กลวิธีจัดการ "ความเครียด" เมื่อต้องกลับมาเรียน ทำงานออนไซต์ ในยุคโควิด
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีแนวโน้มชะลอตัว และมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทำให้หลายๆ คนได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ตามวิถีชีวิตใหม่มากขึ้น
ทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน ล้วนส่งผลกระทบแก่ทุกคน ไม่ว่าจะด้วยเรื่องโรคระบาดที่ขณะนี้มีโรคฝีดาษลิง เข้ามาเพิ่มเติม เศรษฐกิจ รายได้ที่หายไปในช่วงโควิด-19 การว่างงาน รวมถึงการกลับมาทำงานออนไซต์ที่ทำงานเช่นเดิม ก่อให้เกิดปัญหา หรือความเครียดทั้งสิ้น
- เช็กอาการเบื้องต้น ก่อเกิดความเครียด
โครงการCU Sustainable Well-Being :เสริมสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมสัมมนา “กลวิธีจัดการความเครียดในยุคโควิด”
โดยมี ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นในช่วงโควิด หรือ หลังโควิด-19 ทุกคนล้วนเกิดความเครียด ซึ่งอาการเบื้องต้นทางกาย สามารถสังเกตได้ เช่น มือเย็น มือสั่น ใจสั่น กระสับกระสาย คิ้วขมวด ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ถ้ามีอาการเหล่านี้ทุกคนต้องเริ่มพิจารณาตัวเอง การเครียดเป็นการตอบสนองทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ โดยเมื่อเวลาเครียด หลายคนมักจะยิ้มไม่ได้ ไม่เป็นสุข ไม่มั่นใจ ไม่ได้เป็นตัวเองทางปกติ บางคนเศร้า เสียใจ
“ขอให้ทุกคนตามดู รู้ทัน สังเกตทางกาย อารมณ์ และใจ และเมื่อรู้ก็ให้ทำความเข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องงาน ครอบครัว โควิด-19 ล้วนเป็นตัวกระตุ้นความเครียด ซึ่งแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เนื่องจากการรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ แตกต่างกัน ดังนั้น เวลาอยู่กับคนที่แตกต่างกัน จะเครียดต่างกัน ขอให้ทุกคนอยู่ด้วยความเข้าใจ เมื่อปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น ต้องยอมรับว่าตัวกระตุ้นความเครียดต่างกัน การตอบสนองแตกต่างกัน มาจากสถานการณ์ ประสบการณ์เดิม”ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว
- ประเมินตนเอง ค้นหาตัวกระตุ้น จัดการเชิงบวก
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อว่าความเครียด เป็นการตอบสนอง ถ้าตอบสนองได้อย่างเหมาะสม ความเครียดที่สามารถจัดการได้ จะเป็นประโยชน์ได้ เช่น เป็นตัวกระตุ้นทำให้ทุกคนเข้มแข็ง อดทน เป็นแรงผลักดันให้ทำสิ่งนั้นสำเร็จ
ฉะนั้น เราควรจับให้ทันสัญลักษณ์ความเครียด มองความเครียดในวิธีใหม่ ถ้าเราจัดการได้ อาจเป็นแรงผลักดันให้ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ สำหรับตัวกระตุ้นในช่วงโควิด ที่ทำให้เกิดความเครียด คือ โรคภัยที่ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ความสัมพันธ์ เศรษฐกิจเงินในกระเป๋า การทำงานออนไลน์ และเส้นขอบระหว่างงานกับครอบครัว
คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า เมื่อมีความเครียด ขอให้ประเมินขั้นตอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ตัวกระตุ้น ทำให้รู้สึกบวกหรือลบ มีความเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ และเมื่อประเมินว่าไม่เกี่ยว หรือทำให้รู้สึกบวกก็จะไม่มีความเครียด
แต่เมื่อใครที่ทุกคนรู้สึกว่าเสี่ยงกับตัวเอง อันตรายกับตัวเอง รู้สึกลบจะรู้สึกเครียดทันที หรือการ Work from home บางคนอาจเครียดแต่บางคนอาจไม่เครียด สิ่งที่เข้ามากระตุ้นความเครียดอาจจะไม่ได้ทำให้เครียด แต่ทุกคนสามารถตั้งรับ
- 5 วิธีจัดการความเครียด ในยุคโควิด-19
ส่วนวิธีจัดการความเครียด เริ่มแรกขอให้ถามตัวเองว่ามีวิธีอะไรจัดการความเครียด จัดการกับสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเหล่านั้นได้บ้าง อาทิ การตีความใหม่ทางบวก เป็นวิธีจัดการกับปัญหาที่มีประสิทธิภาพและช่วยให้ทุกคนได้ดีขึ้น หาความหมายว่าอะไรที่ทำให้ทุกคนอดทน และผ่านช่วงเวลาความเครียดไปได้ เว้นเสพสื่อที่เครียด เป็นต้น
“วิธีจัดการความเครียดไม่มีวิธีที่ดีที่สุด แต่วิธีที่ดี คือ ต้องมีวิธีที่หลากหลาย แก้ไปที่ปัญหา ออกกำลังกาย ฟังเพลง จัดบ้าน ดูซีรี่ย์ ส่วนการเดินเล่น ช็อปปิ้งเป็นการจัดการทางอารมณ์ ทำให้ใจสบายแต่อาจจะทำให้เกิดความเครียดด้านอื่นๆ เช่น อ้วนขึ้น หรือต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนั้น ต้องมองหาวิธีจัดการความเครียดที่เหมาะสมต้องวางมุมมอง ขอให้ตั้งสติในการรับมือ หากลยุทธ์ หาการสนับสนุนในการแก้ปัญหา” คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าว
ทั้งนี้ การจัดการปัญหา มีรูปแบบแตกต่างกัน ซึ่งมีทั้งหมด 5 วิธีที่ทุกคนมักนำมาใช้ในการแก้ปัญหา คือ
1.มุ่งจัดการกับปัญหาโดยตรง ทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียด
2.การจัดการแบบแสวงหาการสนับสนุน เช่น การพูดคุยกับคนใกล้ชิด การหาที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งการใช้วิธีที่ 1 และ 2 สลับกันจะยิ่งดี ยิ่งทำให้ลดความเครียดได้ดี
3.วางแผนจัดการปัญหาอย่างมีสติ ทำความเข้าใจ วางแผนเข้าใจปัญหา และวางแผนจะจัดการอย่างไร?
4.การหลีกหนีปัญหา แต่ไม่อยากแนะนำให้ใช้วิธีนี้ เพราะความเครียดยังอยู่ เช่น เราแอบคิด แอบหวังว่าปัญหาจะดีขึ้นโดยที่ไม่ได้จัดการปัญหา
5.การจมดิ่งกับอารมณ์ ยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ทางลบ ทำให้หมดแรง หมดกำลังใจ อันนี้พยายามขอให้เลี่ยง ไม่ควรจัดการด้วยวิธีนี้
- ทบทวนคุณค่า สิ่งที่มีความหมายของชีวิตตัวเอง
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวด้วยว่า การไปหาจิตแพทย์ ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรคทางจิต ซึ่งการไปพบจิตแพทย์ในต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติมากๆ ทุกคนสามารถไปพบหรือปรึกษาจิตแพทย์ โดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ก็มีบริการให้คำปรึกษาร่วมด้วย และเมื่อเข้าใจความเครียด ขอให้ตั้งรับปัญหา
ส่วนการป้องกันไม่ให้ตัวเองเครียดนั้น ต้องใช้พลังล้มแล้วลุก เมื่อเจอปัญหา ความเครียด จะมีการฟื้นตัว ยืดหยัดกับมาได้ ทุกคนควรเสริมกำลัง พลังนี้ให้แก่ตนเอง
"การเตรียมตัวก่อนจัดการความเครียด หรือเกิดความเครียด ขอให้สังเกตตนเอง และมองหาว่าตัวเองมีใคร วันไหนที่เครียดมากมีแหล่งสนับสนุนอยู่หรือไม่ หรือการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิดมีความจำเป็น อย่างปล่อยให้ระยะห่างเกิดในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนใกล้ชิดออกห่างจากกัน และควรทบทวนว่าตัวเองคือใคร อะไรที่ตัวเองให้คุณค่าและมีความหมายของชีวิตตัวเอง" คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าว