เช็ค 10 สัญญาณเตือน "อัลไซเมอร์" ป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยง

เช็ค 10 สัญญาณเตือน "อัลไซเมอร์" ป้องกัน ลดปัจจัยเสี่ยง

"อัลไซเมอร์" นับเป็นโรคที่มีความชุก ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ จากสาเหตุที่แก้ไขได้ และแก้ไขไม่ได้ ดังนั้น เราสามารถสังเกตตัวเองเบื้องต้น เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยง

"โรคอัลไซเมอร์" ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิด "ภาวะสมองเสื่อม" ส่งผลให้สมองถดถอย ความชุกของโรค พบมากในผู้สูงอายุ กว่าร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี แล้วเราจะมีวิธีการสังเกตตัวเองได้อย่างไร เพื่อป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยง

 

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ อธิบายเกี่ยวกับ ภาวะสมองเสื่อม ว่า สมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยบกพร่องในด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน และบริหารจัดการ การรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือ ความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว

 

การวินิจฉัย 

 

ผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน และการเข้าสังคม แต่ต้องไม่มีภาวะเพ้อ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชเรื้อรัง หรือวิตกกังวลรุนแรงขณะวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม ได้แก่

  • ข้อมูลจากประวัติทั้งจากผู้ป่วยและญาติที่อยู่ใกล้ชิดรู้จักผู้ป่วยเป็นอย่างดี
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
  • รวมไปถึงการตรวจทางประสาทจิตวิทยา

 

สาเหตุสมองเสื่อม

 

เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น

  • โรคอัลไซเมอร์
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคพาร์กินสัน
  • เนื้องอกสมอง
  • โพรงน้ำในสมองขยายตัว
  • โรคขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์
  • โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น

ปัจจบันพบ โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของ ภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด

โรคอัลไซเมอร์ คืออะไร

 

โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุกร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี

 

10 สัญญาณเตือน

 

1. ลืมในเรื่องที่ไม่น่าลืม

2. หงุดหงิดง่ายขึ้น 

3. สับสนวัน เวลา สถานที่ 

4. ลืมของ วางของผิดที่ 

5. สูญเสียทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน

6. แยกตัวจากสังคม 

7. ความสามารถในการตัดสินใจลดลง

8. คิดเลขไม่ได้ 

9. ไม่เข้าใจภาพที่เห็น 

10. มีปัญหาในการพูด การเขียน 

 

อาการของโรคอัลไซเมอร์

 

  • ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลัก
  • ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
  • มักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหนทั้งที่พยายามจำ
  • ถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ เป็นต้น

 

เมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรม และความผิดปกติทางจิตตามมา เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นต้น

 

เมื่อไหร่จึงต้องพบแพทย์

 

เมื่อปัญหาด้านความจำที่เกิดขึ้นหรืออาการหลงลืมนั้น ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดการชีวิตประจำวัน เช่น ทำได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้น หรืออาการหลงลืมนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น ต้องการผู้ช่วยเหลือในการจ่ายเงิน ต้องการผู้ช่วยเหลือในการบริหารยาที่รับประทานประจำ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์

 

  • อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหลังอายุ 65 ปี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีด้วยเช่นกัน
  • พันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้หลายคน , มียีนบางอย่างเช่น ApoE4 เป็นต้น
  • โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน
  • การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาไม่พบว่าการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
  • อีกทั้ง พบว่า โรคอัลไซเมอร์ มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดสมอง จึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนี้

  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน 
  • การขาดการออกกำลังกาย             
  • การสูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูง                   
  • ไขมันในเลือดสูง                           
  • โรคเบาหวาน

 

การป้องกันโรคอัลไซเมอร์

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การป้องกันโรคจึงเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค ดังนี้

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลสูง
  • รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  • ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ

 

นอกจากนี้ การฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกม ฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ยังช่วยให้ผู้สูงวัยคุณภาพชีวิตที่มีดีและมีความสุขอีกด้วย

 

อ้างอิง : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์