มาแรง!เทรนด์ธุรกิจบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ใช้หลัก EPR แก้ปัญหาขยะ
ในปีที่ผ่านมามูลค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์โลกมีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 33 ล้านล้านบาท และอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี (2017-2023) ที่ร้อยละ 4.3
โดยมูลค่าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ปี 2021 มีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านบาท และอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 6.2 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามเพื่อช่วงชิงมูลค่าตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้
ขณะที่การเติบโตของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในประเทศไทยมีมูลค่าอุตสาหกรรมรวมกว่า 1 แสนล้านบาทซึ่งรัฐบาลได้เร่งสนับสนุนผ่านนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้
- ส่งเสริมEPRจัดการบรรจุภัณฑ์
ปี 2564 ประเทศไทยส่งเสริมเรื่องการนำหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) มาใช้เพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้วให้หมุนเวียนกลับมาใช้หใม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ชื่อ PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน
นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะทดลองใช้เครื่องมือ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ทั้งแก้ว กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม และพลาสติกโดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน
นอกจากนั้น ในกลุ่มของภาคธุรกิจ สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) จับมือ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และพื้นที่นำร่อง จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ประกาศโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ EPR
- ขยะปัญหาเรื้อรังสิ่งแวดล้อม
“ปรีญาพร สุวรรณเกษ” รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในงานสัมมนา “EPR ทางรอดของธุรกิจไทย และการมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” จัดโดยกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ TIPMSE ว่าขยะจากบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทย
สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอย ปี2564 พบว่า ไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย เกิดขึ้น ประมาณ 24.98 ล้านตัน ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 1 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการควบคุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
เมื่อดูการกำจัดขยะมูลฝอยดังกล่าว พบว่าได้รับการกำจัดถูกต้อง(เตาเผาผลิตพลังงาน ปุ๋ยหมัก ฝังกลบ) เพียง 9.28 ล้านตัน หรือ 37% ส่วนได้รับการกำจัดไม่ถูกต้อง(เทกอง เผากลางแจ้ง เตาเผาขนาดเล็ก)7.81 ล้านตัน หรือ 31% และถูกคัดแยก นำกลับไปใช้ประโยชน์ 7.89 ล้านตัน หรือ 32% ซึ่งแบ่งเป็น คัดแยกและใช้ประโยชน์ ณ สถานที่คัดแยก 4.00 ล้านตัน และคัดแยกใช้ประโยชน์ก่อนถูกเก็บขน 3.89 ล้านตัน
“ขยะมูลฝอยเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อนและเรื้อรังของสังคมไทย โดยเฉพาะขยะบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”ปรีญาพร กล่าว
โดยขณะที่พบมากสุด ได้แก่ ขยะอาหาร 39.4% และขยะพลาสติก 26.6% ซึ่งสาเหตที่ทำให้ขยะบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากวิถีชีวิตที่เน้นความสะดวกและขาดความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อม การผลิตและการบริโภคบรรจุภัณฑ์อย่างฟุ่มเฟือยของผู้ประกอบการและประชาชน การขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากรแฝ และการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
- EPRทางรอดภาคธุรกิจ
ขยะพลาสติกหลังการบริโภคมีประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ 0.5 ล้านตัน หรือ 25%และนำไปกำจัด 1.5 ล้านตัน หรือ 75% ขณะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ เมื่อหลุดไปสู่สถานที่กำจัดขยะในสัดส่วนที่เยอะ ไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
มีการกำหนดทิศทางนโยบายและกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ระบบ EPR การสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจของภาครัฐและภาคเอกชนต่อการจัดการบรรจุภัณฑ์ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งภาคเอกชนถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะเป็นผู้ผลิต
“โฆษิต สุขสิงห์” รองประธานTIPMSE กล่าวว่าTIPMSE เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้รวมตัวกันจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ต้องคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม และได้กำหนดนโยบาย การบริหารจัดการองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก
- ปรับสู่รักษ์โลก-ลดโลกร้อน
“TIPMSE มีบทบาทหลักในการส่งเสริม จัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการนำหลัก EPR เข้ามาขับเคลื่อนให้เกิดสังคมรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งTIPMSE มีตัวแทนผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ทุกองค์กรต่างตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม” โฆษิต กล่าว
การจะแก้ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ หรือผลิตบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ต้องเริ่มด้วยภาคเอกชน ภาคธุรกิจตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ การกระจายสินค้า การจัดจำหน่าย และการกำจัดต้องช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก
รวมถึงจะต้องการสร้างความตระหนักของผลกระทบที่มีจากบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการบริโภค และสร้างการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคให้ตระหนัก การบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ดึงต้นทุน หรือพลังงานที่ไม่จำเป็นในสังคม
ขณะนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)อยู่ระหว่างการจัดทํา(ร่าง)มตช.9มาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ การตรวจสอบย้อนกลับการรีไซเคิลพลาสติกและการประเมิน ความสอดคล้องและ ส่วนผสมรีไซเคิล-ข้อกําหนด (ระบุข้อกําหนดตั้งแต่การรับวัสดุ พลาสติก รีไซเคิล จนเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล เพื่อให้สามารถสอบกลับได้ถึงแหล่งที่มาของส่วนผสมของวัสดุพลาสติกรีไซเคิล) เป็นต้น
- เอกชนพัฒนาผลิตภัณฑ์แนว EPR
“นภดล ศิวะบุตร” รองประธาน TIPMSE กล่าวเพิ่มเติมว่าการเตรียมความพร้อมของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการจัดการผลิตภัณฑ์ด้วยแนวทาง EPR ในปี 2565 นี้ TIPMSE ได้ตั้งคณะกรรมการEPR ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การจัดทำร่างโรดแมป EPR ระยะ5 ปี และแผนดำเนินการ Pilot EPR Model ชลบุรี
รวมถึงสร้างมาตรฐานจูงใจให้ผู้ผลิตเข้าร่วมขับเคลื่อน EPR ขยาย Brand Owner ที่จะร่วมขับเคลื่อน EPR ที่เหมาะสมกับบริบทไทย จัดทำ Eco-Design บรรจุภัณฑ์ ศึกษากลไกลและองค์ประกอบของ EPR และเตรียมการขยายผลต้นแบบ EPR ทั่วทั้งจ.ชลบุรี
“ขณะนี้ TIPMSE มีความร่วมมือของทุกภาคส่วน กว่า 50 บริษัทในการขับเคลื่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ตามแนว EPR และพัฒนากลไกร่วมกับภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม ในการจัดทำให้ EPR เกิดขึ้นจริง และในปีนี้มีแผนขยายความร่วมมือ และแสดงเจตจำนงร่วมกัน ในงาน Propak Asia 2022 เดือนมิ.ย.นี้ โดยจะมีภาคธุรกิจเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 20 องค์กร ”นภดล กล่าวทิ้งท้าย
การที่ภาคเอกชนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ตามแนวคิด EPR จะส่งผลดีต่อ ทั้ง ชื่อเสียงขององค์กร และเรื่องการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ เนื่องจากถือเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในการช่วยแก้ปัญหาขยะที่เป็นปัญหาของทุกประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานของต่างประเทศ ในการให้ความสำคัญดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยโลก ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก
- หลักEPR ดีต่อธุรกิจไทย
Extended Producer Responsibility (EPR) คือ หลักการที่ขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัดเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์
“สุจิตรา วาสนาดำรงดี” สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมายของ EPR มี 2ด้าน คือ 1.การเปลี่ยนแปลงการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้จัดการได้ง่ายขึ้น และ2.การปรับปรุงการจัดการที่ปลายน้ำ เพื่อลดปัญหาการทิ้งขยะที่ไม่เป็นที่ เพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมและนำกลับมาใช้ประโยชน์
ดังนั้น หากภาคธุรกิจให้ความสำคัญในการนำหลักการ EPR มาใช้ จะช่วย ลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปกำจัดเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และช่วยลดภาระงบประมาณของท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยลงรวมถึง เป็นการช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกำจัดขยะ ซึ่ง EPR เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในไทยยังคงเป็นความสมัครใจ