พ่อแม่คลายกังวล เพราะหากมีการติดโควิดในสถานศึกษาก็จะแบ่งการดูแลในกลุ่ม นร.สัมผัสเสี่ยงสูง ถ้าไม่มีอาการ และ นร.ได้รับวัคซีนครบโดสมาแล้ว ก็สามารถมาเรียนได้ แต่ต้องเฝ้าระวังอาการ เว้นระยะห่าง และตรวจหาเชื้อเป็นระยะ

  • แผนเร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มเด็ก

ทั้งนี้ สำหรับแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่มเป้าหมายอายุ 12-17 ปี นั้น สธ.ได้มีการแนวทางการฉีด

โดยในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ2 เข็ม ระยะเวลา 1 เดือน แนะนำให้ฉีดไฟเซอร์ ขนาดเต็มโดส

ถ้ากลุ่มที่ฉีดไฟเซอร์ ครบ 2 เข็ม ระยะเวลา 4-6 เดือน แนะนำให้ฉีด ไฟเซอร์ ขนาดครึ่งหรือเต็มโดส

ส่วนสถานที่เข้ารับบริการ นักเรียนสามารถเลือกเข้ารับได้ตามความสมัครใจ

  • สถานศึกษาจะฉีดเข็มกระตุ้นขนาดครึ่งโดส
  • สถานพยาบาล จะฉีดเข็มกระตุ้นขนาดเต็มโดส หรือครึ่งโดส 

โดยขณะนี้จากการฉีดผ่านระบบสถานศึกษา ข้อมูลจากศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (วันที่ 28 เม.ย.2565) มีนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ประสงค์ต้องการรับวัคซีนไฟเซอร์ เข็มกระตุ้นขนาดครึ่งโดส จำนวน 1.75 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 โดยเปรียบเทียบกับผลการฉีดวัคซีนเข็ม 2 จากระบบ MOPH IC

ส่วนนักเรียนที่มีอายุ 5-11 ปี จากฐานข้อมูล MOPH IC วันที่ 8 พ.ค.2565 พบว่า มีกลุ่มเป้าหมาย 5.1 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2.8 ล้านคน หรือร้อยละ 54.5 และฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 8.9 แสนคน หรือร้อยละ 17.4 นอกจากนั้น มีนักเรียนที่ประสงค์รับวัคซีนสูตรซิโนแวค และไฟเซอร์ เพิ่มเติมอีก 1.6 แสนคน 

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ในนักเรียน/นักศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปิดภาคเรียน มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะผลการศึกษาในต่างประเทศและข้อมูลในประเทศไทยบ่งชี้ว่าวัคซีนมีประโยชน์และก่อให้เกิดความเสี่ยง การเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้อยกว่าการติดเชื้อโควิด-19 ตาม ธรรมชาติได้ ดังนั้น อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้นักเรียนฉีดวัคซีนโควิด-19