“อสม. ด้านการศึกษารุ่นจิ๋ว" หน่วยกู้ภัยการเรียนรู้ ในสถานการณ์ยากลำบาก
มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ได้รับสนับสนุนให้ดำเนินโครงการ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP” จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยดำเนินโครงการมา กว่า 3 ปี
โดยในปี 2564 โครงการได้มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อบริหารความเสี่ยงในสภาวการณ์ที่ไม่สามารถจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนได้ อันเกิดจากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน จนเกิดเป็นนวัตกรรม “การพัฒนายุวนวัตกรสร้างชาติ” ขอเรียกว่าอาสาสมัครด้านการศึกษา (อสม. ด้านการศึกษา หรือ ครูชาวบ้าน)
มีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ผ่านการเป็น อสม. 2) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชุมชนด้านการจัดการศึกษาของโรงเรียน และ 3) เพื่อแก้ปัญหาทุพลภาพด้านโภชนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ด้วยความช่วยเหลือจากรุ่นพี่และผู้ปกครองในชุมชน
รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง กล่าวว่า นวัตกรรม การพัฒนายุวนวัตกรสร้างชาติ เกิดจากกรอบแนวคิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และแก้ปัญหาทุพลภาพด้านโภชนาการและการเรียนรู้
ในสถานการณ์ยากลำบากแก่เด็กประถม และพัฒนาทักษะในศตวรรษ ที่ 21 ผ่านการเป็น อสม. และสร้างความเชื่อมั่นแก่ชุมชนด้านการศึกษา โดยมีทีมโค้ชพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน ครู และชุมชน จัดการเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านกระบวนการดำเนินงานและเครื่องมือ
- ออกแบบการเรียนรู้ในช่วงสถานการณ์ยากลำบาก
โดยครูและผู้อำนวยการโรงเรียนช่วยกันออกแบบชุดการเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง และแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกันให้สอดคล้องกับบริบท มีการคัดเลือกนักเรียนอาวุโสในโรงเรียน ที่มีภาวะผู้นำ มีความเป็นนักเรียนรู้เชิงรุก นักเรียนมืออาชีพ มีวินัย และคัดเลือกเยาวชน หรือผู้มีความรู้ มีคุณวุฒิ เช่น นักศึกษาบัณฑิตจบใหม่ หรือนักศึกษาอาชีวะ ในแต่ละหย่อมบ้าน ร่วมทีม อสม.ทางการศึกษา
รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวต่อว่า เมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกแล้ว จะทำการอบรมกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Project based Learning (PBL) ให้แก่นักเรียนประถม พร้อมฝึกการใช้เครื่องมือ และสร้างเป็นทีม "อสม. ทางการศึกษา“ หรือ "ครูชาวบ้าน" ที่ผันตัวเองเป็น facilitator
ใช้ความรู้และประสบการณ์เป็นกระบวนกร PBL ให้แก่รุ่นน้องประถมฯ หลังจากนั้น อสม.จัดกิจกรรมโครงงานและแก้ไขทุกพลภาพทางโภชนาการในหย่อมบ้านและครูให้คำปรึกษาด้วยวิธีออนไลน์มีการสะท้อนช่วงท้าย
พร้อมทั้งเชิญผู้ปกครอง หรือชาวบ้าน มาร่วมทำกิจกรรมด้วยกันเพื่อจะสร้างชิ้นงาน ที่เป็นสินค้า ทำรายได้เจือจุนครอบครัว เนื่องจากโครงงาน มักนำไปสู่การอาชีพจนเกิดรายได้ และเสริมด้วยการฝึกฝนเรื่องธุรกิจ Online เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ สุดท้ายจะมีการวัดและประเมินผลแบบ Authentic และ Formative โดยทีม อสม. และครู เพื่อประเมินจากกระบวนการ และชิ้นงาน
- อสม.ด้านการศึกษารุ่นจิ๋ว ช่วยพัฒนาการศึกษา
รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวต่อไปว่า เห็นภาพการทำหน้าที่ของอสม. ด้านการศึกษารุ่นจิ๋ว ที่ศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษา ทำหน้าที่เข้าพื้นที่ตามหย่อมบ้าน เพื่อไปจัดการเรียนรู้ แบบโครงงานฯ ให้กับรุ่นน้องในระดับประถม และผู้ปกครองที่ว่างงาน ภายในชุมชนตนเอง ฟังดูอาจเหมือนจะเป็นไปไม่ได้
แต่ภาพที่เห็นคือความมหัศจรรย์ เด็กนักเรียนรุ่นพี่รุ่นน้องที่มีวัยต่างกัน ไม่ถึง 4 ปี จะสอนกันเองได้ดีมากเพราะเขาพูดภาษาเดียวกัน ขนาดของโลกทัศน์ ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งคนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือตัวนักเรียนที่เป็นอาสาสมัครทางการศึกษาเอง เขาได้พัฒนาและได้เรียนรู้
สูงสุดคือการนำความรู้ตกผลึกและถ่ายทอด ส่วนผู้รับประโยชน์ลำดับรองลงมาคือครู (ผู้ใหญ่) ที่สร้างอาสาสมัครการศึกษารุ่นเยาว์กลุ่มนี้ขึ้นมา เพราะได้ฝึกประสบการณ์ ฝึกทักษะมากมายการได้เป็นโค้ชของโค้ช ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและจะหาโอกาสใดมาฝึกประสบการณ์ ถ้าไม่ใช่กระบวนการนี้
รศ.ดร.ธันยวิช กล่าวอีกว่า ด้วยสถานการณ์ covid 19 ทำให้เราพบว่า การศึกษาที่ถูกจำกัดอยู่เพียงในรั้วโรงเรียน แม้จะปลอดภัยแต่กลับเป็นอุปสรรคของการพัฒนาเด็ก แต่กิจกรรมนี้ จะให้คุณประโยชน์หลายสถาน และกระทบกับคนมากมาย เริ่มจากกลุ่มครู Coach ที่ต้องพัฒนาอาสาสมัครรุ่นเยาว์ หรือตัวอาสาสมัครรุ่นเยาว์
แม้กระทั่งกลุ่มนักเรียนประถมรุ่นน้องและผู้ปกครองล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น กระบวนการนี้ เมื่อจัดแล้ว ปรากฏว่า ฝ่ายชุมชน เช่นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นระดับตำบลได้เข้ามาให้การสนับสนุนหลายๆ เรื่องรวมถึงนำเด็กของตัวเองมาเข้าร่วมกิจกรรมและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในลักษณะของการลงขันร่วมกับทาง กสศ. ในการสนับสนุนโรงเรียนให้ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวอีกด้วย