"Soft Power" ชูความเป็นไทยผ่านสินค้าและบริการวัฒนธรรม ทางเลือกนักธุรกิจ
ในปี 2570 ไทยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน GDP จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมร้อยละ 15 วธ.ชู 5F หนุนสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เผยปี 2564 สร้างมูลค่ากว่า 1.45 ล้านล้านบาท
ว่ากันว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) คือ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา การสร้างสรรค์งาน (Creativity) และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่
โดยขณะนี้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้ผลักดัน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ล่าสุด รัฐบาลประกาศนโยบายสนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
พร้อมแนะนำหน่วยงานรัฐทำงานร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุน ตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งผู้ผลิต ศิลปิน บุคคลกรเบื้องหลัง เพื่อผลักดันให้ Soft Power เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
Global Soft Power Index 2022 จัดทำโดย Brand Finance บริษัทจัดการกลยุทธ์เกี่ยวกับ Brand Positioningได้จัดอันดับประเทศที่มี Soft Power ทรงพลังที่สุดในโลกทุกปีโดยอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อันดับ 2 สหราชอาณาจักร อันดับ3 เยอรมนี อันดับ 4 จีน และอันดับ 5 ญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 35 ตกลงมาจากในปี 2564 ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในอันดับที่ 33
ทั้งนี้ Soft power มีความแตกต่างๆ กันไปในแต่ละประเทศ โดยตัวอย่าง ที่มักได้รับการพูดถึง คือ Soft power ของ ประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้มีการนำวัฒนธรรมความเป็นเกาหลีมาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ซีรี่ย์เกาหลี อาหาร มาตรฐานความงามแบบเกาหลี และศิลปินเกาหลี ที่ทำให้ทุกคนได้เปิดรับ วัฒนธรรมเกาหลี อันนำไปสู่การอยากไปท่องเที่ยว หรือซื้อสินค้าของเกาหลี
- ไทยขับเคลื่อน“Soft Power”ด้วย 5F
Soft Power จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือCreative Economy ที่มาจากองค์ความรู้ต่างๆ ทรัพย์สินทางปัญญา และการวิจัย เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคมอย่างได้ผล
สำหรับการพัฒนา “Soft Power” ในประเทศไทยนั้น พบว่า กระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ ก็ได้มีการพัฒนาแนวนโยบายเพื่อการยกระดับงานวัฒนธรรม ซึ่งมีประเด็นการยกระดับsoft powerไทยสู่เวทีโลกเป็นส่วนหนึ่ง โดยจะมุ่งเน้นการนำ“อัตลักษณ์ท้องถิ่น”เข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม
โดยกำหนด นโยบายมุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม 5 F ที่เป็น Soft Power ของไทยให้กลายเป็นสินค้าทางส่งออกทางวัฒนธรรมสำคัญของไทย ได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival)
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน "Soft Power” ความเป็นไทย เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เป็นต้น
เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย
- เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 1.45 ล้านล้านบาท
“ปีนี้ วธ.มีวิสัยทัศน์ใหม่ คือ วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย และปรับเปลี่ยนบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน ปัจจุบันประเทศมีรายได้จากสินค้าวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์กว่า 1.45 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.93 ของ GDP”นายอิทธิพล กล่าว
ในปี 2564 ไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมคอนเทนต์ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน เกม คาแรคเตอร์ กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รายได้จากการส่งออกอาหารไทยกว่า 1.1 พันล้านบาท
รายได้จากผ้าไทยกว่า 8.5 พันล้านบาท และจากผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย (CCPOT) กว่า 697 ล้านบาทและรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”กว่า 768 ล้านบาท
- มรดกวัฒนธรรมอันดับ 7 ของโลก
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่าสำนักข่าว U.S. News ได้จัดอันดับประเทศที่มีมรดกวัฒนธรรมที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2021 จากทั้งหมด 78 ประเทศ ซึ่งไทยอยู่อันดับ 7 ของโลก “5F สู่เป้าหมายเศรษฐกิจวัฒนธรรม” แสดงผลงานการส่งเสริมสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทยจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“5F ประกอบด้วยอาหารไทย (Food) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัวของไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) โดยจัดแสดงชิ้นงานไฮไลท์คือจากแรงบันดาลใจสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และ มรดกภูมิปัญญา ต้นน้ำแห่งคุณค่าและมูลค่า ในรูปแบบดิจิทัล”รมว.วธ. กล่าว
- เพิ่มGDP สินค้า-บริการวัฒนธรรมร้อยละ 15
สำหรับ “ก้าวต่อไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม” จะมุ่งส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม และพัฒนาพื้นที่หอศิลป์แห่งชาติและศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมระดับโลก พร้อมจัดทำแผนขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570)
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของวธ.มุ่งให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายวัฒนธรรม ชุมชนและประชาชนให้ความสำคัญและร่วมมือกันนำวัฒนธรรมมาพัฒนาประเทศในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ การค้า
อีกทั้งร่วมกันผลักดันให้เป็นวาระสำคัญของชาติเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดย ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมร้อยละ 15 ภายในปี 2570
ให้ไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญและทรงอิทธิพลของโลก
- 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการพัฒนาอย่างสมดุล และยั่งยืนบนพื้นฐานความได้เปรียบของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้านงานศิลปหัตถกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดในเชิงความสร้างสรรค์ได้
ปัจจุบัน “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสาขา ภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติ BCG Economy Model สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลมองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Agency หรือ CEA) ขึ้นในรูปแบบขององค์การมหาชน เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการและกำลังแรงงาน การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ที่จะเชื่อมโยงภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิตจริง
การเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยใน 15 สาขา ได้แก่ 1. งานฝีมือและหัตถกรรม 2. ดนตรี 3. ศิลปะการแสดง 4. ทัศนศิลป์ 5. ภาพยนตร์ 6. การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7. การพิมพ์ 8. ซอฟต์แวร์ 9. การโฆษณา
10. การออกแบบ 11. การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12. แฟชั่น 13. อาหารไทย 14. การแพทย์แผนไทย 15. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม