ข้อมูลส่วนบุคคล "สิทธิ" ที่ต้องปกป้อง

ข้อมูลส่วนบุคคล "สิทธิ" ที่ต้องปกป้อง

กฎหมาย PDPA มีขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานการใช้ข้อมูลขององค์กรธุรกิจ การจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจากนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของไทยมีมาตรฐานการใช้ข้อมูลในแบบสากล

หลังเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ พีดีพีเอ มากว่า 2 ปี วันนี้เป็นวันแรกที่กฎหมายบังคับใช้ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เพื่อ “คุ้มครอง” และ “ให้สิทธิ” กับเจ้าของข้อมูลได้ “ปกป้อง” ข้อมูลส่วนตัว และป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางที่ผิด เสียหาย สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า นับจากนี้ไปข้อมูลส่วนตัวของเราจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลตามกฎหมาย 

กฎหมายฉบับนี้ ยังมีขึ้นเพื่อสร้างมาตรฐานการใช้ข้อมูลของให้องค์กรธุรกิจ ที่ต้องรักษาความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลอยู่เสมอ การจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจากนี้ ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของไทย มีมาตรฐานการใช้ข้อมูลในแบบสากล เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ บนเวทีโลกได้เข้มแข็งขึ้น หมุดหมายของไทยในการก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ย่อมต้องอาศัยความเข้มแข็งและการกำกับดูแลที่เข้มข้นของข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน

 

รัฐย้ำว่า กฎหมายพีดีพีเอไม่ใช่กฎหมายที่มุ่ง “เอาผิด” หรือลงโทษใคร ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวล แต่หากรู้ว่าข้อมูลของเรารั่วไหล ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง เรามีสิทธิที่จะร้องเรียนได้ตามกฎหมาย และดำเนินคดีเอาผิดกับคนที่เอาข้อมูลไปใช้ได้ ทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราได้รับความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม หลังการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ยังจะมีการทำกฎหมายลูกออกมารองรับด้วยอีกหลายฉบับ รวมถึงไกด์ไลน์แนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่ประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้ได้

หลักๆ ของตัวกฎหมายจะดูที่ “เจตนา” ต้องไม่ไปสร้างผลกระทบ การจะหยิบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของใครจากนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงให้มากคือ ต้องไม่กระทบสิทธิ์คนอื่น ไม่แสวงหากำไร แต่หากเมื่อไหร่ก็ตามมีสองส่วนนี้เป็นองค์ประกอบและเราไม่รู้ตัว คนที่ได้รับผลกระทบ มีสิทธิขอให้เราลบสิ่งที่เป็นการละเมิดออกได้ เช่นเดียวกัน

เมื่อจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องดูให้ดีว่า กฎหมายให้อำนาจหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องขอก่อน หรือหากใช้ไปแล้ว และมีคนได้รับผลกระทบ แต่เมื่อมีการตกลงกันได้ขอให้ลบส่วนที่เป็นการละเมิด เราก็จะไม่มีความผิด

 

นิยามของคำว่า “กระทบสิทธิ์” หมายถึง การทำให้เกิดความเสียหาย เช่น นำข้อมูลส่วนบุคคลไปขาย ดังนั้น การใช้หรือเก็บรวบรวมข้อมูลบุคคลอื่นโดยที่จะไม่ละเมิดกฎหมายนั้นต้อง

1. เป็นการทำตามสัญญา

2. เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ

3. เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล

4. เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ

5. เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ 

6. เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

ประเทศไทย จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฎหมายนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าข้อมูลได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางการค้า หรือถูกทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือโอกาสต่างๆ เนื่องจากความไม่พร้อมของกฎหมาย

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ นับว่าเป็นกฎหมายใหม่ ที่เรายังต้องทำความเข้าใจ ขึ้นชื่อว่า “กฎหมาย” แน่นอนว่า ย่อมถูกตีความไปได้หลายลักษณะ เป็นเรื่องสำคัญที่ รัฐ และหน่วยงานที่กำกับดูแลต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและองค์กรธุรกิจให้ดี อย่าให้เกิดความสับสน