ส่องวิกฤติโควิด “เครื่องช่วยหายใจ” โต 10 เท่า ความต้องการเพิ่มทั่วโลก
ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ว่าการผ่าตัดและรักษาโรคอื่นๆ ใน รพ.ลดลง ส่งผลให้การเติบโตของ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลง แต่ยังพบว่า วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ กลับมีอัตราเพิ่มขึ้นขึ้น 23.8% รวมถึง "เครื่องช่วยหายใจ" ที่การผลิตเพิ่มขึ้น 10 เท่า
ก่อน โควิด-19 ความท้าทายในอุตสาหกรรม Healthcare โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีสูง คือ การศึกษาวิจัย การทำงานร่วมกับแพทย์ และทำอย่างไรให้ผู้ป่วยเข้าถึง แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด ความต้องการเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโควิดเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจที่การผลิตเพิ่มถึง 10 เท่า ตลาดเผชิญความท้าทายใหม่ การวิจัยต้องรวดเร็ว แต่ยังคงมาตรฐาน
“รานีวรรณ รามศิริ” ผู้อำนวยการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ก่อนช่วงการระบาดของโควิด-19 ความท้าทายด้าน Healthcare ทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มของเครื่องมือแพทย์ที่มีเทคโนโลยีสูง คือ การเข้าถึงของผู้ป่วย อาทิ เครื่องกระตุ้นหัวใจที่ถูกใส่ในทรวงอก หรืออุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัด หลายองค์กรในอุตสาหกรรมได้ร่วมด้วยช่วยกัน เพราะนอกจากจะพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ต้องตอบโจทย์และสร้างผลลัพธ์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ วิเคราะห์วิจัย เพื่อได้ผลิตภัณฑ์นี้ออกมา และทำงานร่วมกับแพทย์ในการประยุกต์ใช้ช่วยเหลือผู้ป่วย และสุดท้ายให้เข้าถึงผู้ป่วยจริงๆ
“ความท้าทายเหล่านี้เป็นอีโคซิสเต็ม ดังนั้น นอกจากการวิจัย พัฒนาเครื่องมือแพทย์ ยังต้องจับมือกับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงช่วยกันกับภาครัฐ ในการให้เทคโนโลยีเข้าถึงผู้ป่วย ทั้ง 3 สิ่งนี้ คือ ความท้าทายที่ประสบอยู่ในช่วงก่อนโควิด”
ปี 2565 อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 70 ล้านล้านบาท
เมื่อย้อนดูอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั่วโลกในช่วงก่อน โควิด-19 ข้อมูลจาก วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในปี 2561 อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีมูลค่าการค้าในตลาดโลก (ผลรวมการส่งออกและนำเข้า) สูงกว่า 70 ล้านล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็น “ครุภัณฑ์ทางการแพทย์” (Durable medical device) ได้แก่ เครื่องมือทางการ แพทย์ที่มีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 1 ปี เช่น อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศัลยกรรม ทันตกรรม เครื่องวินิจฉัยโรคด้วยไฟฟ้า และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 76% ของมูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของโลก เพิ่มขึ้นจาก 73% จากปี 2552 รองลงมา คือ “วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์” สัดส่วน 20% และ “น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค” สัดส่วน 4%
โควิด เครื่องช่วยหายใจโต 10 เท่า
ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจน คือ การเร่งเทคโนโลยีทั้งด้านนวัตกรรมและกำลังการผลิตเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยในช่วงที่ไม่มีเวลามากนัก ประสบการณ์ตรงของเมดโทรนิค คือ “เครื่องช่วยหายใจ” รวมถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับท่อที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมีความต้องการสูง ภาพรวมบริษัทที่ผลิตเครื่องช่วยหายใจทั่วโลก พบว่า ความต้องการเพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้อัตราการผลิตเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากผลิตหลักร้อย เพิ่มขึ้นเป็นหลักพันต่อเดือน ดังนั้น ความท้าทาย คือ ผลิตอย่างไรให้เร็วที่สุด คงไว้ซึ่งคุณภาพ และปรับในเรื่องคุณภาพเครื่องให้ตอบโจทย์ยุคโควิด วิจัย พัฒนา ให้สามารถคุมระบบทางไกลได้
รานีวรรณ กล่าวต่อไปว่า สินค้าที่ขายดี จะสอดคล้องกับอุบัติการณ์การเกิดโรค โควิดไม่ได้ทำให้อุบัติการณ์โรคอื่นๆ ลดลง แต่กลับเพิ่มอุบัติการณ์โรคระบบทางเดินหายใจที่อาจเคยมีอยู่ระดับหนึ่ง กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการวิจัยพัฒนาจากเดิมอาจใช้เวลาราว 2-3 ปี เหลือภายใน 6 เดือน มีการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนเพื่อให้โลกพ้นวิกฤติ รวมถึงจับมือกับ Tesla ในการร่วมมือกันใช้อุปกรณ์บางอย่างที่ Tesla มีความชำนาญ ในการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ผลิตได้มากขึ้นตามดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก ถือเป็นการปรับทั้งอีโคซิสเต็ม
“เรื่องของดิจิทัลแต่เดิมอุตสาหกรรมอื่นอาจจะขับเคลื่อนเร็วกว่า Healthcare แต่โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยน ตอนนี้คนไข้ไม่ไปโรงพยาบาล ระบบเทเลเมดิซีน กลับถูกรื้อขึ้นมา ต้องทำ และต้องเร็ว เราทุกคนต้องปรับตัว ในวิกฤติโควิดที่กระทบทั่วโลกทั้งเศรษฐกิจและสุขภาพ ก็นำมาซึ่งโอกาสหลายอย่างที่ทำให้ต้องทำ คิด ปฏิบัติ และนำมาใช้ได้เร็วขึ้นกว่าวงรอบปกติ”
ความท้าทายหลังโควิด
ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 ที่การผ่าตัดที่ลดน้อยลง อาจจะมีผลต่อการขายสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ลดลงสอดคล้องกับอัตราครองเตียง เพราะลำดับความสำคัญเปลี่ยนไปในฉับพลัน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยที่อยู่ในคิวรอการผ่าตัดที่ถูกชะลอไป ดังนั้น ความท้าทายหลังโควิด-19 หายไป “ผู้อำนวยการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด” มองว่า บุคลากรทางการแพทย์และผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ ต้องเร่งในการเคลียร์ผู้ป่วยที่รอเข้ารักษาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากการชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากวิกฤติโควิด-19
ปี 2563 วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์โต
ทั้งนี้ เมื่อดูในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 จาก วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พบว่า มูลค่าการค้าของเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในตลาดโลก (ผลรวมของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า) หดตัว 9.7% จากปี 2562 ผลจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้ความต้องการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น
ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ภายในเป็นลำดับแรก โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีสัดส่วนสูงสุด 66.3% ของมูลค่าการค้าเครื่องมือแพทย์ทั่วโลก หดตัว 20.5% อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากตามความต้องการใช้ ส่งผลให้กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ สัดส่วน 28.3% ของมูลค่าการค้าเครื่องมือแพทย์ทั่วโลก เพิ่มขึ้น 23.8% และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค สัดส่วน 5.5% เพิ่มขึ้น 20.5% ตามลำดับ
สำหรับปี 2565-2566 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-7.0% ต่อปี ผลจากการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศทำให้การระบาดของโควิด-19 บรรเทาลง ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทยอยกลับสู่ระดับใกล้เคียงปกติ ทำให้ความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเหลือ 8.0% ต่อปี หลังจากมีอัตราการขยายตัวสูงมากในช่วงปี 2563-2564 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองสูงโดยเฉพาะถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์