ก.แรงงานรณรงค์ต่อต้านค้ามนุษย์ ป้องกันด้านแรงงาน มุ่งไทยสู่เทียร์ 2

ก.แรงงานรณรงค์ต่อต้านค้ามนุษย์ ป้องกันด้านแรงงาน มุ่งไทยสู่เทียร์ 2

รมว.แรงงาน รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565 "NO VICTIMS TEARS"เดินหน้าป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มุ่งไทยสู่เทียร์ 2

วันนี้ (6 มิ.ย.2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย พลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมงานวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2565  "NO VICTIMS TEARS" ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด มอบรางวัลดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ แก่ผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงาน เด็กและเยาวชน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานของประเทศไทย

นิทรรศการระบบฐานข้อมูลการค้ามนุษย์ของประเทศไทย และระบบสารสนเทศบริหารงานกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงเยี่ยมชมบูธของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน โครงการอาเซียน - ออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ สถานคุ้มครองผู้เสียหาย และนิทรรศการผู้ปฏิบัติงาน หน่วยงาน เด็กและเยาวชนดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

 

  • ขับเคลื่อนนโยบายค้ามนุษย์ เป็นวาระแห่งชาติ 

โอกาสนี้ ในส่วนของกระทรวงแรงงานมี นางสาวโสภณา บุญ - หลง หัวหน้าสำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เข้ารับรางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านการป้องกันในครั้งนี้ด้วย 

นายสุชาติ  กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงแรงงานมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง

โดยดําเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการป้องและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในแรงงานกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว แรงงานเด็ก แรงงานภาคประมง ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และได้รับสภาพการจ้างตามหลักสากล ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้แก่ การตรวจแรงงานที่ศูนย์ PIPO ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล

การตรวจแรงงานเชิงคุณภาพในสถานประกอบการทั่วไปและการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็กแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การดำเนินงานโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

 

  • ยกระดับศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

การผ่อนผันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานได้ชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 การจัดตั้งศูนย์พิจารณาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (CI) ให้บริการตั้งแต่ 10 ม.ค. – 1 ส.ค.65 การส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ (GLP)

การยกระดับศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้เป็นหน่วยงานระดับกองเพื่อให้มีการสั่งการให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นต้น 

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 - 2565 กระทรวงแรงงานยังได้ดําเนินการเพื่อตอบ TIP REPORT ในเรื่องที่สําคัญ คือ การจัดทําแนวปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐาน โดยได้จัดทําคู่มือ “มาตรฐานการปฏิบัติงาน” Standard Operating Procedure: SOP การตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้สําหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ

การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ คู่มือ SOP ดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้ทําการชี้แจงและเผยแพร่ให้หน่วยงานในสังกัดส่วนภูมิภาค ทั้ง 76 จังหวัด ได้นําไปทดลองใช้ เพื่อรวบรวมและประเมินผลสําหรับปรับปรุงและจัดทําคู่มือให้มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน

แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่มีประสิทธิภาพตามหลักการมาตรฐานสากล ทั้งนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนป้องกันการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย และสามารถปรับระดับเป็นเทียร์ 2 ได้ในปี 2565

สำหรับงานดังกล่าวจัดขึ้นโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมย์ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย รณรงค์เผยแพร่การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของประเทศไทย

ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ให้แก่ประชาชน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค องค์กรพัฒนาเอกชน องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อผนึกกำลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากลต่อไป