จี้ศธ.เร่งแจงกรณี “เด็กหญิง 14” จบชีวิตตัวเอง เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม
"สภาองค์กรของผู้บริโภค" จี้ศธ.เร่งชี้แจงกรณี “เด็กหญิง 14” นักเรียนชั้นม.3 จบชีวิตตัวเองเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม
แถลงการณ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่าจากที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว กรณี เด็กหญิง14 ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นม.3 จบชีวิตัวด้วยตัวเอง โดยรายงานข่าวแจ้งถึงสาเหตุเนื่องมาจากนักเรียนหญิงน้อยใจ"ครู" ที่พูดจาดูหมิ่น เนื่องจากนักเรียนที่เสียชีวิตเป็นเด็กยากจน ไม่มีผู้ปกครองดูแล ซึ่งรายละเอียดดังกล่าว ปรากฏในคลิปสนทนาระหว่างนักเรียนหญิงที่เสียชีวิตและเพื่อนนักเรียนด้วยกันนั้น
นายคมเทพ ประภายนต์ ประธานคณะทำงานด้านการศึกษา สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก และขอเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และชี้แจงให้สังคมได้รับทราบด้วย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ระบุชัดว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย หรือ"เรียนฟรี"อีกทั้งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า12ปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมา เรายังได้ข่าวเด็กที่ต้องออกจากระบบ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม
“ทั้งรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ต่างระบุให้เด็กต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เหมือนกฎหมายไม่สามารถใช้บังคับได้ เพราะยังมีเด็กที่ต้องออกจากระบบการศึกษา เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม และบางคนถึงกับจบชีวิตตนเอง เหมือนน้องนักเรียน เด็กหญิง14 รายนี้” นายคมเทพ กล่าว
ด้าน นางสาววรลักษณ์ ศรีใย หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ขอย้ำว่าเด็กทุกคนควรได้เรียนหนังสือฟรี จนจบการศึกษาภาคบังคับ และไม่ควรมีเด็กที่ต้องฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมอีก
นอกจากนี้ นายคมเทพ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานด้านการศึกษา สภาองค์กรของผู้บริโภค มีจุดยืนว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียนฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในระดับการศึกษาภาคบังคับ โดย สภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการจำนวน 3 ฉบับ เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “การจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา” เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัดยังใช้ช่องทางของประกาศฯ ดังกล่าวเก็บเงินค่าเรียนหลักสูตรเสริมต่าง ๆ
“แม้ว่ากระทรวงศึกษาศึกษาธิการ จะบอกว่าประกาศ การจัดเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา นี้ ไม่ได้บังคับใช้ แต่เป็นความสมัครใจ แต่ยังมีบางโรงเรียนที่ใช้ประกาศฯ นี้เรียกเก็บเงินกับเด็กนักเรียน บางโรงเรียนถึงกับไม่ให้เด็กจบการศึกษา ถ้าผู้ปกครองไม่นำเงินมาจ่าย” ประธานคณะทำงานด้านการศึกษากล่าว