สธ.จัด "ฝีดาษลิง”เป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” พร้อมระบุอัตราป่วยตาย
สธ.จัด “ฝีดาษลิง”เป็น “โรคติดต่อเฝ้าระวัง” ยังไม่ยกระดับเป็นโรคติดต่ออันตราย” เผย อัตราป่วยตาย 1 % ส่วนใหญ่หายเองได้ 2 วันเฝ้าระวังคนเดินทางจากประเทศเสี่ยง ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัย
เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2565 คณะกรรมการวิชาการตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มีมติเห็นชอบให้จัด โรคฝีดาลิง (monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และเป็นโรคระบาดนอกราชอาณาจักรและในบางประเทศที่มีการระบาดภายในประเทศแล้ว ยังไม่จัดเป็นโรคติดต่ออันตราย เนื่องจากเบื้องต้นยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทย ลักษณะการแพร่กระจายของโรคเป็นลักษณะคนใกล้ชิดกันมากๆ เฉพาะกลุ่ม ยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างไปหลายๆทวีป และอัตราป่วยตายยังเป็นสายพันธุ์ที่ป่วยรุนแรงน้อย
“ประเทศไทยมีการคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงตั้งแต่ 24 พ.ค.2565 ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยและขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคนี้มาก่อน ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่หายเองได้ แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ ในเด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนำไปสู่การสูยเสียการมองเห็น”นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า ข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรคฝีดาษลิง จากการรายงานข้อมูลผู้ป่วยทั่วโลก ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 พบว่า จาก 123 ราย เป็นชาย 122 ราย หญิง 1 ราย ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-59 ปี อาการป่วยที่สำคัญ ผื่น/ตุ่มนูน 98 % ไข้ 39 % ต่อมน้ำเหลืองโต 2 % และไอ 2 % ลักษณะของผื่น เป็นแผลUlcer 75 % ตุ่มน้ำใส 9 % ผื่นนูน/ตุ่มหนอง 2 % บริเวณที่พบผื่น ส่วนใหญ่พบบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณอวัยวะเพศ 39 % ปาก 30 % และรอบทวารหนัก 2 %
ฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ คือ West African Clade และCentral African Clade โดยสายพันธุ์ที่เจอในผู้ป่วยทั่วโลก จากการตรวจ 9 ราย พบเป็นสายพันธุ์ West African Clade มีอัตราป่วยตาย 1 % ซึ่งอัตราป่วยตายต่ำกว่า สายพันธุ์ Central African Clade ที่มีอัตราป่วยตาย 10 %