ส่องโมเดลรับมือ “ปัญหาสุขภาพจิต” ลูกจ้างในสหรัฐ
เปิดวิธีการรับมือของนายจ้างกับปัญหาสุขภาพจิตของพนักงานในที่ทำงานของสหรัฐ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในไทยเช่นกัน หลังสถานการณ์ในยุคโควิด พาสุขภาพจิตย่ำแย่ไปด้วย
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล เป็นส่วนหนึ่งในบรรดาสาเหตุหลักที่ส่งผลให้พนักงานออฟฟิศในสหรัฐ ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้สถานการณ์ดังกล่าวแย่ลงไปอีก
ดาร์ซี กรุตตาดาโร ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตในที่ทำงานของมูลนิธิ American Psychiatric Association Foundation กล่าวว่า 3 มรสุมที่มาพร้อมกันอย่าง การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลก, ความตึงเครียดด้านเชื้อชาติและการเมือง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ได้สร้างความเครียดที่มากเกินไปทั่วสหรัฐ ส่งผลให้มีอัตราความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
“ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) และ สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากร (USCB) ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 พบว่า อัตราของผู้ที่มีอาการวิตกกังวลเพิ่มขึ้น 3 เท่า ขณะที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมากถึง 4 เท่า ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุ”
ความทุกข์ทางจิตสามารถส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประสิทธิภาพการทำงาน อันนำไปสู่การขาดการมีส่วนร่วม สมรรถภาพในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานลดลง เกิดข้อผิดพลาดในการทำงาน และสำหรับบางคนอาจจะไม่สามารถทำงานได้เลย เมื่อสภาพจิตใจไม่ปรกติย่อมส่งผลต่อร่างกาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ทางกายตามมาได้อีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อพนักงานเกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งได้รับผลกระทบต่อการทำงาน พวกเขามีสิทธิที่จะร้องขอการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการจ้างงาน วิธีการปฏิบัติงาน ตลอดจนสภาพแวดล้อมการทำงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติผู้ทุพพลภาพชาวอเมริกัน หรือ ADA
ความรับผิดชอบของนายจ้าง และสิทธิแรงงาน
กฎหมาย ADA กำหนดว่า ธุรกิจที่มีพนักงานตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป (หรือต่ำกว่านี้ในบางรัฐ) จะต้องจัดหา "สถานที่ที่เหมาะสม" สำหรับการปฏิบัติงานของพนักงานทุพพลภาพ ซึ่งรวมถึงผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิต
แต่ดูเหมือนคำว่า "ที่เหมาะสม" ทำให้มีช่องโหว่สำหรับการตีความ เพราะคำว่าเหมาะสมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สถานที่นี้อาจจะเหมาะสมกับพนักงานคนหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับคนอื่น ๆ เลยก็ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ขอเพียงสถานที่ดังกล่าวจะต้องไม่ก่อปัญหาทางการเงินจนเกินความสามารถที่นายจ้างจะจัดหาให้ได้ รวมถึงไม่ขัดขวางก่อความลำบากต่อการทำงานของพนักงานคนอื่น ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
“กล่าวอีกนัยหนึ่ง สถานที่ทำงาน ต้องไม่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็นสำหรับนายจ้าง พวกเขาต้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้" กรุตตาดาโรกล่าว โดยเธอเสริมว่า การปรับปรุงสถานที่ทำงาน หรือจัดหาสิ่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้พนักงานที่มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล เป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าและไม่หนักหนาเกินไปสำหรับนายจ้าง
ตัวอย่างเช่น พนักงานอาจเพียงต้องการวิธีการจัดการเวลาและการจัดการงาน การลาหยุดเพื่อพบแพทย์ ตลอดจนตารางการทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นได้
"สำหรับผู้ที่มีอาการวิตกกังวล พวกเขาไม่สามารถรับมือกับสิ่งเร้าหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้" กรุตตาดาโรกล่าว ดังนั้น แนวทางที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาของพนักงานกลุ่มนี้ คือ ให้ทำงานจากที่บ้าน หรือพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็ควรจัดหาให้ทำงานในสถานที่ที่เงียบ หรือ ให้หูฟังเพื่อป้องกันเสียงรบกวน
สร้างวัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่
แม้ว่าคุณจะเป็นนายจ้าง แต่ก็ไม่สามารถไปถามพนักงานของคุณว่าพวกเขากำลังป่วยหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่หรือไม่ เพราะ ADA ปกป้องสิทธิ์ในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งขึ้นอยู่กับพวกเขาเองว่าต้องการจะเปิดเผยเมื่อใด แต่นายจ้างสามารถออกแบบบทสนทนาที่เป็นมิตรและพูดคุยกันอย่างเปิดอก เพื่อให้พนักงานรับรู้ว่าสุขภาพจิตของพวกเขาเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับแรก
ดั๊ก นิวตัน จิตแพทย์ ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ที่ SonderMind บริษัทให้บริการการนัดพบผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตแบบส่วนตัว กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่จะทำได้คือ แค่แสดงว่าคุณใส่ใจ ให้พนักงานรับรู้ถึงความห่วงใย
“หากคุณสังเกตเห็นว่าพนักงานคนหนึ่งของคุณดูมีความทุกข์ใจ แสดงให้พวกเขารู้ว่าคุณอยู่ที่นั่นเพื่อสนับสนุนพวกเขา โดยใช้ภาษาที่ให้ความสำคัญกับคู่สนทนา อาจจะตั้งชุดคำถามไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับจัดหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ รวมถึงแชร์และเล่าถึงประสบการณ์ในการจัดการความเครียดหรือปัญหาทางสุขภาพจิตด้วยก็ได้ แต่อย่าคาดเดาอาการของพวกเขาเอง ปล่อยให้พวกเขาเล่าเอง”
นิวตันกล่าวต่อว่า "นายจ้างควรให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับสิทธิในการดูแลสุขภาพจิตและการให้ความช่วยเหลือระหว่างการทำงานด้วย"
อย่างน้อยที่สุด บริษัทควรมี “โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน” หรือ EAP เป็นโปรแกรมที่ประเมิน ให้คำปรึกษา และติดตามปัญหาทางจิตให้แก่พนักงาน โดยที่ข้อมูลทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อหวังจะลดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตให้กับพนักงาน ซึ่งหลายบริษัทในไทยก็มีการใช้ EAP ด้วยเช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำองค์กรจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการสร้างสภาพแวดล้อมและนโยบายที่มีต่อพนักงานที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต แสดงให้พวกเขารู้ว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปรกติและพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ
กรุตตาดาโร เสริมว่า “ภาวะผู้นำเป็นผู้กำหนดวัฒนธรรม คำสั่งของผู้นำองค์กรจะแพร่กระจายไปในองค์กรอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้ว่าองค์กรของคุณเอาใส่ใจในสุขภาพของพนักงานหรือไม่”
ที่มา Fortune, Pharmaceutical Technology