“ถอดแมสก์”เป็นเรื่องดี แล้วคนไทยพร้อมหรือยัง
การพิจารณา “ถอด” หน้ากากอนามัย หรือไม่นั้น ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น โดยเงื่อนไขหนึ่งของการประกาศได้นั้นประชาชนจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 60 % ของจำนวนประชาชนที่ฉีดวัคซีน
ประชุมสภากทม.นัดแรกวานนี้ (6 มิ.ย.) ผู้ว่ากทม.เจ้าของคะแนนเสียง 1.3 ล้าน"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ถามที่ประชุมว่าควรถอดหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้งได้หรือไม่ ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยโควิด 19 ของกทม.อยู่ที่1,400-1,500 คน/วัน ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้ และอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อควรจะอยู่ที่น้อยกว่า 500 คนต่อวัน และเรื่องนี้อยู่ในแผนดำเนินการของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อยู่แล้ว โดยศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศปก.ศบค.) จะพิจารณาความเหมาะสมในการผ่อนคลายจากนั้นจะเสนอให้ ศบค.พิจารณาอนุมัติ
การพิจารณา “ถอด” หน้ากากอนามัย หรือไม่นั้น ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น โดยเงื่อนไขหนึ่งของการประกาศ “โรคประจำถิ่น” ได้นั้นประชาชนจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 60 % ของจำนวนประชาชนที่ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ซึ่งขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 41% ล่าสุดมีเพียง 20 จังหวัดเท่านั้นที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้เกิน 60 %
ข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2565 ฉีดสะสมแล้วกว่า 138 ล้านโดส เข็มที่ 1 ฉีดแล้ว 56 ล้านโดส คิดเป็น 81.7% เข็มที่ 2 ฉีด 52 ล้านโดสคิดเป็น 75.9% และเข็มกระตุ้น (เข็ม3ขึ้นไป) ฉีด 28 ล้านโดสคิดเป็น 41.1% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อเปิดกิจการต่างให้ปลอดภัยคือต้องฉีดเข็มกระตุ้นคือเข็ม 3 ขึ้นไป อย่างน้อยได้ 60% ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องเร่งรัดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายอีก 15-20 ล้านโดส
ซึ่งข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน พบว่าเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อ 76% ลดการเสียชีวิตได้ 96% แต่ทั้งเข็ม 3 และเข็ม 4 สามารถลดการเสียชีวิตได้ดีมากระดับ 90 กว่า %
ปี 2565 รัฐบาลมีแผนจัดซื้อวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส มีการลงนามสัญญาจัดซื้อแล้วจำนวน 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส ดำเนินการฉีดวัคซีนแล้ว 34 ล้านโดส โดยวัคซีนที่เหลือสำรองไว้ปีหน้าได้ ทั้งนี้ถ้าเทียบจำนวนคนไทย 70 ล้านคน ฉีดคนละ 2 เข็ม คือ 140 ล้านโดส ขณะนี้สามารถดำเนินการฉีดได้เพียง 138 ล้านโดส ถ้าหากต้องฉีด 3 เข็ม คือต้องฉีดถึง 210 ล้านโดส ทว่ายังมีผู้สูงอายุ 2 ล้านคน และเด็กอายุ 5-11 ปี อีก 2 ล้านคน ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่ง จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัดจะต้องหาวิธีการทำอย่างไรให้ประชาชนที่ยังไม่รับวัคซีนทั้งที่เข็มแรก และเข็มกระตุ้น เข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านโรค โควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่น และเมื่อฉีดวัคซีนไปตามเป้าหมายแล้วประชาชนอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยแล้วการ “ถอดหน้ากาก” ก็ไม่ยากที่จะปฏิบัติ