20 มิถุนายน “วันผู้ลี้ภัยโลก” ท่ามกลางจำนวน “ผู้พลัดถิ่น” สูงสุดเป็นประวัติการณ์
เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิ.ย. ของทุกปี ชวนสำรวจสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยท่ามกลางภาวะสงครามและเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นทั่วโลก จนทำให้จำนวน “ผู้พลัดถิ่น” ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
"วันผู้ลี้ภัยโลก" ตรงกับวันที่ 20 มิ.ย.ของทุกปี กำหนดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2544 เพื่อผู้ลี้ภัยทั่วโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี อนุสัญญา ค.ศ. 1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม วันผู้ลี้ภัยแอฟริกา ก่อนที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะประกาศให้เป็นหนึ่งในวันสากลโลก ในเดือนธ.ค. ปี 2543 อย่างเป็นทางการ
- วันผู้ลี้ภัยโลกมีความสำคัญอย่างไร?
วันผู้ลี้ภัยโลก ถูกกำหนดขึ้นเพื่อทำให้ผู้คนได้ตระหนักเห็นถึงสิทธิ ความต้องการ และความฝันของผู้ลี้ภัย เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและทรัพยากรที่จำเป็นให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง ขณะที่การมอบความคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้ลี้ภัยในทุก ๆ วัน เป็นเรื่องที่สำคัญ
วันสำคัญระดับโลกอย่างวันผู้ลี้ภัยโลกช่วยเน้นย้ำให้ประชาคมโลกเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการจัดกิจกรรมวันผู้ลี้ภัยโลก เป็นหนึ่งในการสร้างโอกาสในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้เช่นกัน
- สำรวจแนวโน้มการลี้ภัย ผ่านสถานการณ์ “ผู้พลัดถิ่น” ทั่วโลกในปัจจุบัน
เมื่อสำรวจสถานการณ์ผู้พลัดถิ่น พบว่า จากต้นปี 2565 มีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนผู้พลัดถิ่นรวมกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเป็นผลมาจากการถูกบังคับให้หลีกหนีออกจากความขัดแย้ง ความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการประหัตประหารทั่วโลก
ตัวเลขผู้ผลัดถิ่นรวมที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2564 ของผู้คนในหลายประเทศ เช่น ยูกันดา ชาด และซูดาน เป็นต้น รวมไปถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ที่บังคับให้ผู้คนต้องผลัดออกจากถิ่นกลายเป็นผู้ลี้ภัย เช่น การรัฐประหารที่เมียนมาร์ ความขัดแย้งในภูมิภาคทิเกรย์ของเอธิโอเปีย และการจลาจลในภูมิภาคซาเฮล ทำให้ตัวเลขผู้พลัดถิ่น ณ สิ้นปี 2564 พุ่งขึ้นกว่า 27 ล้านคน หรือรวมแล้ว 89.3 ล้านคน และจากตัวเลขนี้ มีจำนวนผู้ขอลี้ภัยสูงถึง 4.6 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11
ข้อมูลสถิติจากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR พบว่า มากกว่า 2 ใน 3 หรือราว 68% ของผู้ลี้ภัยและชาวเวเนซุเอลาที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่น มาจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย 6.7 ล้านคน เวเนซุเอลา 4 ล้านคน อัฟกานิสถาน 2.6 ล้านคน ซูดานใต้ 2.2 ล้านคน และเมียนมา 1.1 ล้านคน โดยในปี 2564 ผู้ลี้ภัยจำนวนราว 13 ล้านคน อายุต่ำกว่า 18 ปี
เมื่อล่วงเข้าปี 2565 สถานการณ์ก็ถูกซ้ำเติมจากการปะทุขึ้นของสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งที่ยังยืดเยื้อในประเทศต่างๆ เช่น เอธิโอเปีย บูร์กินา ฟาโซ เมียนมา ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อีกทั้งยังถูกผลักดันจากปัจจัยด้านการดำรงชีพที่สำคัญอย่าง ภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนอาหาร และวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศ
จากข้างต้น ตัวเลขของผู้พลัดถิ่นจึงพุ่งสูงทะลุ 100 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งระดมหาทุนและความร่วมมือ เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
สำหรับ ประเทศไทย ปัจจุบันเป็นที่พำนักอันปลอดภัยให้ผู้ลี้ภัยราว 97,000 คน โดยเป็นการหนีจากความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมา ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยาห์) อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามแนวชายแดนของประเทศ และยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก
หมายเหตุ : ผู้ลี้ภัยในไทยราว 91,275 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2565
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ภาพรวมของประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลกกำลังเลวร้ายลง ซึ่งหมายถึงกำลังมีมนุษย์อีกหลายล้านคนกำลังถูกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ นับเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรกลับมาให้ความสนใจ และปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) อย่างจริงจังอีกครั้ง
นอกจากนี้ ควรเร่งสร้างความร่วมมือเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤติที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น การให้ความช่วยเหลือทางด้านอาหารในประเทศที่ประสบกับการขาดแคลนอาหาร เพื่อให้สามารถระงับต้นเหตุของปัญหาทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ผลักให้ผู้คนจำนวนมากต้องพลัดถิ่นเพื่อเอาชีวิตรอดอย่างเลี่ยงไม่ได้
------------------------------------
อ้างอิง