ปมวัคซีนโควิด19 "อนุทิน"ฝากถึง "ชมรมแพทย์ชนบท"
ปมวัคซีนโควิด19 “อนุทิน” ย้ำเป็นการสำรองไว้ให้เพียงพอ กระจายไว้รพ.สต.ช่วยคนเข้าถึงฉีดเข็มกระตุ้น พร้อมรับฟังข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทหากมาตามระบบ ระบุคนถ้าไม่ทำงาน จะติอย่างเดียวก็ติได้ทุกเรื่อง
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565 ที่สถาบันบำราศนราดูร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกมาตั้งข้อสังเกตถึงวัคซีนโควิด 19 ที่เหลือจำนวนมากว่า ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดก่อน เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย การพิจารณาจัดหาวัคซีนเริ่มตั้งแต่กรมควบคุมโรค สำนักงานปลัดสธ. กระทรวงสาธารณสุข ก่อนไปศบค. ทุกอย่างมีขั้นตอน แต่ใครทักท้วงอะไรมาก็รับฟัง ถ้าทักมาด้วยเจตนาที่ดี ก็พร้อมที่จะพัฒนา แก้ไข แต่หากทักมาด้วยเจตนาที่ขอแค่ได้ทัก ได้พูดก็คงต้องชี้แจงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลา คนในกระทรวงเดียวกันแท้ๆ ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดก่อน อย่าไปเที่ยววุ่นวายกับคนอื่น
ถามต่อว่าวัคซีนล้นจนต้องกระจายไปสต็อกไว้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)รพ.สต. ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ตอนที่ไม่มีวัคซีนก็บอกว่าขาดวัคซีน ตอนที่มีวัคซีนเชื้อตายก็บอกว่าทำไมไม่มีวัคซีนไวรัลเว็คเตอร์ พอวัคซีนไวรัลเว็คเตอร์มาก็บอกว่าทำไมไม่มีวัคซีนชนิด mRNA แล้ววัคซีนที่บอกว่าล้นสต็อกนั้น ถามว่าถ้าสั่งวัคซีนมาให้เท่ากับจำนวนคนเลยได้หรือไม่ ไม่ต้องเผื่อเลยได้หรือไม่ แล้ววัคซีนที่ได้มาก็ไม่ใช่สิ่งที่ซื้ออย่างเดียว แต่มีคนบริจาคมาให้ด้วยหลายสิบล้านโดส ถามว่าจะปฏิเสธไหม เวลาที่พูดต้องดูว่าแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างไร
“คนไม่ทำงานติอย่างเดียว คนถ้าไม่ทำงาน จะติอย่างเดียวก็ติได้ทุกเรื่อง อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล มีความตั้งใจทำให้เกิดความมั่นใจ และทุกวันนี้ที่บอกว่าจะถอดหน้ากากกัน จะใช้ชีวิตปกติกัน เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ เปิดสถานบันเทิง ใช้ชีวิตเต็มที่ เข้าออกประเทศสะดวกไม่ใช่เพราะวัคซีนอย่างนั้นหรือ ถามว่า 1 ต่อ 1 ได้ไหม แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าจะฉีดคนละกี่เข็มถึงจะพอ บางคน 5 เข็ม ซึ่งทุกวันนี้วัคซีนไปหาคนเรียบร้อยแล้ว คนต้องมาหาวัคซีนที่สถานที่ที่กระจายไป เพื่อจะได้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นตัวปิดเกม” นายอนุทิน กล่าว
ต้องชะลอการสั่งซื้อตามข้อเสนอชมรมแพทย์ชนบทหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุม อีโอซีทุกวัน มีอาจารย์แพทย์ มีผู้เชี่ยวชาญ มีคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีคณะกรรมการโรคติดต่อ มีศบค. ทุกอย่างทำด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยทั้งประเทศ ชมรมแพทย์ชนบทส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อเสนออะไรก็สามารถบอกกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้ตรวจราชการในฝ่ายที่ตัวเองสังกัดได้ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุม อีโอซีที่ปลัดสธ.ประชุมเป็นประจำอยู่แล้ว ต้องมาตามระบบ