กรมทะเล เร่งฟื้น "ป่าชายเลน" 10 ปี 3 แสนไร่ หนุน "คาร์บอนเครดิต"

กรมทะเล เร่งฟื้น "ป่าชายเลน" 10 ปี 3 แสนไร่ หนุน "คาร์บอนเครดิต"

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เดินหน้าเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประโยชน์ "คาร์บอนเครดิต" 3 แสนไร่ ใน 10 ปี เร่งสร้างความสมบูรณ์ทรัพยากรทางทะเล สัตวทะเล เพิ่มจำนวนพะยูนเป็น 280 ตัวในปีนี้

คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมติให้ วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันป่าชายเลนแห่งชาติ ตลอดระยะเวลาประเทศไทยได้พยายามเดินหน้าอนุรักษ์ ฟื้นฟู ผืนป่าชายเลนมาโดยตลอด ซึ่งผลการสำรวจเมื่อปี 2563 มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนไร่ เมื่อเทียบกับปี 2557 รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์อีก 3 แสนไร่ ภายใน 10 ปี     

 

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ ภายในปี 10 ปี ภายใต้การดำเนินโครงการ ปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยในปี 2565 ได้เตรียมพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการ ทั้งสิ้น 44,281.13 ไร่ ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากองค์กรภาคเอกชนและพี่น้องประชาชนในการดำเนินงาน 

 

“โสภณ ทองดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า กรม ทช. มีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในเขตจังหวัดชายทะเล 24 จังหวัด ให้มีความอุดมสมบูรณ์ที่ยั่งยืนตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ ให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ปี 2608 ในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สก๊อตแลนด์

 

การฟื้นฟู อนุรักษ์ ให้เกิดความยั่งยืน “ด้านการอนุรักษ์ป่าชายเลน” โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 28 ก.ค. 2563-2576 จำนวน 153,400 ไร่ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต 300,000 ไร่ เป้าหมาย 10 ปี รวมถึง การออกหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ป่าชายเลน ตามนโยบาย คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เริ่มดำเนินการในปี 2560 ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 121 ฉบับ เนื้อที่ 910 ไร่ ชุมชนที่ได้รับประโยชน์ 104 ชุมชน 4,036 ครัวเรือน

 

กรมทะเล เร่งฟื้น \"ป่าชายเลน\" 10 ปี 3 แสนไร่ หนุน \"คาร์บอนเครดิต\"

จัดทำโครงการสวนพฤกศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จ.จันทบุรี , โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก “ด้านระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก” ได้แก่ การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก สิรีธาร จ.ภูเก็ต และ ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง สร้างแหล่งเรียนรู้สัตว์ทะเลและระบบนิเวศทางทะเล พิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ

 

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาขยะทะเล โดยการเก็บขยะร่วมกับชุมชนจิตอาสา จัดวาง Boom ดักขยะบริเวณปากแม่น้ำสำคัญ และจัดทำเรือเก็บขยะ รวมถึงการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น ดำเนินการตั้งแต่ปี 2550 รวมกว่า 15 ปี ดำเนินการในพื้นที่ 13 จังหวัด 53 พื้นที่ พื้นที่ดินตะกอนหลังแนวไม้ไผ่ 386 ไร่

 

" สิ่งสำคัญ คือ การทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเอกชน มหาวิทยาลัย การร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ  ในการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต รวมทั้งภาคประชาชน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้จดแจ้งการขึ้นทะเบียนชุมชนชายฝั่ง ปัจจุบันมี 555 ชุมชน สมาชิก 14,767 คน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล 25,176 คน ชุมชนเหล่านี้เป็นผู้อยู่ในพื้นที่เป็นหูเป็นตา มีส่วนร่วมในการป้องกัน อนุรักษ์ทรัพยากร ทำกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูปะการัง ปลูกป่า ป้องกันการบุกรุกทรัพยากรทางทะเลและป่าชายเลน" อธิบดี ทช.กล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลในระดับอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดทำแผนในระดับอาเซียน เมื่อเดือนพ.ค. 64 และการร่วมมือกับ TOC จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ในการนำเข้า เรือเก็บขยะลอยน้ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ อีกทั้ง การเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งสำนักงานประสานทศวรรษแห่งมษสมุทรหรือ DOC โดยประสานความร่วมมือกับ 21 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกอีกด้วย

 

กรมทะเล เร่งฟื้น \"ป่าชายเลน\" 10 ปี 3 แสนไร่ หนุน \"คาร์บอนเครดิต\"

“เป้าหมายของกรมฯ คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติเป็น 280 ตัวในปี 2565 ลดจำนวนสัตว์ทะเลหายากเกยตื้น แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ลดการทำลาย และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” อธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้าย

 

สถานการณ์ทะเลและชายฝั่งของไทย

 

“ทรัพยากรป่าชายเลน”

จากภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงความร่วมมือกับ GISTDA จำนวนพื้นที่ป่าชายเลน 2.86 ล้านไร่ พบว่า

  • พื้นที่ป่าสมบูรณ์ 1.74 ล้านไร่
  • เพิ่มขึ้น 2 แสนไร่จากปี 2557
  • ถูกบุกรุกเปลี่ยนสภาพ 1.12 ล้านไร่
  • ป่าชายหาด 40,254.52 ไร่
  • พื้นที่ป่าในเมือง 30 แห่ง 18 จังหวัด

 

“ทรัพยากรทางทะเล”

มีสัตว์หายาก ได้แก่

  • พะยูน 261 ตัว
  • เต่าทะเล 5 ชนิด
  • โดยพบการวางไข่ของเต่าทะเลเพิ่มขึ้น จาก 413 รัง ในปี 2561 เป็น 491 รัง ในปี 2563
  • วาฬและโลมา 3,025 ตัว
  • สัตว์ทะเลหายากที่ได้ขึ้นทะเบียนตามบัญชีสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ได้แก่ วาฬโอมูระ วาฬบรูด้า ฉลามวาฬ เต่ามะเฟือง และพะยูน

 

โดยรวมของสัตว์ทะเลหายากของไทยมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพะยูน ซึ่งมีแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติในการเพิ่มจำนวนให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงวาฬ โลมา และเต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์โควิดที่มีนักท่องเที่ยวน้อยลง หรือนักท่องเที่ยวในประเทศที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามจังหวัดชายทะเลน้อยลงในระยะ 2 ปีกว่า ทำให้เต่ามะเฟือง มีปริมาณเพิ่มขึ้น สมัยก่อนค่าเฉลี่ยของการเพาะฟักวางไข่ปี 2550 มีเพียง 1.5 รังต่อปี เท่านั้น ขณะที่ปัจจุบัน เต่ามะเฟืองมีการวางไข่หลายสิบรังต่อปี

 

“ทรัพยากรปะการัง”

พื้นที่ปะการัง 149,025 ไร่

จำนวนชนิดปะการัง 280 ชนิด

สถานะภาพ

  • ฝั่งอันดามันเสียหายเพิ่มขึ้น
  • ฝั่งอ่าวไทยมีความสมบูรณ์ปานกลาง
  • ฝั่งตะวันออกสมบูรณ์ปานกลาง

 

“ทรัพยากรหญ้าทะเล”

พื้นที่หญ้าทะเล 159,829 ไร่

จำนวนชนิดหญ้าทะเล 13 ชนิด

  • สมบูรณ์มาก 27%
  • สมบูรณ์ปานกลาง 64%
  • สมบูรณ์น้อย 9%

 

“ทรัพยากรชายฝั่ง”

ความยาวชายฝั่งทะเล 3,151 กิโลเมตร

3% พื้นที่พบปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 91.69 กิโลเมตร

  • รุนแรง 12.87 กม.
  • ปานกลาง 28.64 กม.
  • น้อย 50.18 กม. 22%

พื้นที่ไม่มีโครงสร้างแล้ว 702.68 กทม.

75% พื้นที่ไม่มีปัญหากัดเซาะ 2,356.76 กม.

 

"สัตว์ทะเลหายากหลายชนิดเกยตื้นตาย"

ในปี 2563

  • เต่าทะเลเกยตื้น 536 ตัว
  • โลมาและวาฬ 248 ตัว
  • พะยูน 17 ตัว

สาเหตุการตายของเต่าทะเล พะยูน 80% เกิดจากเครื่องมือประมง อวน ใบพัดเรือ

สาเหตุการตายของโลมาและวาฬ 65% เกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ 

 

กรมทะเล เร่งฟื้น \"ป่าชายเลน\" 10 ปี 3 แสนไร่ หนุน \"คาร์บอนเครดิต\"