'วันผู้ลี้ภัยโลก' 20 มิ.ย.63 สำรวจชะตากรรม 'ผู้พลัดถิ่น' ทั่วโลก
เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน 2563 "UNHCR" เผยข้อมูล ประชากรเกือบ 80 ล้านคนถูกบังคับให้พลัดถิ่น เพราะความรุนแรงและถูกข่มเหงรังแก ตัวเลขผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 1 ทศวรรษ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยแพร่รายงานประจำปี “แนวโน้มโลก” วานนี้ (18 มิ.ย.) ก่อนถึง วันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิถุนายน 2563 ระบุว่า จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกเมื่อปลายปี 2562 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 79.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนผู้พลัดถิ่นที่สูงที่สุดที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ เคยพบมา
ในจำนวนนี้ 45.7 ล้านคนเป็นผู้คนที่ต้องพลัดถิ่นภายในประเทศ ที่เหลือเป็นผู้พลัดถิ่นในที่อื่น ๆ ในส่วนนี้ 4.2 ล้านคนกำลังรอผลการพิจารณาการยื่นขอลี้ภัย และ 29.6 ล้านคนเป็นผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มอื่นที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากประเทศของตน
หากเปรียบเทียบกับปลายปี 2561 ผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอยู่ที่ 70.8 ล้านคน จำนวนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 9 ล้านคน เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก หนึ่งคือสถานการณ์การพลัดถิ่นครั้งใหม่ที่มีความน่ากังวลในปี 2562 โดยเฉพาะในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ภูมิภาคซาเฮล เยเมน และในซีเรียที่ความขัดแย้งยืดเยื้อมาถึงปีที่ 9 ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศมากถึง 13.2 ล้านคน หรือ 1 ใน 6 ของจำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลก
ปัจจัยที่สองคือสถานการณ์ของชาวเวเนซุเอลาที่หนีออกมานอกประเทศ หลายคนไม่ได้ลงทะเบียนป็นผู้ลี้ภัยหรือยื่นขอลี้ภัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า เทรนด์ผู้พลัดถิ่นเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีมีมาตั้งแต่ปี 2555 หมายความว่า แต่ละปีเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้นบีบให้ผู้คนต้องหนีออกจากบ้านเรือน และทางออกทางการเมืองมีไม่มากพอมาแก้ไขความขัดแย้งและวิกฤติให้ผู้คนกลับไปบ้านได้ ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอยู่ที่ราว 40 ล้านคน เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และแนวโน้มยังไม่มีทีท่าลดลง
ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ลี้ภัยทั่วโลก 68% มาจากแค่ 5 ประเทศ ได้แก่ ซีเรีย เวเนซุเอลา อัฟกานิสถาน ซูดานใต้ และเมียนมา
“นั่นหมายความว่า ถ้าประชาคมโลกมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันระดมทรัพยากรมาช่วยประเทศเหล่านี้ให้พ้นวิกฤติและฟื้นฟูประเทศ เป็นไปได้มากว่าเราจะช่วยแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยโลกได้มากกว่าครึ่ง แต่เมื่อประชาคมโลกยังแบ่งแยก ไม่สามารถและไร้ความสามารถสร้างสันติภาพ จึงไม่มีทางหยุดยั้งจำนวนผู้พลัดถิ่นได้ ผมกังวลมากว่าปีหน้าสถานการณ์จะเลวร้ายกว่าปีนี้” ข้าหลวงใหญ่ยูเอ็นเอชซีอาร์ย้ำ
ข้อน่าสังเกตต่อสถานการณ์ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น เช่น ผู้คนอย่างน้อย 100 ล้านคน ที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพลัดถิ่นอยู่ในหรือนอกประเทศของตน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศอียิปต์ ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 14 ของโลก
80% ของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศหรือพื้นที่ที่ขาดความมั่นคงทางด้านอาหารและเสี่ยงต่อทุพโภชนาการอย่างรุนแรง และในหลายประเทศยังมีความเสี่ยงเรื่องสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติอีกด้วย
จำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 3 ใน 4 (77%) ต้องพลัดถิ่นอย่างยาวนาน เช่น สถานการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานที่ยืดเยื้อมานานถึง 5 ทศวรรษแล้ว
จำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 8 ใน 10 คน (85%) อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนมากเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศที่ลี้ภัยมา