แจ้ง! คนไทยกลุ่มเสี่ยง สังเกตอาการ “ฝีดาษลิง”
กรมควบคุมโรคแจ้งคนไทยกลุ่มเสี่ยง สังเกตอาการ “ฝีดาษลิง” หากป่วยรีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง สัมผัสสัตว์ป่าจากแอฟริกาใกล้ชิด-เข้าร่วมกิจกรรมจุดแพร่เชื้อที่ต่างประเทศ
26 พ.ค.65 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสัตว์ในประเทศไทยต่อความเสี่ยงโรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox เช่น ลิงเขาสามมุก จ.ชลบุรี หรือลิงในพื้นที่ท่องเที่ยวว่า ประเทศไทยยังไม่เคยพบการรายงานโรคฝีดาษลิงในสัตว์ป่าของไทยมาก่อน โดยสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงคือจากทางทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะ ลิง สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ซึ่งการนำเข้ามาอย่างถูกต้องจะต้องผ่านกระบวนการตรวจโรคจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงจึงจะอยู่ที่สัตว์ป่านำเข้า
“ตอนนี้จึงให้กลุ่มผู้ที่สัมผัสสัตว์ป่าใกล้ชิดที่มาจากแอฟริกาไม่ว่าการนำเข้าด้วยวิธีใด และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจมีผู้ติดเชื้ออยู่ตอนนี้ ถ้ามีอาการป่วยก็ขอให้พบแพทย์แจ้ง ประวัติเสี่ยงและประวัติเดินทาง เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ” นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากสัตว์จะติดจากสัตว์ด้วยกัน ยังมีวงจำกัดในทวีปแอฟริกา ดังนั้น ความเสี่ยงของสัตว์ในไทยจึงน้อย แต่ความเสี่ยงจะอยู่ที่การนำเข้ามาแบบลักลอบ โดยโรคฝีดาษลิงเป็นโรคจากสัตว์สู่คน แม้เจอครั้งแรกในลิง แต่สัตว์นำโรคไม่ได้มีแค่ลิง ยังมีสัตว์ฟันแทะ สัตว์ป่า ซึ่งทวีปแอฟริกาที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ชนบบท และติดจากการใกล้ชิด
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวอีกว่า ช่วงนี้ที่มีการระบาดเพราะเมื่อต้นเดือนพ.ค.2565 มีการติดเชื้อนอกประเทศ คือ ทางยุโรป แพร่ระบาดคนสู่คน จากกรณีที่มีคนร่วมงาน Pride Festival ประเทศสเปน มีคนจำนวนมาก คนร่วมงานมีความใกล้ชิดกันมากๆ จึงพบการติดเชื้อเกิดขึ้นในหลายประเทศ จึงต้องกลับมาให้ความสนใจ เฝ้าระวังติดตาม ตรวจจับแต่เนิ่นๆ หากผู้ที่มีประวัติเข้าร่วมงานดังกล่าวเข้ามา จะได้ตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ให้ระบาดวงกว้าง
“การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงยากกว่าโควิด-19 เพราะต้องใกล้ชิดกันมากๆ สัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ไม่ใช่เพียงไอจามเหมือนโควิด-19 ดังนั้น จึงจะเน้นย้ำในกลุ่มที่เข้าพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง รวมถึงผู้ที่มีแผล ตุ่มหนองที่ลักษณะคล้ายโรคสุกใส ไข้ทรพิษ และเตือนประชาชนที่จะเข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่โควิด ต้องป้องกันโรคอื่นๆ ด้วย”นพ.ทวีทรัพย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอาการฝีดาษวานร(ฝีดาษลิง)ที่เข้าข่ายสงสัยจะต้องเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยง ซึ่งฝีดาษวานรกำลังระบาด คือ
-มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส
หรือ มีไข้ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ได้แก่
- เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต
-ประกอบกับมีผื่นกระจายตามลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด - และเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ใน ประเทศที่มีการรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศภายใน 21 วัน