ช่วยได้จริงหรือ? "ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน" ที่ทุกสถานศึกษาต้องมี
สถานศึกษาทุกแห่งล้วนต้องมีแนวทางใน "ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน" ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสพฐ. และศธ. ทว่ากรณีของด.ญ.เอ (นามสมมติ) ที่ฆ่าตัวตาย กลับเป็นอีกหนึ่งบทเรียน ที่ทุกหน่วยงานคงต้องทบทวนแล้วว่าระบบดังกล่าวสามารถช่วยเด็กได้จริงหรือไม่?
กรณี ด.ญ.เอ (นามสมมุติ) เด็กหญิงวัย 14 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง ที่ฆ่าตัวตายเพราะถูกครูคนหนึ่งในโรงเรียนพูดกดดัน เนื่องจาก“ด.ญ.เอ (นามสมมติ)”ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม รวมถึงมีปัญหาครอบครัวรุมเร้าให้ต้องดิ้นรน หาหนทางเรียนหนังสือต่อ โดยน้องมีเงินติดตัวเพียง 200 บาท และกลับถูกครูในโรงเรียนพูดจากล่าวหา ทำนองว่าไม่มีทางเรียนต่อได้ สุดท้ายเด็กสาวตรอมใจเครียดหนัก ผูกคอตัวเองเสียชีวิตในบ้านพัก ภายในบ้านที่ อ.สะเดา จ.สงขลา
ล่าสุด(16พ.ค.2565) ที่ห้องประชุม โรงเรียนสตรีพัทลุง ได้มีการประชุมร่วมภาคีเครือข่าย 6 องค์กร ประกอบด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน, สมาคมผู้ปกครองนักเรียนและครูโรงเรียนสตรีพัทลุง, สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีพัทลุง, ชมรมครูเก่า, มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาโรงเรียนสตรีพัทลุง, สนง.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพัทลุง, และนักจิตวิทยา
นายสุนาถ แก้วสุข ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนสตรีพัทลุง เป็นประธานการประชุมกล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น โรงเรียนสตรีพัทลุงมีระบบการดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมามีการเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดช่องว่าง ความใกล้ชิด ความเข้าใจระหว่างครูกับนักเรียนลดน้อยลง อีกทั้งการย้ายที่อยู่อาศัยในช่วงปิดเทอมของนักเรียน ทำให้เกิดปัญหาการติดตามความเป็นอยู่ของนักเรียน ซึ่งในส่วนของด.ญ.เอ (นามสมมติ)ทางโรงเรียนได้ดูแลเรื่องทุนการศึกษามาแล้ว 2 ปี
สำหรับการประชุมของภาคีเครือข่ายได้มีการพูดถึงระบบดูแลควรเจาะลึกให้มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องครอบครัวและปัญหาของนักเรียน เพื่อนำมาแก้ไขให้ถูกจุด นอกจากนั้น ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพัทลุง ได้ตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงมาอีก 1 ชุด ซึ่งไม่เกี่ยวกับของโรงเรียนที่ตั้งไปก่อนหน้านี้
- ทุกสถานศึกษาต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน
สำหรับ ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีกำหนดให้สำนักเขตพื้นที่การศึกาษและสถานศึกษาในสังกัด จัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างครบวงจรได้มาตรฐาน
โดยการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ การส่งเสริม พัฒนา การป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนา เต็มตามศักยภาพ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข็มแข็ง คุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะ การดำรงชีวิต และรอดพ้นจากวิกฤติทั้งปวง
ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ กระบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจนพร้อมทั้งมีวิธีการและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้ โดยมีครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและนอกสถานศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหาร และครูทุกคน มีวิธีการและเครื่องมือที่ชัดเจน มีมาตรฐานคุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้
กระบวนการและขั้นตอนของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ
1. การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
2. การคัดกรองนักเรียน
3. การป้องกันและแก้ไขปัญหา
4. การพัฒนาและส่งเสริมนักเรียน
5. การส่งต่อ
- 5 กระบวนการในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ต้องปฎิบัติอย่างไรบ้าง?
สำหรับกระบวนการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่
1. การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล
ด้วยความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคนที่มีพื้นฐานความเป็นมาของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน หล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้น การรู้จักข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับตัวนักเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้ครูที่ปรึกษามีความเข้าใจนักเรียนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อการคัดกรองนักเรียน เป็นประโยชน์ในการส่งเสริม การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนได้อย่างถูกทาง เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์มิใช่การใช้ความรู้สึกหรือการคาดเดาโดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหานักเรียน ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดข้อผิดพลาดต่อการช่วยเหลือนักเรียนหรือเกิดได้น้อยที่สุด
2. การคัดกรองนักเรียน
การคัดกรองนักเรียน เป็นการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวนักเรียน เพื่อการจัดกลุ่มนักเรียน อาจนิยาม กลุ่มได้ 4 กลุ่ม คือ
2.1 กลุ่มปกติ คือ นักเรียนที่ได้รับการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ตามเกณฑ์การคัดกรองของโรงเรียนแล้วอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มปกติซึ่งควรได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและการส่งเสริมพัฒนา
2.2 กลุ่มเสี่ยง คือ นักเรียนที่จัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มเสี่ยงตามเกณฑ์การคัดกรองของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องให้การป้องกันหรือแก้ไขปัญหาตามแต่กรณี
2.3 กลุ่มมีปัญหา คือ นักเรียนที่จัดอยู่ในเกณฑ์ของกลุ่มมีปัญหาตามเกณฑ์การคัดกรองของโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนต้องช่วยเหลือและแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน
2.4 กลุ่มพิเศษ คือ นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ มีความเป็นอัจฉริยะ แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่นด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน อย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเทียบกับผู้มีอายุในระดับเดียวกัน ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ซึ่งโรงเรียนต้องให้การส่งเสริมนักเรียนได้พัฒนาศักยภาพความสามารถพิเศษนั้นจนถึงขั้นสูงสุด
อย่างไรก็ตาม การจัดกลุ่มนักเรียนนี้ มีประโยชน์ต่อครูที่ปรึกษาในการหาวิธีการเพื่อดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับปัญหาของนักเรียนยิ่งขึ้น และมีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาเพราะมีข้อมูลของนักเรียนในด้านต่างๆ และหากครูที่ปรึกษาไม่ได้คัดกรองนักเรียนเพื่อการจัดกลุ่มแล้ว ความชัดเจนในเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาของนักเรียนจะมีน้อยลง มีผลต่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือซึ่งบางกรณีจำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน
- หลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วยเหลือนักเรียน
3. การป้องกันและแก้ไขปัญหา
ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครูควรให้ความเอาใจใส่กับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่สำหรับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหานั้น จำเป็นอย่างมากที่ต้องให้ความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและหาวิธีการช่วยเหลือ ทั้งการป้องกันและการแก้ไขปัญหา โดยไม่ปล่อยปละละเลยนักเรียนจนกลายเป็นปัญหาของสังคม การสร้างภูมิคุ้มกัน การป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียน จึงเป็นภาระงานที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าอย่างมากในการพัฒนาให้นักเรียนเติบโตเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป
การป้องกันและการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนนั้นมีหลายเทคนิค วิธีการ แต่สิ่งที่ครูประจำชั้นหรือ ครูที่ปรึกษาจำเป็นต้องดำเนินการมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ
3.1 การให้คำปรึกษาเบื้องต้น
3.2 การจัดกิจกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
4. การพัฒนาและส่งเสริมผู้เรียน
การพัฒนาและส่งเสริมนักเรียนเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนกลุ่มปกติหรือกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหา กลุ่มความสามารถพิเศษ ให้มีคุณภาพมากขึ้น ได้พัฒนาเต็มศักยภาพ มีความภาคภูมิใจในตนเองในด้านต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มปกติและกลุ่มพิเศษกลายเป็นนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมีปัญหา และเป็นการช่วยให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง/มีปัญหากลับมาเป็นนักเรียนกลุ่มปกติและมีคุณภาพตามมาตรฐานที่โรงเรียนหรือชุมชนคาดหวังต่อไป
การส่งเสริมพัฒนานักเรียนมีหลายวิธีที่โรงเรียนสามารถพิจารณาดำเนินการได้ แต่มีกิจกรรมหลักสำคัญที่โรงเรียนต้องดำเนินการ คือ
4.1 การจัดกิจกรรมโฮมรูม
4.2 การเยี่ยมบ้าน
4.3 การจัดประชุมผู้ปกครองชั้นเรียน (Classroom Meeting)
4.4 การจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการดำรงชีวิตและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
5. การส่งต่อ
ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนโดยครูที่ปรึกษา อาจมีกรณีที่บางปัญหามีความยากต่อการช่วยเหลือหรือช่วยเหลือแล้วนักเรียนมีพฤติกรรมไม่ดีขึ้นก็ควรดำเนินการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป เพื่อให้ปัญหาของนักเรียนได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกทางและรวดเร็วขึ้น
หากปล่อยให้เป็นบทบาทหน้าที่ของครูที่ปรึกษาหรือครูคนใดคนหนึ่งเพียงลำพังความยุ่งยากของปัญหาอาจมีมากขึ้น หรือลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โตจนยากต่อการแก้ไข ซึ่งครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษาสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่กระบวนการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล หรือการคัดกรองนักเรียน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาของนักเรียนในแต่ละกรณี
การส่งต่อแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1. การส่งต่อภายใน ครูที่ปรึกษาส่งต่อไปยังครูที่สามารถให้การช่วยเหลือนักเรียนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหา เช่น ส่งต่อครูแนะแนว ครูพยาบาล ครูประจำวิชา หรือฝ่ายปกครอง
2. การส่งต่อภายนอก ครูแนะแนวหรือฝ่ายปกครองเป็นผู้ดำเนินการส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญภายนอกหากพิจารณาเห็นว่าเป็นกรณีปัญหาที่มีความยากเกินกว่าศักยภาพของโรงเรียนจะดูแลช่วยเหลือได้
- ปัจจัยที่ทำให้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนสำเร็จ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนสำเร็จนั้น มีดังนี้
1. ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ช่วยผู้บริหารทุกฝ่าย ตระหนักถึงความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และให้การสนับสนุนการดำเนินงานหรือร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
2. ครูทุกคนและผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความตระหนักในความสำคัญของระบบการดูแลช่วยเหลือ นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อนักเรียน และมีความสุขที่จะพัฒนานักเรียนในทุกด้าน
3. คณะกรรมการหรือคณะทำงานทุกคณะ ต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิด และมีการประชุมในแต่ละคณะอย่างสม่ำเสมอตามที่กำหนด
4. ครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน โดยต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
5. การอบรมให้ความรู้และทักษะ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้แก่ครูที่ปรึกษาหรือผู้เกี่ยวข้อง ในเรื่องที่เอื้อประโยชน์ต่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะเรื่องทักษะการปรึกษาเบื้องต้น และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของนักเรียน ซึ่งโรงเรียนควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
สำหรับ แนวทางเก็บค่าบำรุงการศึกษาสถานศึกษา
ประกาศ ศธ. เรื่อง แนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นๆโดยได้กำหนดแนวปฏิบัติที่ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัติ มีดังนี้
1. ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
3.พิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม
4.ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาในสังกัด หรือ ในกำกับให้ปฏิบัติตามประกาศนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนั้น คงต้องติดตามหาคำตอบกันต่อไป ว่าที่ผ่านมาโรงเรียนได้ช่วยเหลือนักเรียนอย่างไรบ้าง? การให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องหรือไม่? ได้ติดตามเด็กไปยังที่บ้านหรือไม่ เพราะขณะเกิดเหตุแม้จะเป็นช่วงโควิด-19 แต่บทบาทของครูที่ปรึกษา ครูทุกคนในโรงเรียนควรจะช่วยแก้ปัญหาเด็กอย่างไรบ้าง เมื่อบ้านหลังแรกของเด็กไม่พร้อม ก็อาจต้องพึ่งบ้านหลังที่ 2 อย่างโรงเรียนที่ต้องช่วยดูแล แก้ปัญหาเด็ก
อ้างอิง: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ,กระทรวงศึกษาธิการ