เปิดแฟ้ม”คดีอุ้มบุญ”พบผลิตเด็กจำนวนมาก
เปิดแฟ้มคดีอุ้มบุญ พบซับซ้อน ทำเป็นกระบวนการ อาจถึงการค้ามนุษย์ หลังพบผลิตเด็กจำนวนมาก ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี จ่อรออีกนับ 10 คดี
เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2565 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและกรมสอบสวนคดีพิเศษ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า แม้จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ยังมีผู้เห็นแก่ประโยชน์ ลักลอบนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิด
อย่างเช่น การอุ้มบุญ หรือการรับจ้างตั้งครรภ์แทน โดยที่ผ่านมา จะพบว่าคดีอุ้มบุญมีความซับซ้อน เด็กที่เกิดมาก็ยังไม่รู้ว่าได้รับการดูแลอย่างไร และอาจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ สบส. จึงร่วมกับดีเอสไอ ร่วมกันเพื่อสืบสวนคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้าถึงข้อมูล ในการช่วยเรื่องคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังช่วยคุ้มครองเด็กจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้มากขึ้น
“ได้มีการหารือกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ถึงการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำงานมีประสิทธิภาพ การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามารักษา เพราะการมีบุตรยากถือเป็นโรค ดังนั้น หากทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน คนต่างชาติก็จะสามารถลงทะเบียนรับบริการอย่างถูกกฎหมายได้”นพ.ธเรศกล่าว
นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับแจ้งจาก สบส. กว่า 10 คดี รับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน พบว่า มีพฤติการณ์ที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่จ้างวาน ผู้ดำเนินการ ผู้สนับสนุน และผู้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจไปถึงการค้ามนุษย์ เพราะมีการผลิตเด็กเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพบมีการนำมาเลี้ยงเป็นตัวอ่อน บางครั้งตัวอ่อนเกิดจากการส่งน้ำเชื้อจากต่างแดน และมาฝังตัวเป็นตัวอ่อนในประเทศไทย และมีการดูแลจนกระทั่งตั้งครรภ์ออกมา และนำเด็กไปไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง เพื่อพร้อมส่งออก โดยผู้จ้างวานเป็นชาวต่างชาติ และบางแห่งฝังตัวในไทย บางแห่งก็ฝังตัวจากเพื่อนบ้าน
“ลักษณะนี้ต้องมีการสอบสวนให้กระจ่างชัดว่า มาจากพ่อแม่ที่แท้จริง หรือมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น ซึ่งกระทบต่อมนุษยชาติ กระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อต่างชาติ เพราะจะมองว่าไทยเป็นแหล่งการทำแบบนี้ได้ จึงต้องเร่งดำเนินการสอบสวนและเอาผิด อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือกับสบส. ว่าอาจต้องมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นปัญหาจะซุกใต้พรมตลอด “นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าว
นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือกับสบส. ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแจ้งเบาะแส เมื่อมีผู้แจ้ง ก็จะเข้าไปตรวจสอบ ติดตามได้รวดเร็วขึ้น เช่น มีการแฝงตัวเข้าไป ทุกวันนี้มาเจอเด็กที่ออกมาแล้ว ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ในการจัดสถานที่ดูแลเด็กอยู่ในการคุ้มครอง โดยมีแม่อุ้มบุญเป็นพยาน เพราะเกิดความรักความผูกพัน และเป็นพยานสำคัญในการขยายผล ปัจจุบันมีเด็กอุ้มบุญอยู่ในการดูแลของพม.ประมาณ 19 ราย มีผู้ว่าจ้างเป็นชาวเอเชีย แต่ขอไม่ระบุชื่อประเทศ
ส่วนว่าแพทย์ไทยมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม้ นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังสอบสวนอยู่ อาจเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แต่อาจจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่ก็ได้ ขอเวลาสอบสวนก่อน จะมีการเปิดเผยแน่นอน กรณีนี้เกิดมาหลายปี และในภาวะที่เป็นโควิด-19ก็ทำให้แม่ที่อุ้มบุญและเดินทางไปต่างประเทศลำบาก จึงตรวจสอบได้ง่าย ตอนนี้เด็กคลอดมาแล้วเลี้ยงจนโตประมาณ 1-2 ขวบ ซึ่งอยู่ในการดูแลของไทย โทษของการกระทำความผิดนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะมีโทษทางอาญา ทั้งปรับและจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี เร็วๆนี้จะมีการแจ้งและเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิด
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสบส. กล่าวว่า กรมฯได้รวบรวมข้อมูลการให้บริการด้านเทศโนโลยีช่วยการเจริยพันธ์ทางการแพทย์ของไทย พบว่า มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงถึง 45 % มีการให้บริการเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา ,มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ.มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และ มีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้การตั้งครรภ์แทน หรือ อุ้มบุญ 584 คน สร้างรายได้กว่า 4,500 ล้านบาท