ทำอย่างไรให้ "โควิด-19" ไทย เปลี่ยนผ่านสู่ "โรคประจำถิ่น"
การเปลี่ยนผ่าน "โควิด-19" สู่ "โรคประจำถิ่น" ต้องอาศัยความร่วมมือทุกหน่วยงาน เพื่อควบคุมไม่ให้แพร่กระจาย รวมถึง ปัจจัยแนวโน้มการติดเชื้อ เสียชีวิต และอัตราครองเตียงระดับ 2-3 และปัจจัยสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60%
จากสถานการณ์โรค โควิด-19 ในขณะนี้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10.5% มีการผ่อนคลายมาตรการทั้งการเปิดสถานบันเทิงใน 31 จังหวัด เปิดประเทศเต็มรูปแบบ และเตรียมถอดหน้ากากอนามัยเพื่อเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่ โรคประจำถิ่น
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดเกณฑ์การพิจารณาเป็น โรคประจำถิ่น ของโควิด19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งผ่านความเห็นชอบ ศบค.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2565 ได้แก่
1. ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย ในวงกว้างกันอย่างเต็มที่ โดยวิธีการดู คือ ดูแนวโน้มการติดเชื้อ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก อัตราการครองเตียงระดับ 2 และระดับ 3
2.การฉีดวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมการฉีดวัคซีนในประชากรรวม ฉีดเข็มกระตุ้นได้ มากกว่า 60 % ของประชากร ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม เกิน 80 % จากประชากรตามสิทธิการรักษา ได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ขึ้นไป ก่อน 1 ก.ค.2565
และ 3. จำนวนผู้เสียชีวิต โดยคิดคำนวณจากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 หารด้วยผู้ป่วยโรคโควิด19ที่รับการรักษา คูณด้วย 100 จะต้องน้อยกว่า 0.1 % รายสัปดาห์ ช่วง 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
อีกทั้ง แบ่งระยะดำเนินการนำไปสู่โควิด19เป็นโรคประจำถิ่นเป็น 3+1 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 Combatting ต่อสู้ ระยะที่ 2 Plateau คงตัว ระยะที่3 Declining ลดลง และ Post Pandemic
ไทยฉีดเข็ม 3 สะสม 41.1%
เมื่อดู “สถานการณ์โควิด-19” ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิ.ย. 65 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,224 ราย ป่วยยืนยันสะสม (ระลอก 1 ม.ค. 65) 2,247,744 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 20 ราย ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 17 ราย คิดเป็น 85% และ โรคเรื้อรัง 3 ราย คิดเป็น 15% รวมทั้งสองกลุ่มคิดเป็น 100% อัตราครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 10.5%
จำนวนการได้รับ “วัคซีนโควิด-19” สะสม (28 ก.พ. 2564 - 6 มิ.ย. 2565) รวม 138,209,571 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น เข็มที่ 1 สะสม 56,799,885 ราย (81.7%) เข็มที่ 2 สะสม 52,803,193 ราย (75.9%) และ เข็มที่ 3 สะสม 28,606,493 ราย (41.1%) ขณะที่ ผลการให้ วัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป้าหมาย 12,704,543 ราย ฉีดเข็ม 1 สะสม 84.4% ฉีดเข็ม 2 สะสม 80.4% ฉีดเข็ม 3 สะสม 45.1% กลุ่ม เด็ก 5-11 ปี เป้าหมาย 5,150,082 ราย ฉีดเข็ม 1 สะสม 59.4% ฉีดเข็ม 2 สะสม 35.0%
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเตรียมพร้อมเดินหน้า “โควิด-19” สู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวคิด Health for Wealth คืนระบบบริการการแพทย์แก่ประชาชนทุกคนทุกโรค ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่า 60% การเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน การปรับมาตรการดูแลผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ ยกเว้นมีความเสี่ยง หรือเป็นผู้ป่วยใน - ผ่าตัด รวมถึงการเตรียมปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และเน้นมาตรการ 2U - COVID Free Setting ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดได้
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 65 โดยระบุว่า หนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ ประชาชนได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม (Universal Vaccination) โดยแต่ละจังหวัดต้องมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่า 60% เพราะปัจจุบันมีข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศและจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ไทยพบว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 4-6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลงต้องฉีดเข็มกระตุ้นจึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี
20 จังหวัด ฉีดกระตุ้นมากว่า 60%
ขณะเดียวกัน ข้อมูล จากกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 พบว่า จังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% มี 20 จังหวัด คือ ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพฯ อยุธยา น่าน สระบุรี ลำพูน ระยอง นครนายก ฉะเชิงเทรา อ่างทอง สิงบุรี ชัยนาท ยโสธร สมุทรสงคราม ชลบุรี ลพบุรี มหาสารคาม และนครปฐม
เร่งวัคซีนเข็มกระตุ้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เผยว่า ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 20-30 รายต่อวัน ปัจจัยสำคัญมาจาก 1.ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่เห็นชัดจะอยู่ในกลุ่ม 70 ปีขึ้นไป 2.ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งใน 2 ปัจจัยนี้เป็นกลุ่ม 608 ที่มีสัดส่วนเสียชีวิตสูงอย่างวันนี้รายงาน 27 ราย มี 26 รายที่อยู่ในกลุ่ม 608 คิดเป็น 96% และ 3.ส่วนใหญ่ไม่ได้วัคซีน สูงถึง 59% ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น 30%
สอดคล้องกับการวิเคราะห์ตัวเลขมาตลอด เราจึงพยายามลดการสูญเสียชีวิตด้วยการเร่งฉีดวัคซีนร่วมมาตรการอื่นที่จำเป็น โดยที่ประชุมอีโอซี ได้เห็นชอบแผนเร่งรัดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดดอาการป่วยหนักและรุนแรงถึงกว่า 30% โดยเฉพาะช่วงต่อไปที่จะเปิดประเทศ เปิดกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น
ผู้ที่ยังไม่มั่นใจเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ต้องเรียนว่าองค์การอนามัยโลก(WHO) มีคำแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นในทุกสูตร ซึ่งคำแนะนำของไทยคือผู้อายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถรับเข็ม 3 และ 4 ได้ โดยคนที่รับเข็ม 2 เกิน 3 เดือนให้รับเข็ม 3 ส่วนคนที่รับเข็ม 3 แล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เมื่อครบ 3 เดือนให้ฉีดเข็ม 4 ส่วนคนทั่วไปให้ฉีดหลังจากครบ 4 เดือน ซึ่งข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน พบว่าเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อ76% ลดการเสียชีวิตได้ 96% แต่ทั้งเข็ม 3 และเข็ม 4 สามารถลดการเสียชีวิตได้ดีมาก ระดับมากกว่า 90%
“กลยุทธ์ที่จะทำให้ประชาชนรับวัคซีนมากขึ้น จะเน้นย้ำในแผนของแต่ละจังหวัดว่ายังขาดวัคซีนเข็มกระตุ้นเท่าไหร่ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่คนรับวัคซีนครบจะอยู่ในอำเภอเมือง คนอำเภอห่างไกลยังฉีดค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ไม่ถึง 10% ซึ่งหวังว่าจะร่วมใจกันเพื่อให้เราเปิดกิจการต่างๆ ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย” นพ.โอภาสกล่าว
ที่ผ่านมา สธ.และ ศบค. มีกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด ทั้งชนิด ปริมาณ จำนวน และกลุ่มเป้าหมายในการฉีด ผ่านคณะกรรมการหลายชุด เช่น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ศปก.สธ. และ ศบค.ที่เป็นผู้อนุมัติ โดยแผนของปี 2564 จัดซื้อทั้งหมด 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส
แผนของปี 2565 จัดซื้อ 120 ล้านโดส มีการอนุมัติจาก ศบค.และลงนามซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบ 36 ล้านโดส ฉีดแล้ว 34 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนส่วนหนึ่งได้มาจากการรับบริจาควัคซีน เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซเนกา ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และโคโวแว็กซ์ รวมทั้งหมด 13 ล้านโดส ขณะเดียวกันไทยเริ่มบริจาคให้ประเทศขาดแคลน เช่น ประเทศแถบแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยที่ว่า หลังจากนี้จำเป็นต้องฉีดวัคซีนทุกปีหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า อยู่ในแผนที่ดำเนินการแล้ว แต่จะฉีดทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัด แต่อย่างน้อยมีแผนเตรียมการแล้ว เช่นปี 2565 ที่จัดซื้อ 120 ล้านโดส ตอนนี้นำเข้ามา 36 ล้านโดส ฉะนั้นส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ปีหน้า ถ้าจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นทุกปี
4 มาตรการ สู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย
สำหรับ 4 มาตรการเตรียมโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ของกระทรวงสาธารณสุข ด้วยแนวคิด Health for Wealth มีดังนี้
1) มาตรการด้านสาธารณสุข คือ เดินหน้า Universal Vaccination เร่งฉีดวัคซีน เข็มกระตุ้นให้มากกว่า 60% ปรับระบบเฝ้าระวังเน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศ และปรับแนวทางการแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส
2) มาตรการด้านการแพทย์ ได้แก่ ปรับการดูแลรักษาโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก เน้นดูแลผู้ป่วยที่อาการรุนแรงและภาวะ Long COVID ผู้ป่วยทั่วไปไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยกเว้นมีอาการหวด/ติดเชื้อทางเดินหายใจ ผู้ป่วยในหรือต้องผ่าตัดให้ตรวจ ATK หรือ RT-PCR ตามความเหมาสม และ เตรียมระบบรักษาพยาบาล สำรองยา และเวชภัณฑ์
3) มาตรการด้านกฎหมาย จัดการด้านกฎหมายเพื่อลดความสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพระบบสาธารณสุข เสนอปรับโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ผ่อนคลายมาตรการ ลดการจำกัดการเดินทาง และการรวมวตัวของคนหมู่มาก เปิดสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ เป็นต้น โดยต้องปฏิบัติตามาตรการที่กำหนด และ เน้นย้ำมาตรการ Universal Prevention และ Universal Vaccination
4) มาตรการด้านการสื่อสาร สร้างความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมให้ประชาชน ดำเนินชีวิตร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) และ สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างความร่วมมือของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา