เช็ก 10 ความผิดปกติของ "ปอด" และ "มะเร็งเต้านม" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

เช็ก 10 ความผิดปกติของ "ปอด" และ "มะเร็งเต้านม" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

รพ.บำรุงราษฎร์ เปิดตัว Radiology AI ปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา ผู้ช่วยรังสีแพทย์ในการวิเคราะห์ และระบุตำแหน่ง 10 ภาวะความผิดปกติของ "ปอด" และคัดกรอง "มะเร็งเต้านม" เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัย เพิ่มอัตรารอดชีวิต

ปัจจุบันเรียกได้ว่ากระแสของ "ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence :AI)" ถือเป็นเทคโนโลยีที่ผู้คนทั่วโลกต่างให้ความสนใจและจับตามอง จนทุกวันนี้ AI ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมหาศาล เพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ และเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในหลากหลายด้านมากขึ้น 

 

และหนึ่งในส่วนช่วยการทำงานของแพทย์ ได้แก่ ด้านรังสีวิทยา ซึ่งแต่เดิมที่ต้องใช้ห้องในการเก็บฟิล์มเอกซเรย์ผู้ป่วยจำนวนมาก และเสียเวลาในการค้นหากว่าชั่วโมง ปัจจุบัน มีการนำฟิล์มเอกซเรย์เข้าสู่ระบบดิจิทัล และ AI ถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการค้นหาสิ่งผิดปกติไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของร่างกาย อาทิ "ปอด" และ "มะเร็งเต้านม" เพื่อช่วยให้รังสีแพทย์ วินิจฉัยได้แม่นยำ นำไปสู่การรักษาที่รวดเร็วเพิ่มมากขึ้น 

 

เมื่อวันที่ 31 พ.ค .65 "นพ. อลงกรณ์ เกียรติดิลกรัฐ" รองหัวหน้าแผนกรังสีวิทยา และแพทย์ชำนาญการด้านรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานแถลงข่าวออนไลน์ The Evolution of Medical Imaging Technology  โดยอธิบายว่า  AI เป็นคำยอดฮิตในปัจจุบัน เราได้ยินแทบทุกวงการ ไม่ว่าการลงทุน การทำงานด้านต่างๆ ในทางการแพทย์ AI เริ่มมีบทบาทมาก โดยสาขาหนึ่งที่เริ่มมีการใช้งานอย่างจริงจัง คือ รังสีวิทยา เพราะภาพการวินิจฉัยเป็นดิจิทัล เอื้อให้ AI เข้ามาทำงานร่วมกับภาครังสีได้ง่าย

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

วิวัฒนาการ เอ็กซเรย์-วินิจฉัยโรค

 

"นพ.อลงกรณ์" เล่าว่า ตั้งแต่ช่วงก่อนปี 2000 ประเทศไทยยังถ่ายเอกซเรย์โดยใช้ฟิล์มเป็นแผ่นๆ ต้องนำไปผ่านกระบวนการล้างฟิล์ม และจะได้ฟิล์มที่มีรูป นำมาส่องไฟ แพทย์ต้องมีกล่องไฟที่ติดอยู่ข้างโต๊ะเพื่อดูฟิล์มเอกซรย์ หากภาพไม่ชัดเจน สั่นไหว มืดหรือสว่างไป ต้องเรียกผู้ป่วยมาถ่ายใหม่ แต่พออยู่ในยุคดิจิทัล ถ่ายเสร็จสามารถมองเห็นได้ทันที เช็กได้เลยว่าภาพที่ถ่ายชัดเจนหรือไม่ สามารถถ่ายใหม่ได้ตอนนั้นทันที

 

ขณะเดียวกัน เนื่องจากแต่ก่อนฟิล์มเอกซเรย์เป็นแผ่น เจ้าหน้าที่จึงต้องไปหาซองสำหรับเก็บข้อมูลคนไข้ เพื่อเก็บใช้งานในครั้งต่อไป ทำให้ รพ.ขนาดใหญ่มีจำนวนฟิล์มเอกซเรย์กว่าหมื่นๆ ซองในห้องเก็บฟิล์ม ต้องใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงในการหามาให้แพทย์ นอกจากนี้ หากซองมี 10-20 ฟิล์ม การที่แพทย์ต้องหาฟิล์มที่ต้องการก็ไม่ง่าย

 

แต่พอมายุคดิจิทัล เราทำงานได้ง่ายขึ้น ถ่ายเสร็จ เก็บไว้ในระบบ แพทย์สามารถเรียกดูได้ทันที ไม่ต้องรอ หากจะดูฟิล์มเก่า เรียกได้ทันทีในระบบคอมพิวเตอร์ แต่เดิมเคยใช้เวลาเป็น ชั่วโมงเหลือเพียงแค่ไม่กี่นาทีก็สามารถดูได้

 

นอกจากนั้น ฟิล์มดิจิทัล ก็เหมือนการดูภาพจากกล้องดิจิทัล สามารถปรับสว่าง ซูมดูได้ หากสมัยก่อนรังสีแพทย์ที่โต๊ะทำงานจะมีแว่นขยายเนื่องจากฟิล์มขยายไม่ได้ และต้องมีไฟสว่างเพื่อปรับแสงดู แต่ตอนนี้ปรับได้ในจอมอนิเตอร์ ลดโอกาสถ่ายภาพใหม่ คนไข้ได้รับรังสีน้อยลง

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

AI วิเคราะห์ปอด มะเร็งเต้านม

 

ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ ได้มีการนำ Radiology AI ปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาเข้ามาใช้ในโรงพยาบาล เสมือนเป็นผู้ช่วยรังสีแพทย์ทั้งในส่วนของการคัดกรอง การวิเคราะห์ และการวินิจฉัย พร้อมระบุตำแหน่งภาวะความผิดปกติของปอด และมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2564 มีความล้ำทันสมัยในการวินิจฉัย มีความเสถียร แม่นยำ และรวดเร็ว ด้วยการใช้ Microsoft Azure แพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

 

ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์ได้ใช้เทคโนโลยี Radiology AI ในศูนย์ตรวจสุขภาพ แผนกผู้ป่วยวิกฤต (ICU) แผนกฉุกเฉิน และแผนกอื่น ๆ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. Radiology INSIGHT CXR จะใช้ในการวิเคราะห์ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก เฉลี่ย 100,000 ภาพต่อปี  2. Radiology INSIGHT MMG จะใช้วิเคราะห์มะเร็งเต้านมจากภาพถ่ายแมมโมแกรม 

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

 

เช็ก 10 ภาวะผิดปกติของปอด ด้วย AI

 

นพ. กุรุวินท์ ลิ้มสมุทรเพชร แพทย์ชำนาญการด้านรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า "ปัญญาประดิษฐ์" สำหรับการเอกซเรย์ปอด หรือ Radiology INSIGHT CXR เสมือนเป็นผู้ช่วยรังสีแพทย์ในการตรวจหาภาวะความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ปอด เช่น ก้อนมะเร็งปอด ซึ่งรวมถึงจุดเล็กๆ ในตำแหน่งที่ยากต่อการวินิจฉัย วัณโรคในระยะที่แสดงอาการ รวมถึงช่วยวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ภาวะลมรั่วในปอด ซึ่งหากเกิดลมรั่วน้อยๆ ผู้ป่วยบางรายอาจยังไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมาด้วยอาการเจ็บหน้าอก โดย 10 ภาวะผิดปกติของปอด ที่ AI สามารถช่วยตรวจหาจากภาพเอกซเรย์ปอดได้ คือ 

  • ภาวะที่เงาส่วนกลางช่องอดดระหว่างปอด 2 ข้าง กว้างผิดปกติ 
  • ภาวะที่มีลมรั่วอยู่ในช่องท้อง
  • ภาวะที่มีน้ำในช่องเยื้อหุ้มปอด 
  • ภาะวที่เกิดหินปูนในปอด 
  • ภาวะหัวใจโต 
  • ภาวะที่มีจัดหรือก้อนในปอด 
  • ภาวะที่มีลมรั่วในช่องเยื้อหุ้มปอด
  • ภาวะที่ถุงลมของปอดถูกแทนที่ด้วยสิ่งผิดปกติ เช่น น้ำ หรือ หนอง หรือเลือด
  • ภาวะที่มีพังผืดที่ปอด 
  • ภาวะที่ปอดขายตัวไม่เต็มที่หรือปอดแฟบ

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

 

พบความผิดปกติเร็ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต 5 ปี 73%

 

ที่ผ่านมา รพ.บำรุงราษ ได้ใช้ในการวิเคราะห์ปอดกว่า 1 แสนราย โดยจำนวนผู้ป่วยที่มารักษามีหลากหลายโรคความรุนแรงแตกต่างกันไป และพบทั้ง 10 ภาวะความผิดปกติ หากรังสีแพทย์สามารถวินิจฉัยได้เร็วและทราบผลตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่พลาดโอกาสในการรักษา โดยมีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะทำให้มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ถึง 73% แต่หากวินิจฉัยช้า อัตราการรอดชีวิต 5 ปีจะเหลือเพียง 18% เท่านั้น

 

"อย่างไรก็ตาม Radiology AI ไม่ได้เข้ามาเพื่อทดแทนที่รังสีแพทย์ แต่จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนสำหรับกระบวนการวินิจฉัยและตัดสินใจของรังสีแพทย์ โดยจะเป็นรูปแบบการให้ “ความเห็นที่สอง” (Second Opinion) ซึ่งจากผลการสำรวจความคิดเห็นของรังสีแพทย์ส่วนใหญ่มากกว่า 60% ระบุว่าได้รับประโยชน์จากการนำ Radiology AI มาใช้ในการช่วยวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ปอด สำหรับในส่วนของซอฟต์แวร์ Radiology AI นั้น ยังมีโอกาสการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น" 

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

 

AI คัดกรองมะเร็งเต้านม

 

ด้าน "พญ. พัชรี ประสิทธิ์วรนันท์" แพทย์ชำนาญการด้านรังสีวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี 2563 พบหญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ ประมาณ 18,000 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม ประมาณ 4,800 คน หรือเฉลี่ย 13 คนต่อวัน ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยและจากรายงานยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ฉะนั้นผู้หญิงใน 3 กลุ่มที่ควรตรวจแมมโมแกรม ได้แก่

  • ผู้หญิง 40 ปีขึ้นไป
  • กลุ่มอายุไม่ถึง 40 ปี แต่มีความเสี่ยงสูง
  • กลุ่มที่มีความผิดปกติที่เต้านม

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน

 

ปัจจุบันบำรุงราษฎร์มีการนำปัญญาประดิษฐ์สำหรับแมมโมแกรม หรือ Radiology INSIGHT MMG ซึ่งมีส่วนช่วยในการคัดกรอง วิเคราะห์ และวินิจฉัยมะเร็งเต้านมบนภาพถ่ายแมมโมแกรม โดยก่อนหน้านี้ รังสีแพทย์ก็มีการอ่าน แปลผล วิเคราะห์ และวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายต่างๆ อยู่แล้ว แต่การนำ AI เข้ามาใช้ทางการแพทย์นั้น เสมือนมีผู้ช่วย มาช่วยวิเคราะห์ โดยในส่วนนี้เองจะช่วยเพิ่มความรอบคอบให้กับแพทย์ได้มากขึ้น

 

เพิ่มอัตรารอดชีวิต 5 ปี 99% 

 

"ทั้งนี้ รังสีแพทย์จะนำผลของ Radiology AI มาประกอบการวินิจฉัย มะเร็งเต้านมหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และเริ่มการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี สูงถึง 99% แต่หากวินิจฉัยช้า ทำให้อัตราการรอดชีวิต 5 ปี จะลดลงเหลือ 86% ลงมาจนถึง 29% ตามระยะของมะเร็งที่สูงขึ้น ดังนั้น หากตรวจพบเร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น” "พญ. พัชรี กล่าว 

 

เช็ก 10 ความผิดปกติของ \"ปอด\" และ \"มะเร็งเต้านม\" ด้วย AI รู้เร็ว รักษาทัน