ห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้ "กัญชา" มีผลต่อสมอง
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ออกแถลงการณ์ห่วงสุขภาพเด็กและวัยรุ่น หลังกฎหมาย “กัญชาเสรี” พร้อมย้ำอายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ควรใช้ มีผลต่อสมอง พัฒนาไม่เต็มที่ แนะมีมาตรการควบคุม ผลิต การขายอาหารผสมกัญชา ต้องมีเครื่องหมายระบุชัด “ห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค”
จากการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไปหลังจากมีการปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติด ยกเว้นสารสกัด THC 0.2% ยังเป็นยาเสพติดนั้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ลงนามเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2565 ถึงการออกแถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น โดยระบุว่า
สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 ก.พ.2565 ประกาศยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยเฉพาะกัญชา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ.2565 จะส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยรวมถึงกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและวัยรุ่น สามารถเข้าถึงกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชา ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ
เด็กอายุต่ำกว่า20 ปี ไม่ควรบริโภคกัญชา มีผลต่อสมอง
ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์ หลายชนิด แบ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ THC และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ หรือ CBD ซึ่งในทางการแพทย์มีการนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก
สำหรับ THC มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์เช่นกัน เช่น ในการรักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย แต่หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร หรือการแปรรูปต่างๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้น เข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง
โดยเฉพาะอาจส่งผลต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงมีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้
- อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสมควรระบุชัดห้ามเด็กต่ำกว่า 20 ปี บริโภค
1. เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้นเด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
2.ให้มีการประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่ากัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา
3.ให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย/ ข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ "ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค"
4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้
5.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้กฎหมายกัญชาเสรี
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น