โควิด-19 "หลอกลวงออนไลน์" เพิ่ม ปี 65 พบแล้ว 95 คดี
รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เผย "โควิด-19" ปี 65 "คดีค้ามนุษย์ "120 คดี เป็นการหลอกลวงออนไลน์กว่า 95 คดี จับตาหลังโควิด คาด "หลอกลวงออนไลน์" มีต่อเนื่อง และการค้ามนุษย์ออนไซต์เพิ่มขึ้น จากการเปิดประเทศ
จากรายงานการติดตามและการดำเนินงานต่อต้านการ ค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report- TIP Report พบว่า ปี 2561 - 2563 ประเทศไทย อยู่ในระดับเทียร์ 2 (Tier 2) คือ ประเทศหรือรัฐบาลที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ กฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น
ขณะที่ปี 2564 ไทยตกมาเป็นเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ (Tier 2 Watchlist) คือ ประเทศที่มีรูปแบบความพยายามบางส่วนในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างละเอียด
ทำให้หลายภาคส่วนเร่งดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อให้ประเทศไทยยกระดับเป็น “เทียร์ 2” ในปีนี้ อีกทั้ง โควิด-19 ส่งผลให้การหลอกลวงออนไซต์เปลี่ยนสู่ออนไลน์มากขึ้น ในปี 65 พบกว่า 95 คดี จากทั้งหมด 120 คดี
วันนี้ (1 มิ.ย. 65) พันตำรวจเอกณรงค์ เทศวิบูลย์ รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่างในงานเสวนาวิชาการ เหลียวหลัง แลหน้า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย ที่ผ่านมา โดยระบุว่า
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดปลายปี 2562 ไทยมีการควบคุมการแพร่ระบาด ปิดสถานบริการ สถานประกอบการ เป็นเหตุให้ในปี 2563 มีสถิติการจับกุมการค้ามนุษย์ลดลงเหลือ 133 คดี จากปี 2562 อยู่ที่ 288 คดี
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการในเดือน ต.ค. 2564 มีการเปิดประเทศ ประชาชนคลายความกังวล เจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นจาก 133 ในปี 2563 เป็น 188 คดี ในปี 2564 เป็นคดีทางด้านเพศค้ามนุษย์ 155 คดี และคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 33 คดี ถือว่า มีการดำเนินคดีการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.35
การจับคุมคดีค้ามนุษย์
ปี 2562 จำนวน 288 คดี
ปี 2563 จำนวน 133 คดี
ปี 2564 จำนวน 188 คดี
- เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.35
- คดีทางด้านเพศค้ามนุษย์ 155 คดี
- คดีค้ามนุษย์ด้านแรงงาน 33 คดี
ปี 2565 (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 65) จำนวน 120 คดี
โควิด หลอกลวงออนไลน์สูงขึ้น
พันตำรวจเอกณรงค์ กล่าวต่อไปว่า รูปแบบการค้ามนนุษย์แต่เดิมก่อนโควิด-19 จะเป็นรูปแบบออนไซต์ เกิดจากจุดเสี่ยง จุดล่อแหลม สถานบริการต่างๆ แต่หลังจากเกิดโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลมีการประกาศควบคุมการแพร่ระบาด จำกัดปิดสถานบริการ ร้านอาหาร จำกัดการเคลื่อนย้าย ประชาชนต้องอยู่ที่บ้านพัก มีการใช้สื่อโซเชียลมากขึ้น
"รูปแบบการค้ามนุษย์ แต่เดิมจะหลอกลวงคนจะมีการเจอหน้า พบปะ พูดคุย ชวนไปทำงานต่างประเทศ หรือผู้ซื้อบริการจะต้องไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ มีการพบเจอ แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป คนอยู่บ้านเริ่มท่องโลกอินเทอร์เน็ต มีการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น"
ปี 65 หลอกลวงผ่านออนไลน์ 95 คดี
จากสถิติของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า
ในปี 2563 จำนวน 133 คดี
- หลอกลวงทางออนไลน์ 32 คดี
ปี 2564 จำนวน 188 คดี
- หลอกลวงผ่านทางออนไลน์ 107 คดี คิดเป็นร้อยละ 56.91
ในปี 2565 - ปัจจุบัน (ข้อมูล 31 พ.ค. 65) จำนวน 120 คดี
- คดีหลอกลวงผ่านออนไลน์ 95 คดี
- ไม่ผ่านช่องทางออนไลน์ 25 คดี
"ถือว่าการค้ามนุษย์ทางเพศ ยังเป็นรูปแบบสำคัญและเป็นรูปแบบในการหลอกลวงออนไลน์มากที่สุด ขณะเดียวกัน ด้านแรงงานเป็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อคนตกงานและมีการหางานทำ มีการหลอกลวงไปทำงานเป็นแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ บังคับใช้แรงงานในต่างประเทศ เปลี่ยนรูปแบบชัดเจน"
ปี 64 คดีบังคับใช้แรงงาน เพิ่ม 135.71%
ในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ดำเนินการอย่างเป็น รูปธรรม คือ มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น จากปี 2563 จำนวน 133 คดี เป็น 188 คดี ในปี 2564 (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41.35) อีกทั้ง มีการดำเนินคดีด้านการบังคับใช้แรงงาน จากปี 2563 จำนวน 14 คดี เป็น 33 คดี ในปี 2564 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 135.71)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการคัดแยกเหยื่อออนไลน์ จากภาวะโรคระบาดโควิด-19 โดยร่วมกับกระทรวง พม. และ กระทรวงแรงงาน ในการคัดแยกเหยื่อผู้เสียหาย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเดินทางมาจากต่างประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ ทั้งสิ้น 110 คน เป็นเหยื่อ 8 คน
มีการจับกุมผู้ต้องหาตามมาตรา 6/1 บังคับใช้แรงงานหรือบริการ เป็นครั้งแรก มีผู้เสียหาย 17 คน และเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุคดีค้ามนุษย์ช่องทางสื่อออนไลน์
อีกทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการตั้ง “ศูนย์คัดแยกผู้เสียหายดอนเมือง” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงแรงงานและภาคีเครือข่าย ในการจัดทำศูนย์คัดแยกต้นแบบ รองรับมาตรการของ พม. รองรับผู้ที่คาดว่าจะเป็นเหยื่อ 100 คน จำนวน 60 ห้อง และมีศูนย์การเรียนรู้ทีมสหวิชาชีพ
โควิด อุปสรรคสำคัญ
"ต้องยอมรับว่าปัญหาโควิด-19 เป็นอุปสรรคสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการจับกุมตัวผู้ต้องหา มีภาวะเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่หรือทำงาน ไม่ว่าจะจับกุม ควบคุมตัว หรือผู้เสียหายที่ต้องส่งเข้าสถานคุ้มครอง จึงมีการจัดการปัญหาโดยสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ให้มีความพร้อมกับเจ้าหน้าที่ในการจับกุม จัดเตรียมชุด PPE สำหรับเจ้าหน้าที่ ตรวจภาวะเสี่ยงโควิด-19 ผู้ต้องหา และผู้เสียหาย"
ถัดมา คือ เนื่องจากคดี เปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ การรวบรวมพยานหลักฐาน เปลี่ยนจากออนไซต์ มาเป็นโซเชียล ทำให้มีการยุ่งยากซับซ้อน แนวทางแก้ปัญหา คือ มีการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และทีมที่มีความเชี่ยวชาญด้านข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต
ดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ 79 คน
สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ดูได้จากสถิติที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 - 2564 มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ 79 คน ในจำนวนนี้ ศาลมีคำพิพิากษาถึงที่สุด สั่งจำคุกแล้ว 38 คน และมีการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แล้ว 76 คน และได้มีคำสั่ง ถึงที่สุดให้พ้นราชการ 47 คน
จับตาหลังโควิด-19
การรับมือภายหลังสถานการณ์โควิด-19 พันตำรวจเอกณรงค์ กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีแผนปฏิบัติการณ์ในการรับมือ เนื่องจากช่วงโควิดเล็งเห็นปัญหาว่า มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ จึงมีการประสานความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ในการจัดทำการดำเนินคดี ผู้ที่หลอกลวงโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาติ มีการดำเนินคดีในปี 2562 กว่า 130 คดี และปี 2563 จำนวน 71 คดี
"คาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 การหลอกลวงในโลกออนไลน์ยังคงมี และจะเพิ่มในรูปแบบออนไซต์ สถานการณ์ค้ามนุษย์จะเกิดในพื้นที่เสี่ยงจากการที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศ จะมีทั้งนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา รวมถึง แรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยมีแผนการทำงานเชิงรุก คัดกรองเบื้องต้น เพิ่มความถี่ในการตรวจ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงานในการตรวจสถานที่เสี่ยงสถานประกอบการ ดำเนินการควบคู่กันไป"
ทั้งนี้ คิดว่าสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยจะดีขึ้น ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย หลังจากที่มีการประกาศลดระดับเป็น เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ (Tier 2 Watchlist) ผู้บริหารประเทศให้ความสนใจ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำกับติดตาม อีกทั้งรัฐมนตรีกระทรวง พม. กระทรวงแรงงาน ได้สนับสนุน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจัดอบรมทีมสหวิชาชีพ
"คดีค้ามนุษย์ในปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ตำรวจเท่านั้นแต่อาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใน 188 คดี ปี 2564 ได้รับการร่วมมือกับทั้ง NGO เข้ามาให้ข้อมูล สืบสวน และขั้นตอนการดูแลผู้เสียหาย รวมถึงองค์กรเข้ามาเพิ่มความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในด้านที่ตนเองถนัด ดังนั้น สถานการณ์ของไทยจะดีขึ้นต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย" พันตำรวจเอกณรงค์ กล่าว