ยกระดับ "แรงงานประมง" เสริมแกร่ง อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไทย

ยกระดับ "แรงงานประมง" เสริมแกร่ง อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไทย

อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทย เดินหน้า แนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย "GLP" เพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิแรงงานทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ และแรงงานหญิง พัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล เป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ขณะที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศและของโลก นำมาซึ่งความร่วมมือของหลายภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย ในการนำแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย (Seafood Good Labour Practices - GLP) มาใช้ในปี 2561 เพื่อพัฒนาแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ รวมถึงแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมประมง ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และไม่มีการค้ามนุษย์

 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยหรือ The Thai Tuna Industry Association (TTIA) และสมาคมแช่เยือกแข็งไทยหรือ Thai Frozen Food Association (TFFA) จัดเสวนา ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยเพื่อการปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิแรงงาน งานเผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) “เปลี่ยนหลักการให้เป็นวิถี : อนาคตของโครงการแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล”

 

ยกระดับความมุ่งมั่นต่อโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย (Seafood Good Labour Practices - GLP) เพื่อให้ประสบความสำเร็จในฐานะโครงการเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ 

GLP สร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย

 

"มิ ซู" หัวหน้าฝ่ายวิชาการและผู้จัดการโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เผยว่า โครงการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย (Good Labour Practices : GLP)  แนวทางเหล่านี้มีการพัฒนาในประเทศไทยและเป็นแนวคิดตอบที่ตอบสนองผู้ส่งออกอาหารทะเลของไทยเพื่อสร้างแนวทางให้แน่ใจได้ว่า สภาพแวดล้อมของแรงงานต่างๆ ทั้ง Seafood supply chain คล้องกับแนวทางไอแอลโอ

 

"GLP มีมาตรฐานการทำงานชัดเจน บริษัทต่างๆ มีการฝึกอบรมตามมาตรฐาน และมีข้อแนะนำในการนำไปปฏิบัติในระดับโรงงาน รวมทั้งพัฒนาแผนงาน มีการติดตามความเสี่ยงต่อแรงงาน และข้อเสนอแนะตามแนวปฏิบัติที่ดี โดยเป็นการเข้าร่วมอย่างสมัครใจ เพื่อสร้างมาตรฐานปกป้องแรงงาน สร้างแรงผลักให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือแรงงานข้ามชาติ เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน สร้างความแข็งแกร่ง ตอบสนองความต้องการโดยเฉพาะสตรี นำแนวนโยบายที่มีความอ่อนไหว สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนกับทุกภาคส่วน สร้าง GLP ที่เป็นที่เชื่อถือแก่ผู้ซื้อ และสร้างโอกาสให้กับแรงงาน ที่อยู่ในโครงการ GLP ได้มีส่วนในการผลักดันอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง" 

ก้าวต่อไป เพื่อสิทธิแรงงานประมง

 

ก้าวต่อไปที่สมาคมอุตสาหกรรมตกลงที่จะดำเนินการ ได้แก่ การให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการเยี่ยมโรงงานและการให้ข้อมูลที่มีรายละเอียดมากขึ้นในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่นข้อมูลองค์ประกอบของคณะกรรมการสวัสดิการในโรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ และการร้องทุกข์ของแรงงาน  

 

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA) และสมาคมแช่เยือกแข็งไทย (TFFA) ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล จึงจะเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามชาติและสตรีในคณะกรรมการสวัสดิการ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเข้าร่วมของแรงงานกลุ่มนี้ยิ่งขึ้น  

 

ดูแลแรงงานหญิง

 

นอกจากนี้ TTIA และ TFFA จะแนะนำให้บริษัทสมาชิกรับหลักการ “นายจ้างจ่าย” ค่าธรรมเนียมการหางานและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่เกิดในประเทศไทยทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดหนี้อันเนื่องจากการหางานของแรงงาน

 

นอกจากนี้ ทั้งสองสมาคมจะขอให้สมาชิก ห้ามทำการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์เมื่อจัดหาแรงงาน และจะแนะนำโรงงานให้จัดทำห้องสำหรับให้นมบุตร TFFA ยังจะสนับสนุนให้บริษัทสมาชิกปรับสภาพการทำงานให้แก่แรงงานหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงแจกจ่ายผ้าอนามัยฟรี อีกด้วย

 

นาง อรรถพันธ์  มาศรังสรรค์ ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า เราพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้ากับโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย และยินดีต้อนรับผู้สังเกตการณ์จากภาคประชาสังคมในการเข้าร่วมเยี่ยมโรงงานซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้  การมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างฝ่ายบริหารและแรงงาน และจะช่วยให้เราสามารถหาทางออกในการแก้ไขปัญหาและกรณีการร้องเรียนต่างๆ ของแรงงานได้

 

ส่งออกอาหารทะเลไทย 1 ใน 10 ของโลก 

 

วิบูลย์  สุภัครพงษ์กุล  อุปนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า  “TFFA มีความมุ่งมั่นให้โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย เป็นโครงการที่มีความเข้มแข็งและพัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิม เราจะส่งเสริมระบบการจัดการและปฎิบัติการให้คำนึงถึงมิติทางเพศและปราศจากการเลือกปฎิบัติ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมของเราที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิง

 

ประเทศไทยติดอันดับประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลหนึ่งในสิบของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกระดับโลกอยู่ที่ร้อยละสี่ในปี พ.ศ. 2561 โดยในปี พ.ศ. 2564 ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มีมูลค่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  และมีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย

 

โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง ไอแอลโอ สมาคม TTIA และ TFFA ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป ผ่านโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2563) สมาคม TTIA และ TFFA มีสมาชิก 106 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งให้แนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานสถานที่ทำงาน โดยมุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารทะเลไทยมีแนวปฎิบัติตามกฎหมายไทยและหลักการของมาตรฐานแรงงานสากล

 

ดร. พงศ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี  รองเลขาธิการฝ่ายวิชาการ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า สรส.ในฐานะองค์กรลูกจ้างมีความยินดีที่ได้เห็นการแสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งจากอุตสาหกรรมที่มีต่อโครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรายินดีต่อการที่สมาคมฯ ให้ภาคประชาสังคมและตัวแทนลูกจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการเยี่ยมโรงงาน และสนับสนุนการเพิ่มจำนวนแรงงานข้ามและสตรีในการดำเนินกิจกรรมของแรงงาน เรามีความตั้งใจที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจไทยเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานสำหรับแรงงานทุกคน” 

 

ด้าน จูเซปเป บูซินี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า มีความยินดีต่อความมุ่งมั่นของภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยที่จะจัดทำรายงานโดยละเอียดและส่งเสริมกลไกความรับผิดชอบให้เข้มแข็ง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและองค์กรลูกจ้างในการเยี่ยมโรงงานสามารถเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและช่วยปรับปรุงธรรมาภิบาลของภาคอุตสาหกรรมได้ โครงการแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย สามารถสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมจากการให้ความคุ้มครองสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรม นั่นก็คือแรงงาน 

 

ความมุ่งมั่นที่มีต่อโครงการฯ ของภาคอุตสาหกรรม ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของกระทรวงแรงงาน สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยและสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย

 

ยกระดับ GLP ในธุรกิจอื่นๆ 

 

“บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลเป็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศ และของโลก

 

“กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม โดยการกำหนดมาตรการที่เข้มข้นและจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งเป็นการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในระดับภูมิภาค และระดับสากล โดยกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและส่งเสริม GLP ในกิจการประเภทต่าง ๆ รวม 4 ฉบับ ได้แก่ กิจการทั่วไป กิจการสัตว์ปีก กิจการฟาร์มเพาะกุ้ง และ อุตสาหกรรมอาหารทะเล”

 

โดย GLP สำหรับอุตสาหกรรมในอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนจาก ILO ภายใต้โครงการ Ship to Shore Rights และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคธุรกิจ นำโดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย การประเมินผลการดำเนินการ GLP ในครั้งนี้ จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ช่วยยกระดับการนำไปใช้ของ GLP ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใสและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

คุ้มครองแรงงานข้ามชาติจากผลกระทบโควิด

 

ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเต็มความสามารถ เพื่อเกื้อหนุนธุรกิจและคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการริเริ่มโครงการ เพื่อรักษาการจ้างงาน และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล กระทรวงแรงงาน ได้มีความพยายามในการให้ความคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการทำงานจากโควิด – 19 โดยการผ่อนผันให้ผู้ที่วีซ่าหรือใบอนุญาตทำงานหมดอายุ สามารถพำนักอาศัย และทำงานในประเทศไทยต่อไปได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึง มีการตรวจเชิงลึก และค้นหาแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในสถานประกอบกิจการ เพื่อให้แรงงานได้รับการจดทะเบียน มีเอกสารประจำตัว และสามารถทำงานได้ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานดังกล่าวได้รับความคุ้มครองอย่างครบถ้วน และเป็นการช่วยรักษากำลังแรงงานให้กับนายจ้างได้อีกทางหนึ่ง

 

เดินหน้าไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ในขณะนี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟูภายหลังโควิด – 19 ซึ่งกระทรวงแรงงานขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อ Build Back Better โลกแห่งการทำงานที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากกว่าเดิม ตามแนวทางของงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะในภาคประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล

 

“กระทรวงแรงงานขอขอบคุณสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยที่ได้นำหลักการ GLP ไปปรับใช้และพัฒนาปรับปรุงการดำเนินการ เพื่อยกระดับความคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทย มีความพร้อมในการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดการส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญ"

 

"อาทิ ในภูมิภาคยุโรป และอเมริกาที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 คลี่คลาย ซึ่งกระทรวงแรงงานมีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดัน ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงต่อไป” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว