"อุ้มบุญ"ถูกกฎหมาย หญิงไทยมีโอกาสรับจ้างได้
ผ่านมาจาก 7 ปีที่กกฎหมายอุ้มบุญมีผลบังคับใช้ ยังคงพบการกระทำผิดที่มีความซับซ้อนและอาจจะเข้าข่าย “ค้ามนุษย์” กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดีจากกว่า 10 คดี แล้ว“อุ้มบุญ”แบบไหนจึงจะไม่ผิดกฎหมาย
นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับแจ้งจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ( สบส.) กว่า 10 คดี ซึ่งรับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน พบว่า มีพฤติการณ์ที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่จ้างวาน ผู้ดำเนินการ ผู้สนับสนุน และผู้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจไปถึงการค้ามนุษย์ เพราะมีการผลิตเด็กเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพบมีการเอามาเลี้ยงเป็นตัวอ่อน บางตัวอ่อนมาจากการส่งน้ำเชื้อจากต่างแดน และมาฝังตัวเป็นตัวอ่อนในประเทศไทย และมีการดูแลจนกระทั่งตั้งครรภ์ออกมา และนำเด็กไปไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง เพื่อพร้อมส่งออก ซึ่งลักษณะนี้ต้องมีการสอบสวนให้กระจ่างชัดว่า มาจากพ่อแม่ที่แท้จริง หรือมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น กระทบต่อมนุษยชาติ กระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อต่างชาติ เพราะจะมองว่าไทยเป็นแหล่งการทำแบบนี้ได้ จึงต้องเร่งดำเนินการสอบสวนและเอาผิด
ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 กำหนดเรื่อง “การตั้งครรภ์แทน”หรือ อุ้มบุญที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบด้วย 1.อนุญาตให้เฉพาะคู่สมรสชาวไทยที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติจะต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่มีบุตร 2.ไม่อนุญาตให้คู่สมรสซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ทำ 3.หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นญาติสายตรงกับคู่สมรส หากไม่มีให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ มีบุตรมาแล้ว หากยังอยู่กินกับสามี จะต้องได้รับการยินยอมจากสามีก่อน ส่วนหญิงโสดไม่สามารถรับตั้งครรภ์ได้
4.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้บริการจะต้องตรวจประเมินความพร้อมทางร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้รับบริการ 5.หญิงที่รับตั้งครรภ์ สามารถใช้ 2 วิธีคือ ใช้อสุจิและไข่ของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร หรือใช้อสุจิหรือไข่ของคู่สมรสกับไข่หรือ อสุจิบริจาค ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์ 6.ผู้ให้บริการจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์(กคทพ.)พิจารณาเป็นราย 7.ห้ามทำเพื่อการค้า 8.ห้ามคนกลาง/นายหน้ารับเงิน และ9.ห้ามโฆษณาว่ามีหญิงจะตั้งครรภ์แทน
ทั้งนี้ ข้อมูลกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ระบุว่า การให้บริการด้านเทศโนโลยีช่วยการเจริยพันธ์ทางการแพทย์ของไทย พบว่า มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงถึง 45% มีการให้บริการเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา ,มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ สถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และ มีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้การตั้งครรภ์แทน หรือ อุ้มบุญ 584 คน สร้างรายได้ 4,500 ล้านบาท(ข้อมูล ณ 31 พ.ค.2565)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้มีการปรับปรุง กฎหมายอุ้มบุญ เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจุบันและเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประชากรไทยที่มีอัตราการเกิดลดลงมาก อาทิ การให้บุคคลที่มีเพศเดียวกันสามารถทำอุ้มบุญได้ เป็นต้น
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การไม่มีลูก จัดเป็นภาวะโรคหนึ่ง จึงได้มีการหารือกับลกคทพ.ในการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน อาทิ ให้คู่สมรสที่เป็นคนต่างชาติสามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่จะทำได้เมื่อมีสามีหรือภรรยาเป็นคนไทยเท่านั้น จุดนี้ส่งผลให้คู่สมรสต่างชาติที่ต้องการมาทำอุ้มบุญในประเทศไทย ต้องมาว่าจ้างจนกลายเป็นปัญหา รวมถึง การให้หญิงไทยสามารถรับจ้างอุ้มบุญได้ โดยจะต้องมีเกณฑ์กำหนด การคัดเลือก และต้องขึ้นทะเบียน กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร ส่วนเกณพ์คนที่จะรับอุ้มบุญได้ยังเหมือนเดิม กรณีเพศสภาพเดียวกันจะทำได้หรือไม่ อยู่ระหว่างหารือ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะมีการเสนอแก้กฎหมาย
“ตามกฎหมายให้คนที่รับอุ้มบุญต้องเป็นเครือญาติ แต่ก็มีข้อยกเว้นให้กับคนที่อาจจะไม่มีญาติแต่อยากมีลูกสามารถให้คนอื่นรับอุ้มบุญให้ได้ กรณีที่บอกว่าคนอื่น ก็คือเป็นการรับจ้างอุ้มบุญ แต่ไม่ได้พูดว่ารับจ้างเท่านั้นเอง ดังนั้นกำลังทำให้เรื่องนี้ขึ้นมาอยู่บนดิน ไม่ถูกกดขี่ นอกจากนี้กฎหมายยังจะมีการแก้ไขเพิ่มอัตราเจ้าพนักงาน และแก้ไขให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำอุ้มบุญในไทย รวมถึงการเปิดให้ฝากไข่ สเปิร์ม ตัวอ่อนได้ ” นพ.ธเรศ กล่าว
สำหรับคุณสมบัติของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ.2558 ระบุว่า 1.มีสัญชาติเดียวกับสามีหรือภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ และเคยมีบุตรมาแล้ว โดยการคลอดตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง 3.เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงสมบูรณ์ดี โดยผ่านการตรวจประเมินตามประกาศแพทยสภา 4.สามีที่ชอบด้วยกฎหมายยินยอม และ5.รับตั้งครรภ์แทนจนได้คลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง