ข่าวปลอม! ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง
ข่าวปลอม! ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง กรมควบคุมโรค ระบุ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีดาษลิงแต่อย่างใด
ตามที่มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีการแชร์ข้อความว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีดาษลิงแต่อย่างใด โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น
รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมควบคุมโรค สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือโทร.1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่เป็นความจริงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฝีดาษลิง และเชื้อไวรัสฝีดาษลิง พบได้ในสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด ข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์