"กัญชาไทย" กับ 3 เรื่องต้องรู้! ก่อน "ซื้อ" และ "ปลูก"
เรื่องต้องรู้! หลังปลดล็อก "กัญชาไทย" อยาก "ซื้อกัญชา" และ "ปลูกกัญชา" สังเกต "สายพันธุ์กัญชา" และ "เพศกัญชา" อย่างไร และมีข้อควรระวังอย่างไร ?
หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลบังคับใช้ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีผลให้ทุกส่วนของ "กัญชา กัญชง" ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ทำให้การ "ซื้อขายกัญชา" คึกคัก มีผู้ที่สนใจซื้อ และปลูกจำนวนไม่น้อย
ทว่า ก่อนที่จะ "ซื้อกัญชา" หรือ "ปลูกกัญชา" ยังมีเรื่องที่มือใหม่สายเขียวต้องรู้ เพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะโดยทั่วไปของ กัญชา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นอันตรายและไม่ผิดกฎหมาย โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมวิธีดูกัญชาและข้อควรระวังที่จำเป็นต้องรู้ไว้ สรุปได้ 3 ข้อ ดังนี้
1. "กัญชา" ไม่ได้มี "สายพันธุ์" เดียว
เมื่อพูดถึงกัญชา หลายคนคงนึกถึงหน้าตาใบไม้สีเขียวเข้มหลายๆ แฉก แน่นอนว่านั่นคือเอกลักษณ์ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดของกัญชา แต่ไม่ได้มีแค่นั้น! แท้จริงแล้วกัญชามีหลายสายพันธุ์ โดยแต่ละสายพันธุ์มีจุดสังเกต และคุณสมบัติแตกต่างกันด้วย
สำหรับสายพันธุ์กัญชาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทย และต่างประเทศ ได้แก่ สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa) สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica) และสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis) ส่วนคำว่า มาลีฮวนน่า (Marijuana) ไม่ใช่สายพันธุ์ของกัญชาแต่อย่างใด แต่เป็นคำแสลงที่ใช้ส่วนดอกของต้นกัญชานำมาสูบ โดยแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน เบื้องต้นสรุปได้ ดังนี้
สายพันธุ์ซาติวา (Cannabis sativa)
- กำเนิดแถบเส้นศูนย์สูตร ชอบแดด อากาศร้อนชื้น
- ลำต้นหนา ความสูงตั้งแต่ 1.5- 7.5 เมตร ใบยาว เรียว 5-9 แฉก
- ระยะเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 9-16 สัปดาห์
- มีสาร THC ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทสูงกว่าอินดิกา
สายพันธุ์อินดิกา (Cannabis indica)
- กำเนิดในอินเดียและบริเวณตะวันออกกลาง ชอบที่ร่ม อากาศเย็น
- ลำต้นพุ่มเตี้ย ความสูงโตเต็มที่ 180 ซม. ใบกว้าง สั้น กิ่งก้านดกหนา
- ระยะเติบโตพร้อมเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์
- มีสาร CBD ออกฤทธิ์ระงับ ประสาท ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดอาการปวดเรื้อรัง
สายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis)
- กำเนิดบริเวณตอนกลางและตะวันออกของทวีปยุโรป อยู่ได้ทั้งอากาศร้อนและเย็น
- มีลำต้นเตี้ย ดูคล้ายวัชพืช ใบกว้างมี 3 แฉก
- ปริมาณ THC ต่ำ มี CBD สูง
- มักนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ กับซาติวาและอินดิกา เพื่อให้ได้คุณสมบัติทางยา
2. ดูเพศกัญชาให้เป็น
นอกจากสายพันธุ์แล้ว เมื่อมองลึกเข้าไปอีกคือ "เพศของกัญชา" ซึ่งมีหลายเพศ โดยข้อมูลจาก cannhealth องค์ความรู้เรื่องกัญชาเพื่อสุขภาพ ได้อธิบายถึงลักษณะของกัญชาแต่ละเพศ ที่มีจุดเด่นต่อการใช้งานแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- กัญชาตัวผู้
วิธีสังเกต:
- กัญชาตัวผู้สูงกว่าและโตเร็วกว่ากัญชาตัวเมีย
- กัญชาตัวผู้ผอมกว่ากัญชาตัวเมีย
- กัญชาตัวผู้มีใบไม่มาก และไม่มีกิ่งแขนงมาก
- กัญชาตัวผู้ไม่ออกดอกและมีค่าสาร THC ต่ำ
แม้ว่ากัญชาตัวผู้จะไม่มีผลผลิตที่นำไปใช้ในการรักษาได้ แต่ก็มีความสำคัญในการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้ เช่น สร้างสายพันธุ์ใหม่ หรือรักษาสายพันธุ์เดิมเอาไว้, ทำยาสารสกัด, ใช้รากเพื่อทำยา,ใช้ทำน้ำกัญชา เป็นต้น
- กัญชาตัวเมีย
วิธีสังเกต: กัญชาตัวเมียดูแข็งแรงกว่ากัญชาตัวผู้ ดอกของกัญชาตัวเมียกหุบไม่สุด บานและมีขน ซึ่งก็คือเกสรเพศเมีย ดอกของกัญชา
กัญชาตัวเมียคือตัวที่ออกดอกและมีสาร THC มากที่สุด หากได้รับการถ่ายละอองเรณูจากกัญชาตัวผู้ (ผสมพันธุ์) ดอกของตัวเมียจะกลายเป็นเมล็ดซึ่งอาจเป็นผลผลิตที่คนนิยมน้อยกว่าดอก
- กัญชากะเทย
วิธีสังเกต: กัญชากะเทย ตัวเมียมีสีเหลืองอ่อน ครีมและขาว กัญชากะเทยมีดอก แต่ดอกเต็มไปด้วยเมล็ด
กัญชากะเทย มักไม่นิยมนำผลิตผลมาใช้เนื่องจากดอกที่เต็มไปด้วยเมล็ด แปลว่าสารแคนนาบินอยด์มีจำนวนไม่มาก จึงไม่นิยมนำมาใช้ในการรักษา อีกทั้งคุณภาพของตัวต้นจะไม่ดีเท่ากัญชาตัวผู้หรือกัญชาตัวเมีย
อย่างไรก็ตาม กัญชากะเทยสามารถผสมพันธุ์เองได้ แปลว่ากัญชารุ่นหลังจะเป็นกัญชาที่สามารถเป็นพืช 2 เพศในต้นเดียวกันที่จะทำให้แหล่งรวมยีนด้อยลง ไม่หลากหลายเพราะการผสมพันธุ์กันเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 'กัญชา' กิน ดื่ม อย่างไรให้ปลอดภัย
- "ปลดล็อกกัญชา" กัญชง 10 ข้อควรระวังใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ใช้ผิดเสี่ยงนอน ICU
- วิธีจดแจ้งปลูกกัญชา กัญชง ผ่านแอปฯ "ปลูกกัญ" เช็กเลย 3 ขั้นตอนง่ายๆ
3. ข้อควรระวังเกี่ยวกับ "กัญชา"
ถึงแม้จะ “ปลดล็อกกัญชา” พ้นยาเสพติดแล้ว แต่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุม กำกับการใช้ จึงมีการยก(ร่าง) พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ... ขึ้นมาเพื่อควบคุม โดยหลักๆ จะมีการควบคุมในเรื่องการปลูก สกัด ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงการใช้ในเชิงนันทนาการ ที่รวมถึงการเสพด้วย การปลูกกัญชา แยกเป็น 2 ส่วนคือ
1. ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน ต้องมีการจดแจ้ง
แม้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ยังต้องจดแจ้ง ปลูกกัญชา กัญชง ผ่านแอปฯ "ปลูกกัญ" เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด แถมยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
ทั้งนี้ สามารถจดแจ้งการปลูก ผ่านแอปฯ ปลูกกัญ โดยสามารถทำตามขั้นตอนง่ายๆ >> คลิกที่นี่
2. การปลูกในเชิงต้องได้รับอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สกัด-แปรรูป ต้องได้รับอนุญาตจาก อย.
- การขาย ส่งออก นำเข้า ต้องขออนุญาตจาก อย. และห้ามขายกัญชา กัญชง เพื่อการนำไปบริโภคคือ กิน เคี้ยว ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และบุคคลตามที่รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด
- การโฆษณา ห้ามไม่ให้มีการโฆษณา เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต คือ อย.
-------------------------------------------------------
อ้างอิง: โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา, medcannabis, cannhealth องค์ความรู้เรื่องกัญชาเพื่อสุขภาพ, กรุงเทพธุรกิจ