สำรวจ "ภาวะสังคมไทย" ช่วง 5 เดือนแรกของปี 65 เป็นอย่างไรบ้าง?

สำรวจ "ภาวะสังคมไทย" ช่วง 5 เดือนแรกของปี 65 เป็นอย่างไรบ้าง?

สรุป "ภาวะสังคมไทย" ไตรมาส 1 ของปี 2565 มีเรื่องที่น่าสนใจในหลายประเด็น อาทิ อัตราการว่างงานลดลง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น อัตราการเจ็บป่วยลดลง รวมถึงการปรับตัวด้านต่างๆ ของคนไทยต่อสภาวะเงินเฟ้อที่เผชิญอยู่

การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คศช.) ได้เผยแพร่ข้อมูล "ภาวะสังคมไทย" ไตรมาส 1 ของปี 2565 ซี่งมีเรื่องที่น่าสนใจทั้งอัตราการว่างงานลดลง, หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น, อัตราการเจ็บป่วยลดลง รวมถึงการปรับตัวต่อสภาวะเงินเฟ้อที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สรุปเรื่องที่น่าสนใจไว้ให้แล้ว

สำรวจ \"ภาวะสังคมไทย\" ช่วง 5 เดือนแรกของปี 65 เป็นอย่างไรบ้าง?

  • อัตราว่างงาน ลดลง 1.53%

สถานการณ์แรงงานไตรมาสหนึ่ง ปี 2565 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร มีการจ้างงานลดลงที่ร้อยละ 1.1 โดยการลดลงของการจ้างงานสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของ COVID-19

การว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกัน ของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า

มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ

1 ผู้ว่างงานที่ ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง

2 ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน

3 การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูง (เด็กจบใหม่) ยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 3.10

  • หนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 3.9%

ไตรมาสสี่ ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากร้อยละ 4.2 ของไตรมาสที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.1 ต่อ GDP ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 5.8 ของไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อนหน้า

ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก

1 ครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ

2 รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก

3 ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้

  • สุขภาพและการเจ็บป่วย ลดลง 37.9%

จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจาก 70,287 ราย เหลือเพียง 43,670 ราย หรือลดลงร้อยละ 37.9 ซึ่งเป็นการลดลงในทุกโรค

โดยผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่เป็นผู้ป่วยส่วนใหญ่ ลดลง ร้อยละ 16.7 ส่วนหนึ่ง เนื่องจากประชาชนมีการใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตดีขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะเสี่ยงฆ่าตัวตายซึ่งมีสัดส่วนลดลง จากร้อยละ 15.4 ในไตรมาสก่อน เหลือร้อยละ 8.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนสามารถทำกิจกรรมตามปกติได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการได้รับวัคซีนของประชาชน ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมีเพียง ร้อยละ 39.1 ส่วนร้อยละ 18.7 ยังไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มใดๆ เลย

รวมทั้งการสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดการ "ขยะติดเชื้อ" ซึ่งกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2564 ประเทศไทยมีขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึงร้อยละ 87

  • บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เพิ่มขึ้น 0.6%

ไตรมาสนี้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น แต่ต้องมีการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หลังจากการผ่อนคลายมาตรการ และการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน รวมถึงเฝ้าระวังและกำกับดูแลการจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์

การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน จากข้อมูลสำรวจของสำนักงาน สถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 23.7 มีการสูบบุหรี่ในตัวบ้าน ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกในครัวเรือนได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม ซึ่งมีสารพิษและสารก่อมะเร็งจำนวนมาก ปัจจุบันพบว่ามีการโฆษณาและจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงและซื้อมาบริโภคได้ง่าย

  • คดีอาญา ลดลง 26.9%

คดีอาญาโดยรวมลดลง แต่สัดส่วนคดียาเสพติดยังอยู่ในระดับสูง จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการปราบปราม การนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูให้หายขาด ป้องกันการกลับมาเป็นผู้เสพซ้ำ รวมทั้งการป้องกันการกระทำความรุนแรงกับผู้หญิง

  • อุบัติเหตุจราจร ลดลง 33.9% 

การรับแจ้งการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกมีจำนวน 21,463 ราย ลดลงร้อยละ 33.9 จากไตรมาสเดียวกันของ ปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 1,541 ราย ลดลงร้อยละ 26.5 ผู้บาดเจ็บรวม 10,953 ราย ลดลงร้อยละ 43.2

โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ

1 แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเพิ่มขึ้น จากการเริ่มกลับมาเดินทางและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

2 การตรวจสอบสภาพถนนให้พร้อมใช้งาน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง

3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการความร่วมมือ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ต้องอาศัยการทำงานตั้งแต่ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด ในการลดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สัญจร

---------------------------------------

อ้างอิง : ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2565