ยังไงต่อ? "UCEP Plus" รักษาโควิด19 เหลือง แดง ฟรีทุกที่ หลังเป็นโรคประจำถิ่น

ยังไงต่อ? "UCEP Plus" รักษาโควิด19 เหลือง แดง ฟรีทุกที่ หลังเป็นโรคประจำถิ่น

สบส.เร่งหารือสมาคมรพ.เอกชน-3 กองทุนประกันสุขภาพ-สพฉ.  สิทธิUCEP Plus ป่วยโควิด19กลุ่มสีเหลือง แดง รักษาทุกที่ฟรีทุกสิทธิ รองรับหลังโควิด19เป็นโรคประจำถิ่น คาดได้ข้อสรุปใน 2 สัปดาห์

  เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการดำเนินการ UCEP Plus ป่วยโควิด19กลุ่มสีเหลือง แดง รักษาทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ภายหลังโควิด19เป็นโรคประจำถิ่นว่า จากการประชุมคณะกรรมการสถานพยาบาล ได้หารือเรื่องการเตรียมการกรณี UCEP Plus เนื่องจาก UCEP Plus มาจากการขยายกรอบUCEPเดิม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด19ให้เป็นกรณีฉุกเฉินรักษาทุกที่ฟรีทุกสิทธิ
         ดังนั้น จะต้องหารือว่าจะขยายกรอบนี้ไปถึงเมื่อไหร่ อยู่ระหว่างการหารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน , 3 กองทุนประกันสุขภาพ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ประกันสังคม  สวัสดิการข้าราชการ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเริ่มประชุมข้อสรุปใน 2 สัปดาห์นี้

“ช่วงแรกที่ขยายกรอบUCEP Plus ก็เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน กลุ่มสีเหลืองและแดง แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เช่น โรครุนแรงลดลง จำนวนติดเชื้อลดลง และจำนวนเตียงโดยรวมเพียงพอแล้ว ก็จะเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณว่า UCEP Plus จะคงสิทธิประโยชน์ถึงเมื่อไหร่ แต่ต้องหารือกันหลายฝ่ายๆ ก่อน”นพ.ธเรศกล่าว 

    นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า ต้องเรียนว่าช่วงหลังเข้าใจโรคโควิด19ดีขึ้น เข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น สถานพยาบาลรองรับได้มากขึ้น เพราะมีระบบการรักษาที่บ้าน(HI) การรักษาแบบเจอแจกจบ(OPD) ซึ่งได้ผลมาก อย่างไรก็ตาม เหล่านี้จะอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ ที่หากเจ็บป่วยแล้วก็สามารถไปรักษาฟรีตามสิทธิได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ UCEP Plus ยังคงอยู่ อยู่ระหว่างหารือกัน แต่ขอให้มั่นใจว่ายึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

     ก่อนหน้านั้น นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้หากเป็นโควิด19 ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลแต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 กองทุน จะมีส่วนของ Extra pay สำหรับดูแลผู้ติดโควิด ซึ่งไม่ได้อยู่ในส่วนของงบประมาณของแต่ละกองทุน แต่เมื่อโควิด19เริ่มมีแนวโน้มขาลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐจะต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลกันเอง  
       ดังนั้น แนวโน้มทิศทางการบริหารจัดการงบประมาณของแต่ละกองทุนในการดูแลผู้ป่วยโควิด19 จะเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนของรพ.เอกชนที่มีความร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม ,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมบัญชีกลางจะต้องดำเนินการอย่างไร จะต้องดูแลและส่งต่ออย่างไร

   “เหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องรีบดำเนินการให้เกิดความชัดเจน  ซึ่งคณะกรรมการแต่ละกองทุนจะต้องรีบพิจารณา และประกาศออกมาให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อไหร่เป็นโรคประจำถิ่น ผู้ป่วยจะไม่เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินแล้ว เพราะฉะนั้น  UCEP Plus จะยังมีอยู่อาจจะยาก ส่วนงบประมาณที่เดิมจ่ายให้กรณีรพ.รักษาโควิด19แบบPlus plus เพิ่มเติมจากที่ไม่ได้อยู่ในงบประมาณปกติจะยังอยู่หรือไม่  รพ.จะต้องดำเนินการอย่างไร”นพ.ไพบูลย์กล่าว