ทำไมห้ามจำหน่าย "กัญชา" แก่สตรีมีครรภ์-ให้นมบุตร เช็กข้อเสียกัญชาที่นี่!

ทำไมห้ามจำหน่าย "กัญชา" แก่สตรีมีครรภ์-ให้นมบุตร เช็กข้อเสียกัญชาที่นี่!

จากกรณี "ปลดล็อกกัญชา" ครั้งล่าสุดที่อนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ทุกส่วน แต่ทั้งนี้ สธ. ห้ามจำหน่าย "กัญชา" ให้แก่กลุ่มสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร รวมถึงผู้มีอายุน้อยกว่า 20 ปี เพราะอาจส่งผลเสียร้ายแรงมากกว่าที่คิด

หลังไทย "ปลดล็อกกัญชา" อย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้คนแห่แชร์รูปต้นกัญชาผ่านโลกโซเชียลกันอย่างคึกคัก รวมถึงร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ต่างนำเสนอเมนูที่มีส่วนผสมของใบ "กัญชา" ให้แก่นักชิมสายเขียว แต่ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรขึ้นป้ายเตือนไม่ให้สตรีตั้งครรภ์-ให้นมบุตร รับประทานอาหารกัญหาเหล่านั้น เพราะอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารกในครรภ์ได้

โดยก่อนหน้านี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยย้ำเรื่องนี้เอาไว้ชัดเจนแล้วว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และวางแผนรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ในการนำกัญชากัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม จึงมีการห้ามจำหน่ายกัญชากัญชงให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี  

ว่าแต่.. อาหารที่มีส่วนผสมของ "กัญชา" หรือ "สารสกัดกัญชา" มีผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์-ให้นมลูก อย่างไรบ้าง? ที่อาจส่งผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ร้ายแรงกว่าที่คิด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเช็กลิสต์ทางนี้

 

1. อาหารที่ผสมกัญชา ร้านควรติดป้ายเตือน

ช่วงนี้หลายคนคงเห็นร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ต่างโปรโมทเมนูที่มีส่วนผสม "กัญชา" ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากมาย เพื่อดึงดูดลูกค้านักชิมสายเขียวให้เข้ามาลิ้มลอง

แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็มีหลายคนเตือนว่าร้านอาหารควรติดป้ายเตือนผู้บริโภคด้วย เพราะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก และผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคทางจิตเวชไม่ควรกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เพราะส่งผลเสียร้ายแรงต่อเด็กในครรภ์ และต่อร่างกายผู้ป่วยได้ 

ทำไมห้ามจำหน่าย \"กัญชา\" แก่สตรีมีครรภ์-ให้นมบุตร เช็กข้อเสียกัญชาที่นี่!

2. ผลเสีย "กัญชา" ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์-ให้นมบุตร

มีข้อมูลการศึกษาของทีมวิจัยคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า ที่ผ่านมามีศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับผลของกัญชาในทางการแพทย์ในต่างประเทศหลายชิ้น ซึ่งพบว่าการใช้ "กัญชา" ในสตรีตั้งครรภ์และสตรีวัยเจริญพันธุ์นั้น มีผลกระทบทั้งต่อการตั้งครรภ์ ต่อทารกในครรภ์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่

  • เพิ่มอัตราเสี่ยงของเด็กต่อการเข้ารับรักษาในหน่วยวิกฤติทารกแรกเกิด
  • เพิ่มความเสี่ยงของอัตราการตายปริกำเนิด (เด็กตายในครรภ์)
  • เด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย
  • การคลอดก่อนกำหนด
  • การตายคลอด (เด็กคลอดออกมาแล้ว ไม่มีสัญญาณชีวิต)
  • ภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์
  • เด็กที่เกิดจากมารดามีการใช้กัญชาในขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และการพัฒนาการทางสมอง

โดยทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศข้อห้ามใช้กัญชาทางการแพทย์ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีสาร THC เป็นส่วนประกอบในกลุ่มของสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร สตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงร้ายแรงดังข้างต้น  

อีกหนึ่งตัวอย่างการศึกษาการใช้กัญชาในขณะตั้งครรภ์ตั้งแต่ในไตรมาสแรกในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งผลการวิจัยชี้ว่า สำหรับทารกที่เกิดจากมารดาที่มีประวัติการใช้กัญชาในระยะยาว (Prolonged use) จะส่งผลเสียต่อทารกในหลายด้าน เช่น ส่งผลต่อน้ำหนักของทารก ทำให้ทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ เกิดการคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงต่อการตายปริกำเนิด 

นอกจากนั้นยังพบว่าเด็กที่เกิดจากมารดาที่ใช้กัญชาร่วมกับการสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบ Hypothalamus-pituitary-adrenal ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กในระยะยาว เช่น เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด อัตราการเผาผลาญอาหารไม่ดี ระบบภูมิคุ้มกันพร่อง รวมถึงการพัฒนาทางระบบประสาทไม่สมบูรณ์ และยังพบรายงาน "ภาวะพิษ" ที่เกิดจากการเสพกัญชา ซึ่งมีอาการดังนี้

  • เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
  • เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ
  • เกิดความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์
  • เกิดความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ
  • เกิดความผิดปกติของระบบประสาท
  • เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร

3. ข้อแนะนำสตรีตั้งครรภ์กับการใช้กัญชา

นอกจากนี้ มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้อ้างถึงผลการศึกษาวิจัยการใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ของต่างประเทศ พบว่า การใช้พืชกัญชาระหว่างตั้งครรภ์ จะไปขัดขวางการเจริญและพัฒนาการของเนื้อเยื่อสมองและการทำงานของสมองของทารก ทำให้ทารกพร่องต่อการเรียนรู้ และมีแนวโน้มจะต่อการใช้ยาเสพติดในอนาคตได้

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้กัญชาในสตรีตั้งครรภ์ ยังคงมีความไม่ชัดเจน และงานวิจัยที่มารองรับก็ยังมีปริมาณน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ราชวิทยาลัยฯ ได้มีคำแนะนำถึงบุคลากรทางการแพทย์ ให้มีการคัดกรองและให้คำอธิบายเกี่ยวกับการใช้กัญชาต่อกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ดังนี้

- ก่อนตั้งครรภ์หรือช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ควรสอบถามสตรีตั้งครรภ์ทุกคน ถึงการใช้ กัญชา, บุหรี่, สุรา รวมถึงยาอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ในทางการรักษาด้วย

- หากพบว่ามีการใช้กัญชา ควรแนะนำว่าจะส่งผลเสียต่อทารกและการตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง

- หากเป็นผู้ที่พยายามจะตั้งครรภ์ ให้หยุดการใช้กัญชาและสารเหล่านี้ก่อน

- หากเคยใช้กัญชาในฐานะเป็นยาตามความเข้าใจเดิม ให้งดใช้กัญชาแล้วเลือกใช้ยาตัวอื่นแทนก่อน

- มีข้อมูลน้อยเกี่ยวกับกัญชาในน้ำนมแม่ อย่างไรก็ตาม ให้งดการใช้กัญชาไปก่อนน่าจะส่งผลดีต่อเด็กมากกว่า 

---------------------------------------

อ้างอิง : การใช้กัญชาในสตรีตั้งครรภ์-ธิติพร สุวรรณอาภา; คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย, chulalongkornhospitalอย. กระทรวงสาธารณสุข, Drama Addict, หมอแล็บแพนด้า, ความรู้แบบหมอแมว