ปรับวัฒนธรรมไทย “พึ่งพาตนเอง” ดันhealth & wellness สู่เมดิคัล ฮับ
โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 หรือ โรคฝีดาษลิง รวมถึงโรคเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลให้ประชาชนหันมาสนใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเองมากขึ้น
อุตสาหกรรมสุขภาพ ที่มีอัตราการเติบโตสูงอยู่แล้ว ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น Global Wellness Institute ได้ประมาณมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ไว้ราว 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ($4.5 trillion) ในปี 2022 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในช่วงปี 2022-2024 ประมาณว่ามูลค่าจะเพิ่มอีกราว 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ PwC (Price water house Coopers) คาดการณ์ว่าตลาดใน Asia-Pacific จะเติบโตอีกราว 40 % ในปี 2023 และมีมูลค่ามากกว่าตลาดในอเมริกาเหนือ โดยตลาดของ digital wellness นั้น คาดว่าจะเติบโตถึง 220.94 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2026 เพราะปี 2022 เฉพาะตลาดของ wearable devices จะมีมูลค่า 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ
- แนะศึกษาโมเดลไต้หวันไม่รักษาฟรีทุกคน
นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการ บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวถึงการสร้าง trend setter ใหม่ให้กับธุรกิจ health & wellness ของไทย ในงานสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่าช่วง 2 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกประเทศต่างทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาด
รวมถึงประเทศไทยที่ต้องใช้งบมหาศาล และทำให้เป็นหนี้สินมหาศาล แต่ทุกเรื่องจำเป็นต้องใช้ ซึ่งการแก้ปัญหาโควิด-19 ทำให้ไทยได้รับชื่อเสียงว่าบริหารจัดการได้ดีแม้จะมีข้อจำกัดจำนวนมาก
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และมี GDP ไม่มาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด ลงทุนกับ Healthcare ระบบสาธารณสุขคิดเป็น 20% ของภาษีทั้งหมดและมีการเพิ่มงบจำนวนมาก เพราะไม่มี Safety Net ต้องซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด ยกเว้นแรงงาน ไทยมีจำนวนแพทย์เพียง 5 คน ต่อประชากร 10,000 คน
- เปลี่ยนคนไทยพึ่งพาตัวเอง-มีเงินออม
สำหรับระบบสาธารณสุขของไทย มีระบบหลักประกันสุขภาพ บัตรทอง 30 บาทมาตั้งแต่ ปี 2546 ซึ่งคนในประเทศแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม โดยกลุ่มคนที่จนที่สุด มีประมาณ 13 ล้านคน แต่มาใช้บัตรทองเพียง 24 % ที่เหลือเป็นคนระดับกลางและระดับบน ทำให้งบประมาณจำนวนมากเกือบ 2 แสนล้านบาท
ยังไม่รวมงบกระทรวงสาธารณสุข งบสวัสดิการข้าราชการ รวมแล้วเกือบ 3-4 แสนล้านบาท แต่กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์อาจจะไม่ได้รับอย่างเต็มที่ การรักษาก็ไม่ได้ฟรีทั้งหมด ดังนั้น อยากให้ศึกษาโมเดลของไต้หวัน อยากให้คนรวยสุดได้มีโอกาสนำเงินเข้ามาเติมในกองทุนหลักประกันสุขภาพ ควรเป็นการรักษาตามจริงที่ไม่ต้องรักษาฟรีทุกคน
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า สิทธิบัตรทอง ระบบสวัสดิการต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีแต่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเรื่องเหล่านี้ คือ New Chapter ประเทศไทย และเป็นระบบที่กำลังสอนให้คนทั้งประเทศขอและรอ สร้างวัฒนธรรมการเป็นผู้ขอ ฉะนั้น ต้องปรับแก้วัฒนธรรม เปลี่ยนให้คนไทยเป็นคนขยัน พึ่งพาตัวเอง และมีเงินออมได้ รวมไปถึงควรมีการแบ่งงานระบบสาธารณสุข ระหว่างภาครัฐกับเอกชนให้มีความชัดเจน
"ประเทศไทยพูดถึง เมดิคัล ฮับ มาหลายรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ BOI ยังไม่เคยส่งเสริมการลงทุนในเรื่องเมดิคัลฮับอย่างแท้จริง ทุกคนพูด แต่ไม่มีกฎหมายมาสนับสนุนในเรื่องนี้ อยากให้ส่งเสริมการลงทุนจริงจังในเรื่องนี้ อย่างโครงการ UCEP ที่ให้รพ.เอกชนทั่วประเทศเข้าร่วม แต่เมื่อเฉลี่ยเงินให้รพ.เอกชนคืน มีเพียง 20-50% ที่ได้รับแล้วแต่รพ. ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่มีคนตายจากอุบัติเหตุรถยนต์จำนวนมาก ปีหนึ่งมีมากกว่า 20,000 กว่าราย และไม่เคยลดลงมีแต่เพิ่มขึ้น" นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
- รัฐต้องส่งเสริมไทยเป็น“เมดิคัล ฮับ”
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวด้วยว่าไทยมีรายได้จากเมดิคัลฮับ ประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญ หรือประมาณแสนล้าน สัดส่วนเกินครึ่งเป็นของ Healthcare ซึ่งถ้าดูรายได้เมดิคัล ฮับของไทย อาจจะมากกว่าประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อโดยสิงคโปร์มีเทียบกับประชากรหรือคนไข้ที่สิงคโปร์ต้องดูแลมีเพียง 8 แสนคน แต่ไทยมีคนไข้ต้องดูแลมากถึง 2-3 ล้านคน ฉะนั้น เมื่อพิจารณาตามรายได้ต่อหัว ไทยจึงน้อยกว่าสิงคโปร์ 3-4 เท่า
“ไทยมีความพร้อมในการเป็นเมดิคัล ฮับ และศักยภาพของแพทย์ไทย อุปกรณ์ เทคโนโลยีในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน เราสามารถดูแลได้ดีไม่แพ้ชาติอื่นๆ แต่ส่วนใหญ่ตอนนี้คนไข้จะไปรักษาที่สิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสนับสนุนเมดิคัลฮับ ส่วนประเทศไทยแม้แต่กฎหมายยังไม่มี ทั้งที่รัฐบาลส่งเสริม ฝากผู้ใหญ่ควรลดความขัดแย้งระหว่างนโยบายและการปฎิบัติ” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศที่ใช้ระบบเฉลี่ยงบประมาณ และประชาชนจะพึ่งพิงระบบสุขภาพที่รัฐกำหนด เมื่อจะรักษาโรคยากและซับซ้อน ก็ไม่มีโรงพยาบาลที่ดูแลอย่างชัดเจน เพราะเมื่อมีบัตรทอง 30 บาท ทำให้โรงพยาบาลรัฐ ต้องรับผู้ป่วยทุกคนทั้งที่โรงพยาบาลรัฐมีความพร้อมทั้งแพทย์ อุปกรณ์ และงบประมาณต่างๆ แต่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนได้เฉพาะ เนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยมาก
- "เมดพาร์ค" รักษาโรคยากและซับซ้อน
นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวด้วยว่าโรคยากและซับซ้อน คือโรคที่วินิจฉัยยากและมีความซับซ้อน ไม่ใช่โรคหายาก ซึ่งประชาชนที่พอมีกำลังในประเทศสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ และมีความต้องการให้ไทยมีโรงพยาบาลที่รักษาโรคยากและซับซ้อน
จึงเป็นเป้าหมายหลักของรพ.เมดพาร์คต้องการให้มีการย้ายการรักษาพยาบาลจากสิงคโปร์มาประเทศไทย ซึ่งถ้านโยบาย BOI เกิดขึ้นจริง แพทย์ไทยมีความสามารถ รพ.เมดพาร์ดจะเป็นรพ.ที่รักษาดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยมีการเตรียมห้องไอซียู 30% เพื่อรองรับรักษาผู้ป่วย
นอกจากนั้นจัดโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ อย่าง โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ เพราะตอนนี้แพทย์เสียชีวิตก่อนเวลาสมควร ถ้าหมอยังมีปัญหาสุขภาพแล้วจะดูแลผู้ป่วยได้อย่างไร โดยจะมีการตรวจให้ฟรี และหากพบว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจก็จะรักษาให้ฟรี เป็นต้น